×

จับตาโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาจากเปรู หวั่นระบาดรุนแรงกว่าเดลตา พบผู้ติดเชื้อแล้วใน 30 ประเทศ

06.07.2021
  • LOADING...
โควิดสายพันธุ์ แลมบ์ดา เปรู

องค์การอนามัยโลก (WHO) และทางการหลายประเทศในลาตินอเมริกา แสดงความกังวลและกำลังเฝ้าจับตามองการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบครั้งแรกในเปรู หลังพบความเป็นไปได้ที่อัตราการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้อาจรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดลตา

 

เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา ซึ่งรู้จักกันในชื่อรหัส C.37 เริ่มพบระบาดครั้งแรกในเปรูตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 และปัจจุบันแพร่ระบาดไปแล้วมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักร ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ของประเทศ

 

โดย พาโบล สึคายามะ แพทย์ด้านจุลชีววิทยาระดับโมเลกุลของมหาวิทยาลัยคาเยตาโน เฮเรเดีย ในกรุงลิมา เปิดเผยว่าไวรัสสายพันธุ์นี้ ได้รับการบันทึกข้อมูลครั้งแรกในเปรูเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นพบผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน จากการตรวจสอบตัวอย่างจากผู้ติดเชื้อ 200 คน

 

กระทั่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าอัตราการระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้เพิ่มเป็นราว 50% และปัจจุบันมากกว่า 80% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเปรู ขณะที่ WHO ยืนยันว่า 82% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเปรู ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนั้นได้รับเชื้อโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดา นอกจากนี้ ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชิลีพบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เช่นเดียวกับเอกวาดอร์และอาร์เจนตินา ที่กำลังมีการระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์นี้

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เปิดเผยผลการศึกษาวิจัย พบว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดานั้นมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อที่สูงกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเดลตา ที่มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 38%  

 

ขณะที่ WHO จัดให้ไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาอยู่ในประเภทสายพันธุ์ที่น่าจับตามอง (Variant of Interest) ลำดับที่ 7 ซึ่งเบื้องต้นมองว่ายังเป็นภัยคุกคามที่น้อยกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) อย่างอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับสิ่งที่ทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้มีความน่ากังวลมากกว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่น เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่ผิดปกติและแพร่ระบาดในหลายประเทศ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าเป็นผลจากการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452Q ของโปรตีนหนามไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

 

ผลการศึกษาวิจัยจากทีมนักวิทยาศาสตร์ในชิลียังพบว่าการระบาดของไวรัสสายพันธุ์แลมบ์ดาอาจสะท้อนถึงประสิทธิภาพที่ด้อยลงของวัคซีนบางชนิด แต่ก็มีรายงานผลวิจัยบางฉบับที่เผยแพร่ในอาร์เจนตินาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์แลมบ์ดาได้เทียบเท่าสายพันธุ์ปกติ

 

ภาพ: Photo by STR / Getty Images

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X