หลังจากที่วัคซีนโควิดยี่ห้ออื่นทยอยตีพิมพ์ผลการวิจัยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 วัคซีน Sinovac ก็ตีพิมพ์ผลการวิจัยระยะที่ 4 ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก New England Journal of Medicine โดยเป็นผลการศึกษาประสิทธิผลในประชากร 10 ล้านคนในชิลี ระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 1 พฤษภาคม 2564 สามารถสรุปข้อค้นพบที่สำคัญได้ 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. วัคซีน Sinovac กันหนัก กันตาย
วัคซีน CoronaVac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตโดยบริษัทเอกชน Sinovac Biotech ในประเทศจีน วิจัยระยะที่ 1-2 (ความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน) ในประเทศผู้ผลิต จากนั้นวิจัยระยะที่ 3 (ประสิทธิภาพ) ใน 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล ชิลี อินโดนีเซีย และตุรกี ถึงแม้จะผลทั้งหมดจะไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ก็ได้รับการประเมินโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
สำหรับผลการวิจัยในระยะที่ 4 นี้ ประโยคที่ว่า ‘วัคซีนทุกชนิดกันหนักและกันตาย’ ยังคงใช้ได้กับวัคซีน Sinovac คือถึงแม้จะมีประสิทธิผลในการป้องกันอาการป่วย 65.9% แต่ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 87.5% ป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาในไอซียู 90.3% และป้องกันการเสียชีวิต 86.3% ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ไปแล้วอย่างน้อยก็สบายใจได้ระดับหนึ่งว่าถ้าติดเชื้อก็อาจไม่ป่วยรุนแรง
2. วัคซีน Sinovac ต้องฉีดครบ 2 เข็ม
ทั้งนี้ ประสิทธิผลข้างต้นจะต้องฉีดวัคซีน Sinovac ให้ครบ 2 เข็มด้วย เพราะจากการวิเคราะห์ประสิทธิผลเฉพาะวัคซีน ‘เข็มแรก’ พบว่า ป้องกันอาการป่วย 15.5% ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 37.4% ป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาในไอซียู 44.7% และป้องกันการเสียชีวิต 45.7% ซึ่งถือว่าไม่ค่อยดีนัก เมื่อเทียบกับฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันแบบครบ 2 เข็ม หรือเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น
ดังนั้นถ้าคาดหวังประโยชน์ของวัคซีน Sinovac ในแง่ของการกันหนัก กันตาย (ถึงแม้จะไม่ 100% เหมือนผลการวิจัยในระยะที่ 3) ผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม และเมื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วยังจะต้องป้องกันตัวเหมือนเดิมจนกว่าจะครบ 5 สัปดาห์ (ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 สัปดาห์ + ระยะเวลาสร้างภูมิคุ้มกัน 2 สัปดาห์) แต่คงไม่สามารถคาดหวัง ‘กันหมู่’ หรือสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนชนิดนี้ได้
3. วัคซีน Sinovac ฉีดในผู้สูงอายุได้
ในช่วงแรกที่มีการขึ้นทะเบียนวัคซีน Sinovac ในประเทศไทย ขณะนั้นกลุ่มตัวอย่างในผู้สูงอายุยังน้อยเกินไปที่จะสรุปประสิทธิภาพของวัคซีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงอนุมัติให้ใช้ในผู้ที่มีอายุ 18-59 ปี ต่อมาเดือนพฤษภาคม ถึงแม้ว่าคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะเห็นชอบแนวทางการฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับผู้สูงอายุได้ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่มั่นใจประสิทธิภาพในกลุ่มอายุดังกล่าว
สำหรับผลการวิจัยในระยะที่ 4 นี้ คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์เพิ่มเติมถึงประสิทธิผลของวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 2.7 ล้านคนด้วย โดยพบว่า ใกล้เคียงกับในทุกกลุ่มอายุ กล่าวคือป้องกันอาการป่วย 66.6% ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 85.3% ป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาในไอซียู 89.2% และป้องกันการเสียชีวิต 86.5% ดังนั้นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ก็น่าจะมั่นใจมากขึ้น
4. ยังไม่มีข้อมูลสำหรับสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยยอมรับว่ามีข้อจำกัดคือเป็นงานวิจัยเชิงสังเกต สังเกตประสิทธิผลของวัคซีนในระดับประชากร จึงอาจมีตัวแปรที่ไม่ได้ควบคุมเหมือนงานวิจัยเชิงทดลอง เช่น พฤติกรรมของผู้ที่ได้รับวัคซีน ทั้งการเข้ารับการตรวจหาเชื้อและการป้องกันตัวเองภายหลังได้รับวัคซีน แต่คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ผลโดยปรับความเสี่ยงด้วยบางตัวแปรแล้ว ได้แก่ อายุ เพศ โรคประจำตัว ภูมิภาคที่อยู่ และสัญชาติ
และอีกข้อจำกัดที่สำคัญคือสายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงที่วิจัย ถึงแม้ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ของชิลีรายงานว่า เป็นสายพันธุ์แกมมา (28.6%) และอัลฟา (14.8%) แต่คณะผู้วิจัยไม่สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพแยกรายสายพันธุ์ได้ และไม่มีข้อมูลสำหรับสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่น เช่น เดลตา ที่กำลังระบาดในไทย และมีรายงานของวัคซีนยี่ห้ออื่นว่ามีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์นี้ลดลง
5. ประสิทธิผลไม่เท่ากับวัคซีนยี่ห้ออื่น
ประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลของวัคซีนระหว่างยี่ห้อที่วิจัยต่างสถานที่และต่างช่วงเวลา รวมถึงต่างรายละเอียดวิธีการศึกษา ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง แต่อาจนำมาใช้ในการวางแผนจัดหาวัคซีนได้ (ภายใต้การตระหนักถึงข้อจำกัดต่างๆ) โดยก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขของชิลีได้เผยแพร่ประสิทธิผลของวัคซีน Pfizer-BioNTech ซึ่งสำนักข่าว Bloomberg นำมาเปรียบเทียบกันดังนี้
- ป้องกันอาการป่วย 65.9% เทียบกับ 92.6% ของวัคซีน Pfizer-BioNTech
- ป้องกันการนอนโรงพยาบาล 87.5% เทียบกับ 95.1%
- ป้องกันการป่วยหนักจนต้องรักษาในไอซียู 90.3% เทียบกับ 96.2%
- และป้องกันการเสียชีวิต 86.3% เทียบกับ 91.0%
จะสังเกตว่า ตัวเลขของวัคซีน Sinovac ต่ำกว่าในทุกด้าน ซึ่งการเปรียบเทียบทำนองนี้ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ศบค. แล้วเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 และเสนอว่าควร “เร่งรัดจัดหาวัคซีนชนิดอื่น เช่น วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ มาทดแทนวัคซีนชนิดเชื้อตายของบริษัท Sinovac”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงและวัคซีนที่มีในขณะนี้มีเพียง 2 ยี่ห้อ คือ AstraZeneca และ Sinovac หากถึงกำหนดตามที่จองกับโรงพยาบาลไว้ ควรไปรับการฉีดวัคซีนทันที โดยวัคซีน Sinovac จะต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม เพื่อกันหนักและกันตายก่อน ส่วนในอนาคตก็ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนอื่นมาฉีดเป็นเข็มที่ 2-3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
อ้างอิง:
- What do we know about China’s covid-19 vaccines? https://www.bmj.com/content/373/bmj.n912
- Effectiveness of an Inactivated SARS-CoV-2 Vaccine in Chile https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2107715
- The Sinovac and Pfizer-BioNTech vaccines show 90% and 98% effectiveness in Chile in preventing admission to the ICU, respectively https://www.minsal.cl/las-vacunas-sinovac-y-pfizer-biontech-muestran-en-chile-un-90-y-98-de-efectividad-para-prevenir-el-ingreso-a-uci-respectivamente
- ‘No evidence’ inactivated virus vaccines more efficacious against COVID-19 variants than mRNA ones: Singapore expert committee https://www.channelnewsasia.com/news/sinovac-mrna-no-evidence-inactivated-covid-19-vaccines-14966950
- Sinovac’s Vaccine Found Inferior to Pfizer Shot in Chile Study https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-08/china-made-vaccine-found-inferior-to-pfizer-shot-in-chile-study