เดือนเมษายน 2021 เป็นช่วงเวลาที่ชาวโลกตื่นเต้นกันมากกับการประกาศของ Grab ที่จะควบรวมกิจการกับบริษัท SPAC ชื่อ Altimeter Growth ด้วยมูลค่า 39,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.25 ล้านล้านบาท แต่ปรากฏว่าดีลนี้กำลังถูกพิษโรคเลื่อน จากที่คาดว่าจะปิดดีลได้สบายในไตรมาส 3
2 เดือนผ่านไป ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Grab Holdings อย่าง แอนโธนี ตัน (Anthony Tan) จึงออกมายอมรับช่วงกลางมิถุนายน 2021 ว่ากำหนดการปิดดีลต้องเลื่อนออกไปเพราะกระบวนการตรวจสอบทางการเงินกินเวลามากกว่าที่คิด เรื่องนี้ตันย้ำว่า Grab และ Altimeter Growth ต้องการดำเนินการอย่างโปร่งใส จึงทำให้เกิดความล่าช้า แต่มั่นใจว่าดีลจะแล้วเสร็จในไม่เกินไตรมาส 4 ปี 2021
บรรยาย: แอนโธนี ตัน ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab
การออกมาแสดงความเห็นครั้งนี้ถือเป็นการเรียกความมั่นใจจากอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมาดีลระหว่าง Grab และ Altimeter Growth ถูกกล่าวขานว่าเป็น ‘การควบรวมกิจการที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบ SPAC’ หรือ Special Purpose Acquisition Company
โดยตัวบริษัท Altimeter Growth นั้นเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อซื้อกิจการด้วยวัตถุประสงค์พิเศษ ทำให้เป็นบริษัทที่มีแต่โครง ไม่มีสินทรัพย์หรือหน่วยปฏิบัติการของตัวเอง แต่มีการลงทุนจากนักลงทุนที่ลงขันกันกลุ่มแรก เพื่อนำเงินทุนก้อนนี้ไปซื้อกิจการเอกชนอย่าง Grab
ด้วยมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ของดีลนี้ที่มากกว่าการเสนอขายหุ้น SPAC ทุกครั้งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันนี้ Grab จึงไม่เพียงเป็นบริษัทล่าสุดที่ต้องการระดมทุนผ่านบริษัท SPAC แทนที่จะรอให้เข้ากระบวนการ IPO ที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่ยังเป็นบริษัทสัญชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โลกส่องสปอตไลต์มาติดตาม
ซูเปอร์แอปฯ ระดับภูมิภาค
ตันให้สัมภาษณ์ผ่าน Bloomberg Television ว่า การล่าช้าของดีลที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ Grab ตัดสินใจเชิงรุก โดยต้องการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่โปร่งใส อย่างไรก็ตาม แม้จะเชื่อว่าดีลจะเสร็จทันปลายปี 2021 แต่สื่อสิงคโปร์กลับรายงานว่า Grab กำลังพิจารณาเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์เช่นกัน ในฐานะเป็นหนึ่งตัวเลือกรอง เพราะขณะนี้บริษัทยังคงโฟกัสไปที่การเข้าตลาดหุ้น Nasdaq
ตรงนี้สื่อสิงคโปร์มองว่า Grab ซึ่งดำเนินงานทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นบริษัทล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากการพิจารณาอย่างเข้มงวดของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับ SPAC
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/hatyai-thailand-july-24-2020-grab-1782605678
เพราะก่อนหน้านี้หลายบริษัทตบเท้าเข้าจดทะเบียนแบบ SPAC อย่างแพร่หลาย ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ต้องออกโรงพิจารณากำกับดูแลให้เข้มงวดขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาฟ้องร้องจากผู้ถือหุ้น ภาวะราคาหุ้นที่ตกต่ำ และความล่าช้าในการเข้าจดทะเบียนตามแผนที่อาจเกิดขึ้น
ผลคือบริษัท SPAC จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการทำบัญชี โดยแจงหลักทรัพย์ที่ออกให้แก่นักลงทุนกลุ่มแรกให้เป็นหนี้สิน แทนที่จะเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น เบื้องต้นประธานเจ้าหน้าที่บริหารวัย 39 ปีอย่างตันปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกถามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่โดย Grab หลังจากการตรวจสอบทางการเงินหรือไม่ ทำให้นักสังเกตการณ์ยังต้องรอดูกันต่อไป
ในฐานะผู้นำตันไม่ได้มองข้ามตลาดหุ้นในบ้านเกิดอย่างสิงคโปร์ โดยกล่าวว่าบริษัทพิจารณาตัวเลือกทั้งหมดที่มีสำหรับเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป แต่การเน้นไปที่ตลาดหุ้น Nasdaq ผ่านการควบรวมกิจการกับ Altimeter ด้วยมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์นั้นเป็นเพราะบริษัทเห็นความมุ่งมั่นของพันธมิตร SPAC ที่สะท้อนคำมั่นสัญญาในระยะยาว
ไม่ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายตั้งคำถามถึงการประเมินมูลค่า Grab เช่น แมทธิว แคนเทอร์แมน (Matthew Kanterman) นักวิเคราะห์จาก Bloomberg Intelligence ที่คำนวณว่าอัตราส่วนมูลค่าต่อการขายของ Grab นั้นสูงกว่า Uber Technologies Inc. และ Lyft Inc. มากกว่า 2 เท่า ทั้งที่เป็นผู้เล่นในตลาด ‘แชร์รถ’ สังเวียนเดียวกัน ทำให้อาจมีพื้นที่ที่ฝ่ายกำกับดูแลจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/bangkokthailand-1-may-2021-grab-delivery-1965904384
เมื่อถูกถามว่าการประเมินมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ยืดเยื้อไปอีกหรือไม่? ตันปฏิเสธที่จะให้คำตอบโดยตรง แต่ย้ำว่าบริษัทรู้สึกตื่นเต้นกับภูมิภาคนี้มาก เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับบริการดิจิทัล ทำให้ Grab รู้สึกตื่นเต้นที่เป็นบริษัทกลุ่มแรกที่เป็นตัวแทนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวทีระดับโลก
การให้สัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ออกมาโพสต์ฉลองวันพ่อของชาวสิงคโปร์บน LinkedIn เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา ในโพสต์ตันระบุว่าได้ร่วมงานกับ ‘ลิม’ (Lim) คนขับมากประสบการณ์ที่ช่วยสอนงานเดลิเวอรีอาหารถึงมือลูกค้า ก่อนจะสรุปว่าเขายังต้องเรียนรู้อีกมากจากคนขับรถส่งของที่มีประสบการณ์สั่งสมมานาน พร้อมกับยกย่องพนักงาน Grab หลายล้านคนที่ ‘ทำทุกวันให้ดีที่สุด’ เพื่อคนที่รัก
แม้ภารกิจนี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ตัวอย่างที่ดี’ แต่ก็มีเสียงไต่ถามว่าผู้ขับที่สอนงานซีอีโอคนเก่งรายนี้รู้หรือเปล่าว่าบริษัทมีแผนที่จะแทนที่คนขับด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในอนาคต ซึ่ง Grab มีแนวโน้มพัฒนาแน่นอนในวันที่สามารถระดมทุนมากขึ้น
ก้าวต่อไปคือไร้คนขับ?
ตันไม่ได้ตอบข้อสังเกตนี้โดยตรง เพราะโพสต์ของเขาเล่าเพียงว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกในการทำภารกิจจัดส่งอาหารให้ลูกค้า โดยเขาพยายามจะรับงานจัดส่ง GrabFood ทุกๆ 2-3 เดือน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Grab โพสต์รูปถ่ายของตัวเองที่กำลังส่งของอยู่หลายภาพ ขณะเดียวกันก็ประเมิน 4 ประเด็นที่อธิบายภาพรวมภารกิจนี้ผ่านการร่วมมือกับลิมที่ตันเรียกว่า ‘พาร์ตเนอร์ผู้ส่งของมากประสบการณ์’ เบื้องต้นซีอีโอประเมินว่าตัวเองล้มเหลวในการเตรียมตัวเนื่องจากลืมถอดเบาะนั่งสำหรับเด็กบนจักรยานคันใหม่ ทำให้ไม่มีที่ว่างสำหรับวางกระเป๋า GrabFood รวมทั้งไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ที่จะทำให้กระเป๋าปิดสนิท
แต่เมื่อมาถึงประเด็นที่ 2 นั่นคือการหยิบอาหารขึ้นมานำส่ง ซีอีโอบอกว่าขั้นนี้ผ่านไปอย่างราบรื่น
สำหรับประเด็นที่ 3 คือ Getting Around เขาประเมินสภาพรอบภารกิจว่า ‘ค่อนข้างลำบาก’ เนื่องจากฝนตกและไม่รู้ว่าจะจอดรถที่ไหน ขณะที่ประเด็นสุดท้ายคือภารกิจนี้ทำให้เขาพบบุคคลเพียง 1 คนเท่านั้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่เลือกการจัดส่งแบบไม่ต้องสัมผัส ดังนั้นจึงไม่ได้รับคำติชมมากนัก
สรุปแล้วตันย้ำว่าเขารับงานเดลิเวอรีตามคำสั่งซื้อทั้งหมด 4 รายการในเวลา 1.5-2 ชั่วโมง ซึ่งลิมแจ้งซีอีโอไปว่าผู้ขับขี่ที่มีประสบการณ์มากกว่านี้ จะสามารถทำคำสั่งซื้อได้ 5 รายการในระยะเวลาเท่ากัน
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/march-2020-grab-food-bike-delivery-1706389657
ซีอีโอของ Grab ย้ำว่าภารกิจนี้แสดงว่าเขายังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมาก พร้อมกับขอบคุณลิมที่สละเวลามาแนะนำสอนงาน ก่อนจะเล่าว่าลิมเป็นพ่อของลูกวัย 14 ปี ที่รับงาน 20-30 รายการทุกวันเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว
“ผมชื่นชมจรรยาบรรณในการทำงานและพลังงานของเขาจริงๆ และหวังว่าเขาจะหยุดพักในสุดสัปดาห์นี้เพื่อเฉลิมฉลองวันพ่อ” ตันระบุในโพสต์
ปรากฏว่าในช่องแสดงความคิดเห็นบนโพสต์ LinkedIn มีผู้เขียนว่าโพสต์นี้สามารถสร้างภาพประชาสัมพันธ์ได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานขับรถส่งของอย่างลิมได้รู้หรือไม่ว่า Grab กำลังทำงานเพื่อพัฒนาตัวเองอย่างแข็งขัน ด้วยการหันมาใช้รถที่จะ ‘ไล่พวกเขาออกจากงาน’
มีผู้ใช้ LinkedIn จำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับคอมเมนต์นี้ ซึ่งเจ้าของโพสต์มีการอธิบายว่า เพราะส่วนธุรกิจการจัดส่งผ่านแอปฯ กำลังประสบกับปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง โดย Grab สูญเงินมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ซึ่ง Grab จะสามารถสร้างรายได้มากขึ้นก็ต่อเมื่อเรียกเก็บเงินจากผู้ขายหรือลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ในเมื่อไม่สามารถทำได้ Grab จึงต้องลดต้นทุน และต้นทุนที่ใหญ่ที่สุดคือค่าแรง ‘คนขับ’
ประเด็นนี้ท้าทายภาวะผู้นำของซีอีโอ Grab เพราะชัดเจนว่าสังคมจำเป็นต้องคิดให้ถี่ถ้วนมากขึ้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแรงงานมนุษย์เป็นแรงงานอัตโนมัติสามารถเพิ่มรายได้ได้จริง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรควรจะทำอย่างนั้นเสมอไป จุดนี้ถือเป็นความท้าทายทั้งในมุมการควบคุมจากรัฐบาล และคะแนนความน่าเชื่อถือทางสังคม เท่ากับการตัดสินใจครั้งใหญ่กำลังรออยู่ข้างหน้าสำหรับซีอีโอ Grab สปอตไลต์ของโลกจึงส่องไปที่ ‘แอนโธนี ตัน’ พร้อมกับการจับตา Grab ว่าจะสามารถควบรวมกิจการ 4 หมื่นล้านดอลล์ผ่านดีล SPAC สำเร็จในสิ้นปี 2021 หรือไม่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://theindependent.sg/after-grab-ceo-greets-his-delivery-partners-for-fathers-day-a-commenter-asks-if-the-delivery-partners-know-theyll-be-replaced-with-riderless-vehicles/
- https://asia.nikkei.com/Business/Business-Spotlight/Grab-s-40bn-SPAC-plan-puts-CEO-Anthony-Tan-in-driver-s-seat
- https://www.theedgesingapore.com/news/ipo/grabs-anthony-tan-confident-spac-deal-will-close-year-end