×

ประวัติย่นย่อของ ‘โอลิมปิกเกมส์’ จากพิธีฉลองของทวยเทพสู่มหกรรมกีฬาของคนทั้งโลก

16.07.2021
  • LOADING...
โอลิมปิกเกมส์

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ (Ancient Olympics) หรือชื่อดั้งเดิมจริงๆ คือ โอลิมเปียด (Olympiads) นั้นไม่ได้เป็นมหกรรมการแข่งกีฬา หากแต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาในการเฉลิมฉลองให้แก่มหาเทพซุส
  • ในการแข่งขันโอลิมปิกช่วงแรก มีการแข่งขันแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือการแข่งวิ่งระยะทาง 192 เมตร หรือ 210 หลา
  • ไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการว่ากีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่จะยึดเอาในปีคริสต์ศักราชที่ 393 ที่มีการบันทึกเอาไว้ว่าจักรพรรดิเทออดอซิอุสสั่งห้ามการจัดพิธีกรรมของชาวเพเกิน (Pagan) ทุกชนิด
  • บิดาแห่งโอลิมปิกสมัยใหม่คือ ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง ขุนนางชั้นบารอนชาวฝรั่งเศสที่ผลักดันให้เกิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งได้สำเร็จ โดยโอลิมปิกสมัยใหม่เริ่มต้นในปี 1896 ที่ประเทศกรีซ ต้นกำเนิดของมหกรรมกีฬาชนิดนี้
  • ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยส่งนักกีฬาแข่งขันในประเภทกรีฑาประเภทเดียวเท่านั้น และนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้รับเหรียญทองแดงคือ พเยาว์ พูนธรัตน์ นักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นฟลายเวต

มาจะกล่าวบทไปถึงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่างกีฬา​ ‘โอลิมปิก’

 

ทุกคนคงจะพอรู้ว่านี่คือการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะจัดขึ้นในทุก 4 ปี และจะมีเหล่าสุดยอดนักกีฬาจากทั่วโลกเดินทางไปร่วมการแข่งขันอย่างมากมาย

 

แต่อยากรู้จริงๆ บ้างไหม ว่าตกลงแล้วการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร?

 

หากจะให้เล่าแบบยืดยาวก็เกรงจะยาวยืดเหมือนเทพปกรณัมอย่างอีเลียด เพราะความเป็นมาของมันนั้นยาวนานร่วม 3,000 ปี เดี๋ยวจะกลายเป็นเลกเชอร์วิชาประวัติศาสตร์ไป

 

ขออนุญาตรวบรัดเป็นประวัติแบบย่นย่อของโอลิมปิกให้รู้และเข้าใจพอสังเขป

 

ตามมาเลย เหล่าโอลิมเปียน​ (Olympian – นักกีฬาโอลิมปิก) ทั้งหลาย 🙂

 

 

บันทึกภาพเล่าเรื่องการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ โดยตรงกลางภาพคือรูปปั้นมหาเทพซุส

 

จุดเริ่มต้นจากการฉลองให้ ‘ซุส’

“หัวใจของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณคือพิธีการเฉลิมฉลองในศาสนสถาน” พอล คริสเตเซน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กรีกโบราณอธิบายถึงจุดกำเนิดของกีฬาโอลิมปิก

 

“มันไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งกีฬา”

 

ที่ศาสตราจารย์คริสเตเซนกล่าวคือเรื่องจริง เพราะเดิมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ (Ancient Olympics) หรือชื่อดั้งเดิมจริงๆ คือ โอลิมเปียด (Olympiads) นั้นไม่ได้เป็นมหกรรมการแข่งกีฬา หากแต่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาในการเฉลิมฉลองให้แก่มหาเทพซุส ราชาแห่งเหล่าทวยเทพของกรีก โดยตามตำนานแล้วผู้ริเริ่มคือเฮราคลีสบุตรแห่งมหาเทพ

 

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบหลักฐานจริงๆ การแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาล ณ หุบเขาโอลิมเปีย หากแต่เป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจจะมีกิจกรรมนี้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วแต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน แต่ที่แน่นอนคือจะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี

 

ที่สำคัญคือพิธีกรรมเช่นนี้มิได้มีเพียงแค่ที่เมืองโอลิมเปียแค่แห่งเดียว ตามบันทึกในสมัยนั้นมีอย่างน้อยถึง 4 แห่งที่จัดมหกรรมแบบเดียวกัน นอกจากที่โอลิมเปียยังมี ไพเธียนเกมส์ ที่เมืองเดลฟี, เนเมียนเกมส์ ที่เมืองเนเมีย และอิสธ์เมียนเกมส์ ใกล้กับเมืองโครินธ์ ก่อนที่การแข่งขันแบบเดียวกันจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระจายไปถึง 150 เมือง รวมถึงในเมืองไกลอย่างโรม, เนเปิลส์, โอดีสซีอุส, อันติออค และอเล็กซานเดรีย

 

แต่แน่นอนว่าไม่มีพิธีในเมืองใดจะเป็นที่นิยมมากเท่ากับที่โอลิมเปีย

 

ผู้ชนะจะได้รับรางวัลเป็นมงกุฎที่ทำจากกิ่งต้นมะกอกที่ตัดจากยอดเขาโอลิมปัส

 

โอลิมปิกโบราณเขาแข่งอะไรกันบ้าง?

ในการแข่งขันโอลิมปิกช่วงแรก (13 ครั้ง) มีการแข่งขันแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือการแข่งวิ่งในสนามที่เรียกว่า Stade ซึ่งมีระยะทาง 192 เมตร หรือ 210 หลา โดยนักกีฬาคนแรกที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นแชมเปียนโอลิมปิกคือคอโรเอบัส พ่อครัวคนหนึ่งแห่งเมืองโอลิมเปียที่ชนะการแข่งขันวิ่ง

 

ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะมีการเพิ่มชนิดกีฬาเข้าไปคือการวิ่งที่เรียกว่า Diaulos (เพิ่มระยะทางเป็น 400 เมตร หรือเท่ากับหนึ่งรอบสนามในปัจจุบัน), Dolichos (แข่งวิ่งระยะทางไกล 1,500-5,000 เมตร) การแข่งวิ่งโดยใส่เสื้อเกราะ (Footrace) และปัจญกีฬา (Pentathlon)

 

นอกจากนี้ยังมีกีฬาต่อสู้อย่างการชกมวย มวยปล้ำ และกีฬา Pankration ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างมวยกับมวยปล้ำ (ให้คิดถึง MMA ไว้ในปัจจุบัน), กระโดดไกล, พุ่งแหลน, ขว้างจักร และกีฬาขี่รถม้า (Chariot) นักกีฬาที่ลงแข่งขันจึงกลายเป็นเหล่านักกีฬาอาชีพที่ฝึกตนเพื่อเข้าแข่งขันอย่างจริงจัง

 

รางวัลที่ให้แก่ผู้ชนะในสมัยนั้นคือ กิ่งไม้มะกอก ซึ่งตัดมาจากยอดเขาโอลิมปัส อันเป็นที่สิงสถิตของซุส แล้วทำเป็นวงคล้ายมงกุฎ (Olive Wreath) จักรพรรดิจะเป็นผู้พระราชทานครอบลงบนศีรษะของผู้ชนะ

 

แต่เพราะมันคือมหกรรมใหญ่ที่รวบรวมผู้คนมากมาย โอลิมปิกจึงไม่ได้มีแค่การแข่งกีฬาแต่ยังมีการแข่งขันประกวดดนตรี ประกวดร้องเพลง และประกวดลำนำด้วย

 

เพราะนี่คือ ‘เวที’ ใหญ่ที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้คน และแน่นอนชื่อเสียงของแชมเปียนแห่งโอลิมปิกที่จะนำมาซึ่งความสุขสบายของชีวิตด้วย

 

บารอน ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง (คนที่นั่งทางซ้ายมือสุด) และเหล่าสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในปี 1896

 

ความตายและการกำเนิดใหม่ของโอลิมปิก

ถึงจะเป็นมหกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงแรก แต่ความนิยมของกีฬาโอลิมปิกก็ค่อยๆ เสื่อมถอยลงไปอย่างช้าๆ หลังจากที่กรีกสูญเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรโรมัน ซึ่งชาวโรมันมองว่าการแข่งขันกีฬาที่เหล่านักกีฬาจะต้องเปลื้องผ้านั้นเป็นกิจกรรมที่อุจาดตา

 

ไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างเป็นทางการว่ากีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อใด แต่จะยึดเอาในปีคริสตศักราชที่ 393 ที่มีการบันทึกเอาไว้ว่าจักรพรรเทออดอซิอุสสั่งห้ามการจัดพิธีกรรมของชาวเพเกิน (Pagan) ทุกชนิด และทายาทอย่างเทออดอซิอุสที่ 2 ได้สั่งทำลายเทวสถานของกรีกทั้งหมด

 

ชื่อของโอลิมปิกจึงสาปสูญและถูกลืมเลือนไปจนสิ้น จนกระทั่งเวลาผ่านมา 1,500 ปีเปลวเพลิงแห่งโอลิมปิกจึงได้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง

 

ตามบันทึกประวัติศาสตร์และความเข้าใจ บิดาแห่งโอลิมปิกสมัยใหม่คือ ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง ขุนนางชั้นบารอนชาวฝรั่งเศสที่เกิดในวันปีใหม่ของปี 1863

 

แรงบันดาลใจของกูแบร์แตงในการรื้อฟื้นกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นจากการที่เขาได้เดินทางมาพบกับ ดร. วิลเลียม เพนนี บรูกส์ ชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการศึกษามากมาย และหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ

 

ในก่อนหน้านั้นที่ประเทศกรีซเองก็มีการรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาโอลิมเปียดในกรุงเอเธนส์มาตั้งแต่ปี 1859 แล้ว โดยผู้ริเริ่มคือ เอวานเจลิส ซัปปาส ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักกวี พานาจิโอติส ซุตโซส ที่ได้มีการเสนอแนวคิดในการรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาโบราณมาตั้งแต่ปี 1833 แล้ว

 

และที่อังกฤษเอง ดร.บรูกส์ก็เคยจัดการแข่งขันโอลิมเปียดที่อังกฤษมาแล้วด้วยในปี 1866 ซึ่งประสบความสำเร็จ มีนักกีฬาเก่งๆ เข้าแข่งขันและมีผู้ชมจำนวนมาก แต่ความสำเร็จนั้นอยู่ไม่นานเพราะมีคู่แข่งที่จัดการแข่งแบบเดียวกันเยอะเกินไป

 

เมื่อ ดร.บรูกส์ – ซึ่งมีแนวคิดที่จะไปจัดการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงเอเธนส์ ประเทศต้นกำเนิดของการแข่งขันอันยิ่งใหญ่ในอดีตกาล – ได้พบกับเด็กหนุ่มอย่างกูแบร์แตงผู้มีไฟฝัน จึงได้ฝากความฝันให้เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศสผลักดันเรื่องนี้ในเวลาต่อมา

 

จนนำไปสู่การประชุมของ ‘Union des Sports Athlétiques’ ในกรุงปารีสที่กูแบร์แตงเสนอให้มีการรื้อฟื้นกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งแม้จะไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก แต่ความพยายามที่ไม่ย่อท้อทำให้กีฬาโอลิมปิกกลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง

 

โดยในทีแรกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตกลงกันในปี 1894 ว่าจะจัดการแข่งขันที่ปารีสในปี 1900 เพื่อเริ่มต้นศักราชใหม่พอดี แต่ระยะเวลา 6 ปีนานเกินไป จึงมีความพยายามเร่งให้ไวขึ้นและไปจัดกันที่ประเทศกรีซ เพราะไม่มีที่ใดจะเหมาะสมไปกว่านี้อีกแล้ว

 

การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ครั้งแรกจึงเริ่มต้นในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 1896 ในวันประกาศอิสรภาพของกรีซ โดยผู้ที่ทำพิธีเปิดให้คือพระมหากษัติริย์ของกรีซ มีชาติเข้าร่วมแข่งขัน 14 ชาติ นักกีฬา 280 คน แข่งขัน 43 รายการกีฬา โดยมีประเภทของการแข่งขันคือ

 

  • กรีฑา
  • ว่ายน้ำ
  • เทนนิส
  • มวยปล้ำ
  • ยิมนาสติก
  • จักรยาน
  • ยกน้ำหนัก
  • ยิงปืน
  • ฟันดาบ

 

หลังจากการแข่งขันครั้งแรกเป็นต้นมา กีฬาโอลิมปิกก็จัดขึ้นต่อเนื่องทุก 4 ปี และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นมหกรรมกีฬาอันดับหนึ่งของมวลมนุษยชาติในปี 1924 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีแยกระหว่างโอลิมปิกฤดูร้อน (Summer Olympic) และโอลิมปิกฤดูหนาว (Winter Olympic)

 

แน่นอนว่ามีเรื่องราวและประวัติศาสตร์อีกมากมายที่เกิดขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพ: คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย

พเยาว์ พูนธรัตน์ ฮีโร่โอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย

 

ประเทศไทยในโอลิมปิก

ว่าแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่เมื่อไร?

 

ประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2495 ที่ประเทศฟินแลนด์ โดยส่งนักกีฬาแข่งขันในประเภทกรีฑาประเภทเดียวเท่านั้น ซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

นักกีฬาไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแท่นรับเหรียญรางวัลคือ พเยาว์ พูนธรัตน์ นักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นฟลายเวต ได้เหรียญทองแดงในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 21 เมื่อปี พ.ศ. 2519 (ค.ศ. 1976) ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เป็นฮีโร่โอลิมปิกคนแรกของไทย

 

ต่อมา ทวี อัมพรมหา หรือ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย คว้าเหรียญเงินแรกให้ชาวไทยได้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 23 ณ เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) ในประเภทมวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เวลเตอร์เวต

 

ส่วนฮีโร่เหรียญทองคนแรกของไทยคือ ร.อ. สมรักษ์ คำสิงห์ ร.น. ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996)

 

นอกจากนี้ยังมีสุดยอดนักกีฬาฮีโร่ขวัญใจอีกมากมายที่ทุ่มเททั้งกายและใจในการฝึกซ้อมและแข่งขันอย่างหนักหน่วง ทั้งที่คว้าเหรียญรางวัลมาครองได้ และทั้งที่แม้จะไม่ได้เหรียญรางวัลแต่การได้เข้าร่วมแข่งขันกับสุดยอดนักกีฬาจากทั่วโลกโดยที่พยายามอย่างสุดความสามารถก็นับว่าเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งชาติแล้ว

 

โอลิมปิกครั้งนี้ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 32 ก็เช่นกัน

 

ดังนั้นอยากชวนให้มาช่วยกันส่งกำลังใจถึงนักกีฬาไทยเพื่อสร้างบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ไปด้วยกันนะ 🙂

 

อ้างอิง:

FYI
  • ถึงแม้จะมีกำหนดจัดการแข่งขันทุก 4 ปี แต่ก็มีช่วงที่กีฬาโอลิมปิกต้องหยุดพักการแข่งขันเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (1916) และสงครามโลกครั้งที่ 2 (1940, 1944)
  • ตราสัญลักษณ์การแข่งขันโอลิมปิกคือห่วงทั้ง 5 ที่ซ้อนกัน โดยห่วงแต่ละอันคือตัวแทนของ 5 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้, เอเชีย, แอฟริกา, ยุโรป และออสเตรเลีย
  • ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้งจะมีการจุดคบเพลิง โดยจะไปจุดที่หุบเขาโอลิมเปียในบริเวณที่เคยเป็นวิหารของเฮรามาก่อน ซึ่งพิธีการจุดคบเพลิงนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1928 ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
  • ฟุตบอลทีมชาติไทยเคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้ว 2 ครั้งด้วยกันในการแข่งขันครั้งที่ 16 พ.ศ. 2499 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และในการแข่งขันครั้งที่ 19 พ.ศ. 2511 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก แม้จะแพ้ทุกนัดแต่ก็มีประตูแรกในเกมที่แพ้กัวเตมาลา 1-4 โดยผู้ทำประตูคือ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X