ถึงแม้ว่าศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะประเมินใน ‘ตลาดร้านอาหาร’ ในปี 2564 ยังสามารถเติบโต 1.4-2.6% อยู่ที่มูลค่า 4.10-4.15 แสนล้านบาท ซึ่งภาพคนละด้านกับปี 2563 ที่หดตัวลง 6% กระนั้นมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านรวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น ตลอดจนกำลังซื้อของลูกค้าที่ไม่ได้อู้ฟู่อีกแล้ว อันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด โดยในปีนี้ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่น ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง ร้านอาหารบุฟเฟต์ รวมถึงร้านอาหารที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ซึ่งบริษัท ไอเบอร์รี่ โฮมเมด จำกัด หรือ iberry Group ที่มีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ในมืออย่าง iberry, กับข้าว’กับปลา, โรงสีโภชนา, เจริญแกง, เบิร์นบุษบา และ ฟ้าปลาทาน ก็อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและยังต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก
เพราะร้านกว่า 85% ของ iberry Group ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า ซึ่งวันนี้ลูกค้าหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเดิน ด้วยกังวลสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น ทำให้ธุรกิจของ iberry Group ได้รับผลกระทบอยู่ไม่น้อย
ดังนั้น iberry Group จึงต้องหาทางออกเพื่อชดเชยยอดขายที่หายไป ล่าสุดได้มีการพัฒนาเมนู Ready to Eat หรือสินค้าพร้อมรับประทาน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่กำลังเติบโต โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 2.02-2.05 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา
โดย iberry Group ได้เลือก ‘เมนูเนื้อ’ ที่ยังไม่มีวางขายมากนักในการประเดิมเข้าสู่ธุรกิจ Ready to Eat เบื้องต้นจะมีทั้งหมด 3 เมนู ได้แก่ ข้าวกะเพราเนื้อโคขุนคั่วพริกแห้ง, ข้าวแกงเขียวหวานสันคอเนื้อออสเตรเลีย และข้าวพะแนงสันคอเนื้อออสเตรเลีย ภายใต้แบรนด์ ‘รส’นิยม’ เข้าขายใน 7-Eleven กว่า 5,500 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล โดยวางราคาขายไว้ที่ 69 บาท
การขยับตัวครั้งนี้ของ iberry Group ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อ ‘ผลกำไร’ แต่เป็นเกมที่ต้องทำเพื่อให้ตัวเองนั้น ‘อยู่รอด’ ซึ่งนอกจากอาหาร Ready to Eat จะเป็นหนึ่งในช่องทางการสร้างรายได้ใหม่แล้ว iberry Group ยังหวังว่าเมื่อผู้บริโภคได้เห็นแล้วจะนึกถึงอาหารเดลิเวอรีด้วย