×

เคาะบุคลากรทางแพทย์ฉีดบูสเตอร์วัคซีนเข็ม 3 เพิ่ม วอนประชาชนฉีดให้ครบ 2 โดสก่อน อย่าเพิ่งนึกถึงเข็ม 3 หยุดด้อยค่า Sinovac

โดย THE STANDARD TEAM
06.07.2021
  • LOADING...
วัคซีนเข็ม 3

วันนี้ (6 กรกฎาคม) นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ 96 ประเทศ สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ภาพรวมทั้งประเทศ 30% เฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) 50% แล้วโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเดลตามีคุณสมบัติแพร่เชื้อได้เร็ว ทำให้ทั่วประเทศอีก 2 เดือนต่อไปจากนี้อาจจะเป็นสายพันธุ์เดลตา อัลฟา ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น 60-70% แต่เดลตาระบาดเร็วกว่าอัลฟาอีก 40% ทำให้คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะกลายเป็นสายพันธุ์เดลตาในเร็วๆ นี้

 

โดยรวมเดลตาไม่ได้รุนแรงกว่าอัลฟา แต่จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติได้เร็วขึ้น และปอดอักเสบได้เร็วขึ้น เช่น จากเดิมติดเชื้อ 7-10 วัน หลังติดเชื้อจะต้องการออกซิเจน แต่ใช้เดลตาเวลา 3-5 วัน จะต้องการเครื่องช่วยหายใจ เมื่อมีคนติดเชื้อมาก ก็จะต้องการเตียง ICU เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สถานการณ์เรื่องเตียงตึงมาก หากปล่อยเหตุการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

 

โดยวัคซีนทำมาจากเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมคืออู่ฮั่น ทำให้การกลายพันธุ์ดื้อต่อวัคซีน จึงต้องหาวัคซีนเจเนอเรชันใหม่เพื่อมาควบคุมการกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนชนิดใดเลย ขณะที่ Pfizer และ AstraZeneca เองก็กำลังผลิตวัคซีนชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ คาดว่าเร็วที่สุดอาจจะปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

 

“ระหว่างที่รอ ต้องหากระบวนการบูสต์โดสให้เพิ่มขึ้นเพื่อไปต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ให้ได้ โดยเรื่องนี้ถูกหารือมาเป็นเวลา 2-3 เดือนแล้ว เรื่องเข็ม 3 หรือฉีดไขว้ยี่ห้อ แต่ไม่ได้มีการออกข่าวเป็นทางการ” นพ.อุดม กล่าว

 

นพ.อุดม กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลวัคซีนปัจจุบัน เมื่อเจอสายพันธุ์เดลตา ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลง งานวิจัยในอังกฤษพบว่า เช่น Pfizer เมื่อพบ เบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 7.5 เท่า เมื่อพบเดลตา ลดลง 2.5 เท่า AstraZeneca เมื่อพบเบตา ภูมิคุ้มกันลดลง 9 เท่า เมื่อพบเดลตา ลดลง 4.3 เท่า ส่วน Sinovac งานวิจัยของ สวทช. ร่วมกับศูนย์วิจัยจุฬาฯ พบว่า ถ้าเจอเดลตา ภูมิลดลง 4.9 เท่า หากแปลงเป็นตัวเลขทางคลินิก ความสามารถกระตุ้นภูมิต้านทาน mRNA หรือ Pfizer ดีที่สุด รองมาเป็น AstraZeneca และ Sinovac

 

นพ.อุดม กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบในเรื่องของการป้องกันโรค

 

  • Pfizer ป้องกันสายพันธุ์เดลตาลดลงจาก 93% เหลือ 88% 
  • AstraZeneca ป้องกันสายพันธุ์เดลตา 66 เหลือ 60% 
  • ป้องกันการอยู่โรงพยาบาล เจ็บป่วยรุนแรง Pfizer 96% AstraZeneca 92% ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ 

 

อยากย้ำว่าแม้ประสิทธิภาพการป้องกันลดลง แต่การป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและตายสูงมาก ส่วน Sinovac ข้อมูลน้อย ไม่มีข้อมูลว่าป้องกันได้เท่าไร ถ้าเทียบจากภูมิต้านทาน คงป้องกันเดลตาไม่ดีแน่ แต่ Sinovac 2 เข็มป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาลหรือป้องกันตายมากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศและประเทศไทย ที่ภูเก็ตฉีดเยอะที่สุด

 

“ตอนนี้เราต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนไม่มีทางป้องกัน 100% แต่ละตัวมีประสิทธิภาพแตกต่างออกไป แต่สำคัญคือแม้ไม่สามารถป้องกันได้ ประสิทธิภาพป้องกันลดลง แต่ประสิทธิภาพป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาลและตายยังสูงมากเกิน 90% แม้เป็น Sinovac ที่อยากจะย้ำ เพราะการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรง ทำให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล เตียงเราจะได้มีพอ ตอนนี้แพทย์ พยาบาล ไม่ไหวแล้ว อย่างน้อยวัคซีนป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงเข้าโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยหนัก มันคุ้มค่ามหาศาลสำหรับชีวิตแล้ว” นพ.อุดม กล่าว

 

นพ.อุดม กล่าวว่า ตอนนี้มีข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ แม้คนไข้ติดเชื้อโควิดตามธรรมชาติ ข้อมูลพบว่าภูมิต้านทานตกเร็ว หลัง 3 และ 6 เดือนหลังติดเชื้อ บางคนไม่มีภูมิต้านทานขึ้นเลย บางคนเจ็บป่วยรุนแรง ใส่ช่วยหายใจ 40-50 วัน หลังฉีดวัคซีนพบว่าภูมิต้านทานขึ้นแน่ แต่ 3-6 เดือนมันลง

 

ฉะนั้นถ้าภูมิคุ้มกันลดลงครึ่งหนึ่งอาจจะป้องกันไม่ได้ ถ้าภูมิไม่ได้สูงมาก จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องการบูสเตอร์โดส แต่ไม่อยากเรียกเข็มที่ 3 เพราะตอนนี้ยังไม่มีไกด์ไลน์จากองค์การอนามัยโลกหรือประเทศใดว่าต้องฉีดเข็ม 3 ซึ่งขณะนี้ มีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ที่ 2 เข็มแรกฉีด Sinovac และเข็ม 3 ฉีด Sinopharm 

 

“ขณะนี้ประเทศไทยมี AstraZeneca กับ Sinovac Sinopharm ส่วน Moderna กำลังเข้ามา กรุณาฉีดให้ครบ 2 เข็มให้ได้ก่อน เมื่อได้เข็ม 1 จะต้องไปฉีดเข็ม 2 ให้ได้ตามกำหนด อย่าเพิ่งนึกถึงเข็ม 3 ถ้าฉีด AstraZeneca ห่าง 3 เดือน อย่าเพิ่งไปจองเลย พูดจากทางวิชาการ เพราะว่าจะได้ mRNA รุ่นเก่า เนื่องจาก AstraZeneca เว้น 3 เดือน ฉีดเข็ม 3 เว้น 6 เดือน จะได้ mRNA เจเนอเรชันใหม่ ฤทธิ์ข้างเคียงอาจน้อยลง ปลอดภัยมากกว่า” นพ.อุดม กล่าว

 

นพ.อุดม กล่าวว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จะต้องได้บูสเตอร์ก่อนเป็นกลุ่มแรก โดยต้องได้ mRNA เป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ที่กำลังจะได้มาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส ฉะนั้นคำว่าบูสเตอร์โดสไม่เฉพาะคนทั่วไป ไม่มีประเทศไหนกำหนดแนวทางไกด์ไลน์หรือแม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก ซึ่งขณะนี้ ศิริราช จุฬาฯ ทำการศึกษาเข็ม 3 ว่าตัวไหนจะเหมาะ ตัวไหนดีที่สุด อีก 1 เดือนรู้ผล 

 

“บูสเตอร์โดสมีความสำคัญแน่นอน แต่อย่าด้อยค่า Sinovac เพราะลดการเจ็บป่วยรุนแรง ตาย ไม่แพ้วัคซีนตัวอื่น เรายังมีเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า ที่จะกำหนดออกมาให้ประชาชนได้ทราบ

 

“ย้ำว่าตอนนี้อย่าเพิ่งรีบ เพราะไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนก็กำลังวิจัยเจเนอเรชันใหม่ที่ครอบคลุมสายพันธุ์ใหม่ๆ เรามีคณะทำงานที่ทำงานศึกษาเรื่องนี้ และจะรีบไปจองก่อน เราเตรียมการอยู่แล้วในเรื่องนี้ ไม่ใช่กระทรวงไม่ทำอะไรเลย ดังนั้นท่านใจเย็นๆ รอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน” นพ.อุมดม กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising