×

สรุปประเด็นวัคซีนสลับเข็ม Sinovac-AstraZeneca วัคซีนเท่าที่ไทยมีจะสกัดโควิดสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่

13.07.2021
  • LOADING...
วัคซีนโควิด-19

เข้าสู่วันที่ 2 ของการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด ตอนนี้สถานการณ์การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย)ในประเทศไทยยังอยู่ในอาการที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่วัคซีนชนิด mRNA อย่าง Pfizer และ Moderna ยังมาไม่ถึงมือของประชาชน 

 

วันที่ 12 กรกฎาคม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโควิดชนิดกลายพันธุ์ โดยใช้เข็มแรกเป็น Sinovac และตามด้วยเข็มที่ 2 จาก AstraZeneca ซึ่งภายหลังสำนักข่าว Reuters ได้รายงานว่าเป็นครั้งแรกในโลกที่วัคซีนสองชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในการฉีดวัคซีนสลับเข็ม

 

สรุปประเด็นจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ในรายการ THE STANDARD NOW วันที่ 12 กรกฎาคม ที่ไขข้อข้องใจในหลายประเด็นที่ชวนให้สับสน ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนสลับเข็ม การติดโควิดสองสายพันธุ์ในตัวคนเดียว การใช้เครื่องตรวจโควิดด้วยตนเอง และการล็อกดาวน์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่จะสามารถยับยั้งวิกฤตในครั้งนี้ได้หรือไม่

 

สูตรวัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่มีปัญหาอย่างไร

  • วัคซีน Sinovac มีระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 อยู่ที่ 4 สัปดาห์ ทำให้รับวัคซีนครบได้ไว แต่สร้างภูมิคุ้มกันไม่มาก ประสิทธิภาพต่ำ
  • วัคซีน AstraZeneca มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคดีกว่า Sinovac แต่ระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่ 2 นานถึง 8-12 สัปดาห์
  • ในตอนนี้โควิดสายพันธุ์เดลตากำลังแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างหนัก การรอให้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็มอาจจะไม่ทันการ

 

สูตรวัคซีนสลับเข็ม Sinovac เข็มแรก AstraZeneca เข็มสอง

  • วัคซีน Sinovac สามารถกระตุ้นภูมิได้ไว ทำให้ร่างกายทำความรู้จักกับเชื้อไวรัสก่อน 2-4 สัปดาห์ จากนั้นค่อยฉีดเข็มที่ 2 กระตุ้นด้วยวัคซีน AstraZeneca 2 สัปดาห์ต่อมาก็จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการฉีด Sinovac 2 เข็ม ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 6 สัปดาห์
  • การศึกษาในยุโรปที่มีการใช้วัคซีนสลับเข็มระหว่าง AstraZeneca และ Pfizer หรือ Moderna ผลปรากฏว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ดี แต่สำหรับวัคซีนเชื้อตายอย่าง Sinovac ยังมีข้อมูลการศึกษาที่น้อย
  • ผลการศึกษาสูตรวัคซีนเข็มแรก Sinovac เข็มสอง AstraZeneca ในประเทศไทย มาจากคนที่ฉีด Sinovac ในเข็มแรกแล้วแพ้ จึงต้องรับเข็มสองเป็น AstraZeneca ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,000 คนในประเทศ และไม่มีใครเกิดผลข้างเคียงรุนแรง
  • ดร.อนันต์ ยืนยันตามการแถลงของ สธ. ว่าต่อจากนี้จะไม่มีใครได้รับ Sinovac 2 เข็ม แต่จะเป็น Sinovac กับ AstraZeneca ซึ่งจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่ Pfizer กับ Moderna จะเข้ามา เพราะวัคซีนสองตัวนี้กระตุ้นภูมิได้ดีกว่า AstraZeneca ซึ่งต้องติดตามดูข้อมูลกันต่อไป
  • สำหรับวัคซีน Sinopharm มีข้อมูลทางวิชาการน้อยกว่า Sinovac และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อโควิดสายพันธุ์เดลตา

 

ติดเชื้อโควิดสองสายพันธุ์ในคนเดียว

  • จากกรณีที่ไทยพบผู้ป่วยโควิด 7 รายติดเชื้อผสมสายพันธุ์อัลฟา-เดลตา ดร.อนันต์ กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าเกิดจากไวรัส 2 สายพันธุ์ในตัวคนเดียวกัน หรือเกิดจากไวรัสตัวเดียวที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างอัลฟา-เดลตา 
  • โดยกรณีแรกนั้นเป็นไปได้ สามารถพบเจอได้เป็นปกติ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความอันตรายมากไปกว่าการได้รับไวรัสสายพันธุ์เดียว หากไวรัสสองตัวนั้นไม่ได้เข้าไปพร้อมกัน เนื่องจากไวรัสตัวที่เข้าทีหลังจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อร่างกาย ส่วนการที่ไวรัสสองตัวจะเข้ามาพร้อมกันก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อย 
  • เมื่อถามว่าในอนาคตจะมีโควิดสายพันธุ์ไทยหรือไม่ ดร.อนันต์ ให้ข้อมูลว่า ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สามารถเกิดขึ้นได้ทุกประเทศ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย หากเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัส ไวรัสตัวใหม่จะต้องกลายพันธุ์จนมีความแข็งแกร่งกว่าไวรัสตัวเดิมที่มีอยู่ ซึ่ง ดร.อนันต์ มีความเห็นว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ เนื่องจากอัตราส่วนของประชากรในประเทศไทยที่ติดโควิดไม่ได้มีมากอย่างอังกฤษหรืออินเดียที่ไวรัสจะกลายพันธุ์จนรุนแรงกว่าตัวเดิมได้

 

การตรวจ Antigen Test ประชาชนสามารถทำได้เองหรือไม่

  • การตรวจ Antigen Test เป็นการตรวจโปรตีนจากตัวไวรัส ซึ่งต้องมีตัวเชื้อไวรัสในร่างกายในปริมาณที่มากพอจะสามารถตรวจเจอได้ แตกต่างจากการตรวจ RT-PCR ในโรงพยาบาลที่เป็นการตรวจสารพันธุกรรม ถึงไวรัสจะมีปริมาณไม่มากแต่ก็สามารถตรวจพบได้
  • สำหรับสายพันธุ์เดลตาจะใช้เวลาฟักเชื้อในร่างกายประมาณ 3 วัน การตรวจ RT-PCR จะสามารถตรวจเจอเชื้อได้ในวันที่ 3 แต่ Rapid Antigen Test จะตรวจไม่พบ ต้องรอ 6-8 วันให้ร่างกายมีไวรัสจำนวนมากพอที่จะแพร่กระจายต่อ จึงมีความสามารถในการตรวจเชื้อต่ำกว่า แต่ทำได้ไว ใช้เวลา 20-30 นาทีเท่านั้น จึงเหมาะสำหรับการคัดกรองเพื่อกักตัว
  • สำหรับวิธีการตรวจของ Antigen Test ซึ่งใช้การ Swab จมูก หรือการเสียบแท่งเพื่อป้ายเอาเนื้อเยื่อบริเวณหลังโพรงจมูก สามารถทำยากสำหรับประชาชนทั่วไป อาจจะใช้วิธี Swab จากคอ หรือใช้น้ำลายทดแทนได้หากร่างกายมีเชื้อไวรัสได้เพียงพอ 
  • ส่วนการทำลายชุดตรวจที่ใช้แล้วจะมีวิธีการออกมาอย่างชัดเจนในอนาคตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

 

ล็อกดาวน์ช่วยแค่ไหนกับการยับยั้งการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตา

  • ดร.อนันต์ มีความเห็นว่า การล็อกดาวน์ในครั้งนี้มาตรการหย่อนกว่าครั้งที่แล้วในช่วงการระบาดระลอกแรก มีความกังวลว่าการยับยั้งเชื้อไวรัสอาจจะไม่ใช่แค่ 2 สัปดาห์เนื่องจากไวรัสในครั้งนี้แพร่กระจายในเขตชุมชน การล็อกดาวน์อยู่ที่บ้านอาจทำให้คนในบ้านได้รับความเสี่ยง 
  • ต้องรอดูผลตัวเลขผู้ติดเชื้อใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า หากตัวเลขไม่ลดลงอาจเป็นเพราะการแก้ไขไม่ถูกจุด การปิดร้านอาหารทำให้คนไปรวมกลุ่มกันที่บ้านซึ่งควบคุมได้ลำบากกว่า และนโยบายของวัคซีนสลับเข็มครั้งนี้ ถ้าใน 6 สัปดาห์ข้างหน้าภูมิคุ้มกันของการฉีดวัคซีนสลับเข็มสามารถช่วยได้ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงได้บ้าง
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising