หนังสือการ์ตูนเป็นหนึ่งในป๊อปคัลเจอร์ของทุกยุคสมัยมาเนิ่นนาน โดยมีอังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่เป็นหัวหอกสำคัญของการพัฒนาหนังสือการ์ตูน จวบจนถึงปัจจุบันที่วัฒนธรรมการเขียนหนังสือการ์ตูนได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งมาถึงนักเขียน/นักวาดหนังสือการ์ตูนของประเทศไทยเอง ก็มีฝีมือไม่ได้แพ้ที่ใดในโลกเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ดูเหมือนว่านานเข้าอาจถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
หนังสือการ์ตูนไทยเป็นหนึ่งในสื่อที่เหล่านักคิด นักวาด นักเขียนใช้ตีแผ่สังคม อีกทั้งยังสะท้อนกระแสนิยมทั้งความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมของคนไทย ณ ขณะนั้น รวมไปถึงเรื่องราวของ ‘การเมือง’ ที่มักจะถูกนำมาเสียดสีล้อเลียนอย่างเจ็บแสบผ่านหนังสือการ์ตูนไทยอยู่บ่อยครั้ง
นิโคลาส เวร์สแตปเปิน นักวิชาการชาวเบลเยียมที่มาตั้งรกรากที่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 ก็เป็นหนึ่งคนที่หลงใหลในลายเส้นที่มีเสน่ห์ของหนังสือการ์ตูนไทย และศึกษาวัฒนธรรมดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งได้เริ่มโครงการวิจัยระยะเวลาหนึ่งปีในชื่อ การ์ตูนไทยในศตวรรษที่ 21: ความหลากหลายและเอกลักษณ์ของนักเขียนการ์ตูนไทยรุ่นใหม่
และด้วยความช่วยเหลือชี้แนะของผองเพื่อนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญชาวไทย เขาก็รวบรวมประวัติศาสตร์หนังสือการ์ตูนไทย ที่จะพาเราย้อนกลับไปศึกษาความเป็นมาทั้งการสร้างสรรค์และการรักษาวัฒนธรรมการเขียนหนังสือการ์ตูนของคนไทยมากว่า 100 ปีได้สำเร็จ
การ์ตูน ศิลปะ และประวัติศาสตร์ เป็นหนังสือภาพสีทั้งเล่มที่มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่จะทำให้เราได้ศึกษาและหันกลับมามองเห็นความสำคัญของหนังสือการ์ตูนในประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่าจะค่อยๆ ซบเซาลงเรื่อยๆ ไปตามกาลเวลา หากใครที่สนใจสามารถสั่งซื้อหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.riverbooksbk.com
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: