คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีนสลับชนิดกันได้ โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างการแถลงวันนี้ (12 กรกฎาคม) ว่า
จากการศึกษาโดยแหล่งอ้างอิงหลัก 3 แหล่ง ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา ข้อมูลทั้ง 3 แหล่งระบุตรงกันว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มได้สูง และเชื่อว่าจะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์เดลตาได้ โดยมีแนวทางดังนี้
- หากฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็น Sinovac และหลังจากนั้นอีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดวัคซีน AstraZeneca จะกระตุ้นประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันได้สูงขึ้น และต่อต้านสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะอยู่ในระดับสูงได้อย่างรวดเร็ว ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม ต่างจากการฉีด AstraZeneca ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 12 สัปดาห์ในการฉีดเข็มที่ 2 แต่ถ้าใช้วิธีนี้เราจะก็ร่นระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น
- หากฉีด AstraZeneca เป็นเข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังคงใช้ AstraZeneca เป็นเข็มที่ 2 ต่อไป
โดยหลังจากนี้จะมีการจัดเตรียมวัคซีนให้เหมาะสมและเพียงพอ และจะดำเนินการไปใช้ได้ตามสถานการณ์และความจำเป็นที่เหมาะสมต่อไป
ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ระบุว่า สำหรับประเทศไทยขณะนี้เรามีวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac. Sinopharm) กับ Viral Vector (AstraZeneca) และในชีวิตจริง ในบางรายที่แพ้วัคซีนเข็มแรก วัคซีนเข็ม 2 ให้ต่างชนิดกัน ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอสมควร เข้าใจว่ามีมากกว่า 1,000 ราย
โดยการศึกษาของศูนย์ได้ทำการศึกษาการสลับชนิดของวัคซีน ที่อยู่ระหว่างการศึกษาพบว่าการให้เข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) และอีก 3-4 สัปดาห์ต่อมา ให้วัคซีน Viral Vector (AstraZeneca) ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นได้ปริมาณที่สูงมาก สูงกว่าการให้วัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ประมาณ 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า และน้อยกว่าการให้วัคซีน Viral Vector AstraZeneca 2 ครั้งห่างกัน 10 สัปดาห์อยู่เพียงเล็กน้อย
การให้วัคซีนสลับเข็มแรกเชื้อตาย เข็มที่ 2 เป็น Viral Vector (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ได้รับวัคซีน Viral Vector 2 ครั้ง (ห่างกัน 10 สัปดาห์) กว่าจะได้ภูมิต้านทานสูงดังกล่าวต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-14 สัปดาห์
ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาดอย่างมาก และทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และในขณะเดียวกันการบริหารวัคซีนก็จะง่ายขึ้น ในกรณีที่มีวัคซีนในปริมาณจำกัด การศึกษาทั้งหมดน่าจะเห็นชัดเจนขึ้นภายในสิ้นเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้ยังเป็นข้อมูลที่ศึกษาระดับภูมิต้านทาน สิ่งที่สำคัญจะต้องทำการศึกษาต่อคือความสามารถในการป้องกันโรค ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่ามีโอกาสที่จะป้องกันโรคและความรุนแรงของโรคได้มากกว่า การศึกษาในวงกว้างก็ยังมีความจำเป็นที่จะให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคถ้าให้วัคซีนสลับกัน
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ