ฟุตบอลยูโร 2020 ผ่านรอบ 8 ทีมสุดท้ายกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้คือทีม ‘สิงโตคำราม’ อังกฤษ ซึ่งคว้าชัยชนะได้อย่างง่ายดายที่สุดในบรรดารอบ 8 ทีมสุดท้ายเมื่อถล่มยูเครนขาดลอยถึง 4-0 ในเกมที่ต้องร้องเป็นเพลงว่า ‘ก็เธอนั้นอยู่คนละชั้น’
ฟอร์มที่ปรากฏของพลพรรครักสิงโตนั้นทำให้บทเพลง It’s Coming Home ยิ่งดังกระหึ่มเข้าไปอีก เพราะตอนนี้เห็นพ้องต้องกันหมดว่าอังกฤษนั้นราศีแชมป์จับแล้ว
จากทีมที่เล่นให้แฟนบอลหน้าบู่เพราะสไตล์น่าเบื่อในรอบแรก พวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ขออนุญาตวิเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ออกมาดังนี้
แกเร็ธ เซาธ์เกต จัดทีมตามโจทย์แต่ละเกม ไม่เคยจัดทีมตามใจใคร
1. ตามโจทย์ไม่ตามใจ
‘เล่นน่าเบื่อแต่ชนะ’ ดูเหมือนนี่คือสิ่งที่ แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้จัดการทีมตั้งใจตั้งแต่ต้นในการเตรียมทีมชาติอังกฤษสู้ศึกยูโร 2020 ครั้งนี้ หลังจากที่เคยทดลองรูปแบบ แผนการ และสไตล์การเล่นมาหลากหลายตั้งแต่ช่วงฟุตบอลโลก 2018 ที่ทีมก้าวไปถึงรอบรองชนะเลิศได้แต่ไปไกลกว่านั้นไม่ได้
เซาธ์เกตซึ่งเคยเจอฝันร้ายในศึกยูโร 1996 เมื่อเป็นคนสังหารจุดโทษไม่เข้า ทำให้ทีมตกรอบรองชนะเลิศ ทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ โดยแม้ทีมจะเต็มไปด้วยซูเปอร์สตาร์มากมายโดยเฉพาะในแนวรุกที่มีให้เลือกใช้งานเต็มไปหมด แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้ลงสนามจะต้องทำตาม Job Description ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
กุนซือวัย 50 ปีจึงจัดทีมตามโจทย์ของตัวเองในแต่ละนัด และทำให้แฟนบอลต่างสงสัยว่าทำไมนักเตะอย่าง แจ็ค กรีลิช, จาดอน ซานโช หรือ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน จึงต้องนั่งเป็นตัวสำรองอดทนตลอด ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์อย่างมากตั้งแต่รอบแรก
ก่อนที่เราจะได้เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ ในรอบน็อกเอาต์ เมื่อพวกเขาเอาชนะเยอรมนีและยูเครนได้อย่างสวยงาม และทุกอย่างดีขึ้นเรื่อยๆ
2. เกมรับสำคัญกว่าเกมรุก
ขณะที่ 3 นัดในรอบแรกคนโฟกัสกับเกมรุกที่ฝืดเคืองเป็นหลัก แต่สัญญาณบวกที่เห็นมาตั้งแต่รอบแรกเช่นกันก็คือการที่พวกเขาลงสนาม 3 นัดแรกโดยไม่เสียประตูเลย
และตั้งแต่ที่ แฮร์รี แม็กไกวร์ กลับมาลงสนามได้อีกครั้งในนัดสุดท้ายของรอบแรกกับสาธารณรัฐเช็ก ดูเหมือนเกมรับของอังกฤษจะยิ่งทวีความแข็งแกร่งขึ้นมากจนแทบจะหาทางเจาะไม่เข้า ไม่ว่าจะใช้ระบบการเล่นแบบแบ็กโฟร์หรือใช้กองหลัง 3 ตัวก็ตาม
แม็กไกวร์เล่นร่วมกับ จอห์น สโตนส์ ได้อย่างยอดเยี่ยม ขณะที่ ลุค ชอว์ อาจจะเล่นไม่มันเท่าแบ็กหลายๆ ชาติ (ใครจะเดือดเท่า เลโอนาร์โด สปินาซโซลา ของอิตาลี!) แต่ดาวเตะจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดคือแบ็กซ้ายที่น่าจะดีที่สุดคนหนึ่งของทัวร์นาเมนต์และของโลกไปแล้ว
เพราะชอว์เล่นได้สมดุลทั้งเกมรุกที่เติบไปช่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และเกมรับที่ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วนอีกฟากนั้น ไคล์ วอล์กเกอร์ กลับมาเล่นได้แข็งแกร่งเช่นกันแม้จะไม่เด่นเท่า
หัวใจสำคัญอีกอย่างคือการเข้าคู่กันของ ดีแคลน ไรซ์ และ คาลวิน ฟิลลิปส์ ที่เคมีลงตัวอย่างมาก แม้ว่าอาจจะดูเนือยและช้ากว่าเวลาที่มี จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ตรงกลาง แต่ก็แน่นอนและมั่นคง ซึ่งทั้งสองเป็นกันชนให้แนวรับได้อย่างดีเยี่ยม
และนั่นทำให้ผ่านมาตอนนี้ 5 นัดแล้วอังกฤษยังไม่เสียประตูแม้แต่ลูกเดียว ซึ่งเข้าทางภาษิตลูกหนังโบราณอย่างมาก
เกมรุกจะทำให้เราชนะ แต่เกมรับจะทำให้เราได้แชมป์
ลุค ชอว์ คือหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของทัวร์นาเมนต์
3. ดวงดาวเริ่มส่องแสงระยิบระยับ
อย่างที่บอกว่าในยูโร 2020 หนนี้เซาธ์เกตจัดทีมเน้นตามโจทย์ หรือก็คือตามใจตัวเองมากกว่าตามใจคนอื่น ทำให้นักเตะหลายๆ คนที่แฟนๆ อยากเห็นผลงานในสนามอย่างกรีลิชหรือซานโชไม่ค่อยได้รับโอกาสในการลงเล่นมากนัก
ขณะที่บางคนอาจจะฟอร์มไม่ดีหรือเล่นไม่ประทับใจนัก แต่ก็ยังได้โอกาสเสมออย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง หรือ แฮร์รี เคน
แต่สุดท้ายทุกคน (เน้นว่าทุกคนจริงๆ) ก็เริ่มเปล่งประกายให้เห็นอย่างช้าๆ ทีละคนสองคนในแต่ละนัดที่ผ่านไป ไม่ว่าจะเป็น คาลวิน ฟิลลิปส์ ในเกมแรก จากนั้นคือ ราฮีม สเตอร์ลิง ที่ลีลาอาจจะน่าอึดอัด (บางคนก็เหยียดท่าวิ่ง…) แต่ก็ทำประโยชน์ต่อทีมทุกนัด, ลุค ชอว์ ที่ยอดเยี่ยมอย่างมาก
และเคนที่โดนสับเละในช่วงรอบแรก ก็กลับมาเข้าฝักยิงไป 3 ประตูจาก 2 นัดหลังสุด (ในเกมกับยูเครนเกือบทำแฮตทริกได้ด้วยซ้ำไปถ้าลูกวอลเลย์สุดสวยไม่โดนซูเปอร์เซฟก่อน)
ส่วนคนที่แฟนบอลอยากเห็นอย่าง กรีลิช, ซานโช หรือ เฮนเดอร์สัน เมื่อได้โอกาสลงสนามก็ทำผลงานได้น่าประทับใจขึ้นทุกนัด
คิดเล่นๆ ยังเหลือโควตาของ เมสัน เมาท์ และ ฟิล โฟเดน ที่ยังไม่ได้โชว์ของ ซึ่งอาจจะได้เห็นในรอบรองชนะเลิศ และถ้าเป็นตามคาดก็ยังน่าจะไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้เป็นอย่างน้อย
4. ฟอร์มแชมป์ของแท้ต้องออกตัวช้า
ในเกมฟุตบอล โดยเฉพาะรายการระดับทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ตามตำราแล้วทีมที่จะประสบความสำเร็จนั้นมักจะไม่ได้เป็นทีมที่ออกตัวด้วยความร้อนแรงถล่มคู่แข่งแหลกรานในช่วงแรกๆ
แต่เป็นทีมที่อาจจะเริ่มต้นด้วยความหนืดแต่สุดท้ายค่อยๆ เล่นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป
ทีมชาติอังกฤษก็ดูจะเข้าตำรานั้น เพราะพวกเขาเล่น 3 นัดในรอบแรกได้ไม่ไหวเอาเสียเลย แต่กลับเริ่มดีขึ้นในรอบน็อกเอาต์ที่ชนะเยอรมนี 2-0 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกความมั่นใจ โดยเฉพาะหลังจากที่เคนยิงประตูที่ 2 ได้
มาถึงในเกมกับยูเครนเคนยิงประตูนำได้ตั้งแต่ต้นเกมและทำให้ทุกอย่างราบรื่นไปเสียหมด และดูเป็นฟอร์มของทีมที่มีโอกาสเป็นแชมป์
ที่สำคัญพวกเขาได้พักนักเตะหลายๆ คนไม่ให้ช้ำเกินไปด้วย นักเตะเจ็บแทบไม่มี ไม่เหมือนเดนมาร์ก อิตาลี หรือสเปน ที่กว่าจะเข้ารอบตัดเชือกได้ก็ช้ำเลือดช้ำหนองอย่างมาก
…and then, one night in Rome… pic.twitter.com/0FnpmEiLLA
— England (@England) July 3, 2021
5. It’s Coming Home เล่นในบ้านตัวเอง!
มาถึงเรื่องสุดท้ายที่จะเป็น X Factor ให้กับอังกฤษได้ คือการที่พวกเขาจะได้ลงเล่นในรอบรองชนะเลิศ และหากไม่พลาดก็จะรวมถึงรอบชิงชนะเลิศด้วย ในบ้านของตัวเอง หรือที่สนามเวมบลีย์ ซึ่งจะจัดการแข่งขันใน 2 รอบที่เหลือ
พูดถึงตรงนี้แล้วต้องบอกว่าอังกฤษเองเหมือนแข่งยูโรหนนี้ในบ้านตัวเอง เพราะ 5 นัดที่ผ่านมาพวกเขาเพิ่งจะได้เล่นนอกบ้านจริงๆ แค่เกมเดียวคือเกมกับยูเครนที่มาแข่งในสนามสตาดิโอ โอลิมปิโก ในกรุงโรม นอกนั้นได้ลงสนามในเวมบลีย์ทั้งหมด
และด้วยฟอร์มการเล่น ด้วยขุมกำลังที่เพียบพร้อม คู่แข่งที่เวลานี้ต้องบอกว่าไม่ได้แข็งเกินไปนัก รวมกับบรรยากาศความคึกคักของแฟนบอลชาวเมืองผู้ดีที่กำลังตื่นตัวกันสุดๆ กับผลงานของทีมชาติที่มีโอกาส (จริงๆ) ที่จะได้ลุ้นแชมป์รายการใหญ่เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปีนับตั้งแต่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก 1966 เป็นต้นมา
ทุกอย่างมันดูเป็นใจให้อังกฤษไปหมด