สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การยกระดับมาตรการควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เพื่อปกป้องการเกิดวิกฤตทางสาธารณสุขในขณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าหากภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาทางเศรษฐกิจกับผู้ได้รับผลกระทบที่มากพอ ประเทศไทยจะไม่เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ
“แน่นอนว่ามาตรการทางสาธารณสุขที่ออกมาต้องแลกกับผลกระทบที่จะเกิดกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่โดยส่วนตัวยังเชื่อว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงการลุกลามจากวิกฤตสาธารณสุขไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้หากมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่มากพอ ยาวพอ และตรงจุด” สมประวิณกล่าว
สมประวิณระบุว่า วิกฤตทางสาธารณสุขที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้หลายประเทศในโลก เช่น สหรัฐฯ และยุโรปก็เคยอยู่ในจุดนี้มาแล้วเช่นกัน แต่ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้จากการอัดฉีดเงินผ่านมาตรการช่วยเหลือที่มากพอ เช่น การโอนเงินช่วยเหลือโดยตรงให้กับผู้ได้รับผลกระทบและการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง
“ผมอยากใช้คำว่าต้องทำให้เหลือดีกว่าขาด ในสถานการณ์อย่างนี้เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องต่อลมหายใจทางเศรษฐกิจให้ยังไปต่อได้ จะมากังวลเรื่องการก่อหนี้มากเกินไปไม่ได้ หลายประเทศที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นก็ก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา และก็ยังไม่มีใครไปประเมินว่าจะส่งผลเชิงลบอย่างไร ภาครัฐต้องเตรียมเงินเยียวยาให้ใหญ่และเยอะเอาไว้ก่อน ถ้าเรารักษาลมหายใจของเศรษฐกิจให้หมุนอยู่ได้ เราจะสามารถใช้หนี้ได้ในอนาคต แต่ถ้าการช่วยเหลือน้อยเกินไป Permanent Loss จะเกิดขึ้น” สมประวิณ กล่าว
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า มี 4 เรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งทำในช่วงที่ประกาศล็อกดาวน์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างสูญเปล่า คือ
- การเร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อแบบเชิงรุกและเพิ่มความสามารถในการสอบสวนโรคและแยกคนติดเชื้อออกจากสังคมโดยเร็ว
- เร่งเพิ่มศักยภาพในการรักษา ไม่ใช่แค่เตียงสนามอย่างเดียว แต่รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และห้อง ICU
- เร่งเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงและรวดเร็วมากกว่าในปัจจุบัน
- การออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและช่วยป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การเลิกจ้าง
“หากทำ 4 เรื่องนี้ไม่ได้ เมื่อกลับมาเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้งจะเกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นอีก โดยส่วนตัวเชื่อว่า 14 วันไม่น่าจะพอ และรัฐน่าจะใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก เห็นได้จากคำสั่งรอบนี้ที่ยังเน้นการขอความร่วมมือ ต้องจับตาดูว่าสถานการณ์ในช่วง 14 วันนี้จะดีขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีขึ้นเราอาจได้เห็นมาตรการอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม” พิพัฒน์ กล่าว