วันนี้ (29 มิถุนายน) สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า #ได้ยินเสียงคนพัทยาร้องไห้บ้างไหม โดยกล่าวถึงทีมอาสาไทยสร้างไทย พัทยา ซึ่งได้เดินเท้าพบผู้ประกอบการที่พัทยา ชลบุรี เดิมจากที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทำรายได้เข้าประเทศกว่า 5.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวชลบุรีมีทั้งหมดประมาณ 19 ล้านคน โดย 9.6 ล้านคน คือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเที่ยวพัทยา ซึ่งคือจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวภาคตะวันออก
โดยทีมอาสาไทยสร้างไทย พัทยา ชลบุรี ได้เดินเท้าพบผู้ประกอบการ เพื่อสอบถามและลงพื้นที่หาข้อมูลหลังวิกฤตโควิดระบาดในรอบที่ 3 เราพบเรื่องที่น่าตกใจคือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีตัวแทนของภาครัฐเข้ามาพูดคุยกับผู้ประกอบการ ไม่มีมาตรการเยียวยา
ผู้ประกอบการบาร์ชื่อดังในเส้นถนนคนเดิน Walking Street พัทยา ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ถนนเส้นนี้คือประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว ผับ บาร์ชื่อดัง ถูกปิดทั้งเส้น ไม่มีนักท่องเที่ยวหลงเหลือสักคนเดียว รายได้ขณะนี้คือ 0 บาท ที่ผ่านมาต้องใช้เงินเก่า เอารถเอาบ้านไปจำนำ พนักงานรวมทั้งสาวตามบาร์ตกงาน บางส่วนกลับบ้านเกิด บางส่วนต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน อาศัยนอนริมหาด และรอข้าวแจกหน้าหาดพัทยา ปัญหาความเดือดร้อนยังไม่ได้รับการเยียวยา ตอนนี้รอเพียงเมื่อไรจะได้เห็นถนนเส้นนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ด้านคนขับรถรับจ้างวินมอเตอร์ไซค์ได้กล่าวว่า ปัจจุบันตนรายได้เหลือเพียงวันละ 30-80 บาท จากที่เคยมีรายได้วันละ 1,000 บาท ตอนนี้อาศัยข้าวที่แจกทาน มีหนี้สินที่เกิดจากหนี้นอกระบบ อาชีพขับวินเข้าไม่ถึงนโยบายของรัฐ เจ็บป่วยก็ต้องใช้แค่ 30 บาทรักษาทุกโรค
ส่วนพนักงานร้านบาร์กล่าวว่า เป็นยุคที่พนักงานกลางคืนตามบาร์บางส่วนต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน ไม่มีบ้านอยู่ อาศัยนอนชายหาด บางส่วนต้องไปกางมุ้งนอนตามชายเขา ก่อนหน้านี้หลังพัทยาถูกปิดได้เคยลองไปขายหาบเร่ แต่ก็เจ๊ง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว เจ้าของบาร์หลายบาร์ต้องประกาศเซ้ง ขายกิจการ ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากที่สุดตั้งแต่เกิดมา
สำหรับเมืองพัทยาเป็นพื้นที่การท่องเที่ยว โดยประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 87 ประกอบอาชีพด้านการค้าและการบริการนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการประมง และการค้าขาย ก่อนโควิดเกิดการระบาด ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 2.7 แสนบาทต่อคน การจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่าร้อยละ 90 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
สถานการณ์โควิดระลอก 3 ในตอนนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาได้ตามปกติ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของพัทยากว่า 5.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ก่อนหน้านี้ ต้นเดือนพฤษภาคม 2564 นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาได้เคยออกมาขอให้รัฐบาลเยียวยากลุ่มธุรกิจพัทยา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยว 8 องค์กรในเมืองพัทยา ได้ร่วมกันแถลงถึงผลกระทบด้านการท่องเที่ยวที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด เพื่อขอให้รัฐบาลเยียวยา หลังธุรกิจในพัทยาปิดตัวลงกว่า 80% โดยมีข้อเรียกร้อง 6 มาตรการ ดังนี้
1. ขยายเวลากองทุนประกันสังคมจ่ายเงินทดแทนลูกจ้างไปอีก 200 วัน
2. ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1%
3. ลดหย่อนค่าน้ำประปา ไฟฟ้าต่อไปถึงสิ้นปี 2564
4. ยกเว้นอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยให้เก็บค่าใช้จ่ายตามจริง
5. ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ และค่าธรรมเนียมผู้เข้าพักในโรงแรม
6. ออกมาตรการขยายเวลาการพักชำระหนี้โดยไม่เก็บดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้ใดๆ จนขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
“ดิฉันทราบจากทีมอาสาไทยสร้างไทยที่ไปลงพื้นที่ว่า ขณะนี้ทั้ง 6 มาตรการที่ผู้ประกอบการเสนอไป ภาครัฐยังไม่ได้ดำเนินการตามที่เสนอ โดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บภาษี แม้ผับ บาร์จะปิดแล้ว แต่ยังต้องจ่ายภาษี โดยเฉพาะภาษีป้าย ผู้ประกอบการบอกกับทีมอาสาไทยสร้างไทยว่า วันนี้ร้องไห้จนไม่มีน้ำตาแล้ว” สุดารัตน์กล่าว
สุดารัตน์ระบุต่อว่า นี่คือความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น ความเสียหายจนยากเกินเยียวยาของพัทยา เมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย ที่เคยสร้างเม็ดเงินให้ประเทศมากถึง 6 หมื่นล้านบาท จากเมืองที่ไม่เคยหลับใหล กำลังกลายเป็นเมืองที่กำลังจะตาย
“ดิฉันขอวิงวอนให้รัฐบาลเร่งเยียวยาตามมาตรการที่ผู้ประกอบการได้เสนอไป และหันมาเหลียวแลคนตัวเล็ก รับฟังปัญหาของพวกเขา แล้วนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของพวกเขาต่อไป เพราะเชื่อว่าเราไม่มีวันสร้างไทยให้สำเร็จได้โดยไม่มีคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้อยู่ในสมการการขับเคลื่อนประเทศนี้ค่ะ” สุดารัตน์กล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล