ภาพขวดน้ำ ร่ม หรือของใช้ส่วนตัวเรียงต่อกันเพื่อต่อคิวตรวจโควิดท่ามกลางฝนที่ตกลงมา เป็นภาพที่สะท้อนสถานการณ์ใน กทม. ได้ตรงที่สุดภาพหนึ่ง ในขณะนี้ไม่เพียงแต่เตียงโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอ ‘การตรวจหาเชื้อ’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรักษาก็ยังไม่พอสำหรับประชาชน ด้วยโรงพยาบาลหลายแห่งงดตรวจหาเชื้อ ส่วนการตรวจเชิงรุกมีเพียง 4-6 แห่งต่อวัน และรองรับได้วันละ 1,000 คนต่อแห่งเท่านั้น
หลายฝ่ายจึงมีข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อเองที่บ้าน หรืออนุญาตให้มีการใช้ ‘ชุดตรวจที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อโควิดแบบตรวจด้วยตนเอง’ (COVID-19 Ag Test Kit) แทนการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งถึงแม้จะเป็นวิธีมาตรฐาน แต่ต้องไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลหรือการตรวจเชิงรุก ทำให้ยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจหาเชื้อ
#ทำไมถึงต้องตรวจหาเชื้อโควิด
- การตรวจหาเชื้อเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการควบคุมโรค โดยมาตรการทางสาธารณสุข TTI (Test-Trace-Isolation) เริ่มต้นจากการตรวจหาเชื้อ (Test) เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะต้องสอบสวนโรคหรือตามรอยโรค (Trace) ว่าติดเชื้อมาจากใครและใครเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดที่อาจได้รับเชื้อต่อ ส่วนผู้ติดเชื้อจะต้องแยกโรค (Isolation) และควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
- ก่อนหน้านี้อาจมีแนวคิดว่า ‘ถ้าไม่มีอาการก็ไม่ต้องตรวจ’ แต่โควิดสามารถแพร่เชื้อได้แม้ไม่มีอาการ และผู้ที่รับรู้ว่าตนเองติดเชื้อแล้วย่อมปฏิบัติตัวเคร่งครัดกว่าผู้ที่ยังไม่รู้ว่าติดเชื้อ เช่น ยังไม่มีอาการ จึงทำให้โรคแพร่ระบาดต่อได้ หรือแนวคิดว่า ‘ไม่ต้องตรวจ กักตัวไปเลย’ อาจใช้ได้กับคนบางกลุ่ม แต่ไม่เหมาะกับกลุ่มเสี่ยงป่วยหนัก เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ในระยะที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง ผู้ติดเชื้อแต่ละคนไม่สามารถระบุได้ว่าติดเชื้อมาจากใคร ส่วนการสอบสวนโรคโดยเจ้าหน้าที่ก็อาจทำได้ไม่ทั่วถึง แต่ถ้าผู้ติดเชื้อทราบว่าตนเองติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ (Early Detection) ก็จะสามารถแยกตนเองออกจากครอบครัวได้ก่อน (Early Isolation) และสามารถแจ้งให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดกักตัวพร้อมตรวจหาเชื้อต่อได้ ดังนั้นการตรวจหาเชื้อจึงสำคัญ
#ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองคืออะไร
- ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เป็นชุดตรวจรวดเร็ว (Rapid Test) ชนิดหนึ่ง โดยจะเป็นการตรวจหาเชื้อ (Antigen: Ag) ไม่ใช่การตรวจหาภูมิคุ้มกัน/แอนติบอดี จึงยังต้องตรวจหาเชื้อจากทางเดินหายใจ ผู้ที่ต้องการตรวจจะใช้ไม้พันสำลี (คล้ายไม้แคะหู) แยงจมูกด้วยตนเอง แล้วทดสอบกับชุดตรวจนี้ที่บ้านเหมือนชุดตรวจการตั้งครรภ์ แทนที่จะไปต่อคิวตรวจกับทางโรงพยาบาลหรือการตรวจเชิงรุก
- ข้อดี: ชุดตรวจนี้รอผลเพียง 15-30 นาที (เทียบกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนจะทราบผลภายใน 1-2 วัน) ประหยัด สามารถตรวจซ้ำได้บ่อย (คำแนะนำของ NHS สหราชอาณาจักร สามารถตรวจซ้ำได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุก 3-4 วันหากไม่มีอาการ) เมื่อพบผล ‘บวก’ แปลว่าติดเชื้อ สามารถแยกโรคได้ทันที และเข้ารับการรักษาได้ทันเวลา
- ข้อเสีย: ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ชุดตรวจนี้คือความถูกต้องของชุดตรวจ และการแปลผลที่อาจต้องมีผู้ให้คำปรึกษา โดยชุดตรวจนี้อาจให้ผลลบปลอม (False Negative) คือติดเชื้อ แต่ยังตรวจไม่เจอเชื้อ โดยเฉพาะในระยะที่ยังไม่มีอาการ เพราะยังมีปริมาณเชื้อในร่างกายน้อย ผู้ที่ตรวจแล้วผลเป็น ‘ลบ’ จึงอาจปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไป นอกจากนี้จะต้องใช้ชุดตรวจที่ได้รับการรับรองจาก อย. เท่านั้น
#รพ.เอกชนใช้ชุดตรวจรวดเร็วได้แล้ว
- เมื่อวัน 10 กรกฎาคม 2564 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้อนุญาตให้โรงพยาบาลเอกชนใช้ชุดตรวจรวดเร็วแบบตรวจหาเชื้อ (Rapid Antigen Test) ในการวินิจฉัยโรคได้ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และแก้ไขปัญหา ‘ไม่ตรวจหาเชื้อ เพราะเตียงเต็ม’ โดยโรงพยาบาลสามารถใช้ระบบการรักษาผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) หรือประสานงานศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ได้
- สำหรับแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 แนะนำให้ใช้ Rapid Antigen Test เพื่อคัดกรองเบื้องต้น และควรได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และทำตามคำแนะนำที่ชัดเจน ทั้งการแปลผลและการแยกกักตนเอง โรงพยาบาลต้องเตรียมพร้อมระบบทางการแพทย์ ได้แก่ การคัดแยกความรุนแรง ช่องทางด่วนให้ผู้สูงอายุ/เสี่ยงป่วยหนัก และการทำ Home Isolation กับผู้ที่ไม่มีอาการ/อาการน้อย
- ทั้งนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (6 พฤษภาคม 2564) แจ้งอัตราจ่ายการตรวจไวรัสแอนติเจนวิธี Chromatography โดยการตรวจเชิงรุกนอกสถานบริการไม่เกิน 450 บาท และการตรวจในหน่วยบริการไม่เกิน 600 บาท เพราะฉะนั้นจึงยังต้องติดตามเรื่อง ‘ชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง’ ซึ่งคล้ายกับที่โรงพยาบาลเอกชนใช้ ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงอย่างไรและเมื่อใด
อ้างอิง:
- ข้อเสนอการใช้ Rapid Antigen Test สำหรับสถานการณ์ที่มีการติดเชื้อในชุมชนวงกว้าง กระทรวงสาธารณสุข (8 กรกฎาคม 2564)
- สบส. แจ้งโรงพยาบาลเอกชนตรวจโควิด Rapid Antigen Test พร้อมแนวทางส่งต่อระบบแยกกักที่บ้าน
- สภาเทคนิคการแพทย์ สนับสนุน 4 ข้อเตรียมรองรับโควิด-19 ทวีความรุนแรง