‘ยี่สิบสี่ มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบอารยะประชาธิปไตย
ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญ สำเริง รื่นเริง เต็มที่
เพราะชาติเรามีเอกราชสมบูรณ์
ไทยจะคงเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทิดไทย ชโย…’
ท่อนหนึ่งของเพลง วันชาติ 24 มิถุนา ประพันธ์โดย มนตรี ตราโมท ใน พ.ศ. 2483 ภายหลัง 8 ปีของวันปฏิวัติสยาม แม้ว่าในปัจจุบันวันชาติของประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี โดยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่เนื้อหาสำคัญของ ‘อดีตวันชาติไทย’ ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ในโอกาสของการครบรอบ 89 ปีที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ลองย้อนกลับมามองถึงเรื่องราวของ ‘คณะราษฎร’ ผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติสยาม บุคคลสำคัญที่เนื้อหาในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์น้อยนักจะกล่าวถึง
คณะราษฎรเป็นใคร
คณะราษฎรคือกลุ่มบุคคลผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ มาสู่ระบอบ ‘ประชาธิปไตย’ โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้ออกประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
คณะราษฎรได้วาง ‘หลัก 6 ประการ’ สำหรับการปกครองประเทศ ลงในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 นอกจากเนื้อหาของสาเหตุและการปฏิวัติยึดอำนาจ ได้แก่
- หลักเอกราช: จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
- หลักความปลอดภัย: จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
- หลักเศรษฐกิจ: จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
- หลักเสมอภาค: จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
- หลักเสรีภาพ: จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
- หลักการศึกษา: จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ความเป็นมาของคณะราษฎร
คณะราษฎรก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองและพัฒนาชาติไทยตามหลัก 6 ประการ เพื่อแก้ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลขณะที่ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจและภัยคุกคามจากต่างชาติ โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งเป็นนักศึกษาและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป มีการประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 และเห็นพ้องร่วมกันว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะต้องหลีกเลี่ยงการนองเลือด
คณะราษฎรมีใครบ้าง
จากการประชุมในบ้านพักกรุงปารีส คณะราษฎรมีผู้ก่อตั้ง 7 คน ได้แก่
- ปรีดี พนมยงค์ นักศึกษากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส (ขณะก่อตั้งคณะราษฎรมีอายุ 26 ปี) นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) นักเรียนทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส (อายุ 29 ปี) นายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งนานที่สุด 15 ปี 23 วัน
- ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี นักศึกษารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส (อายุ 29 ปี)
- ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส (อายุ 26 ปี)
- ตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (อายุ 28 ปี)
- จรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส (อายุ 28 ปี)
- แนบ พหลโยธิน นักศึกษากฎหมาย ประเทศอังกฤษ (อายุ 26 ปี)
ต่อมาคณะราษฎรได้มีการหาพรรคพวกเพิ่มเติม จนแบ่งได้ 3 สายด้วยกัน ได้แก่
- คณะราษฎรสายทหารบกจำนวน 36 คน (นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา, พ.อ. พระยาทรงสุรเดช, พ.อ. พระยาฤทธิอัคเนย์ และ พ.ท. พระประศาสน์พิทยายุทธ)
- คณะราษฎรสายทหารเรือจำนวน 18 คน (นำโดย สินธุ์ กมลนาวิน)
- คณะราษฎรสายพลเรือนจำนวน 48 คน (นำโดย ปรีดี พนมยงค์) รวมทั้งสิ้น 102 คน
ภายหลัง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 รุ่งเช้าของการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศ คณะราษฎรให้ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้นำการปฏิวัติ
ทำไมถึงต้องเป็น ‘คณะราษฎร’
- “ในการที่ผมเสนอให้คณะใช้ชื่อของคณะว่า ‘คณะราษฎร’ นั้นก็เพราะผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลายยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่า ประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไว้อย่างเหมาะสมว่า ‘รัฐบาลของราษฎร, โดยราษฎร, เพื่อราษฎร’…” (ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 หน้า 24)
- ในสมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย บุคคลไม่มีสิทธิรวมกันก่อตั้งคณะการเมือง คณะราษฎรจึงถือกำเนิดขึ้นเป็นการลับ ไม่สามารถประกาศให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกับคณะได้
- ปรีดี พนมยงค์ ยังได้ระบุไว้ภายในหนังสือ คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 อีกว่า ไม่มีตำรารัฐศาสตร์ใดสอนว่าหากจะตั้งชื่อคณะหรือพรรคการเมืองที่แปลชื่อเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘ราษฎร’ หรือ ‘ประชาชน’ ต้องเสนอให้ราษฎรหรือประชาชนจำนวนเท่าใดรับรู้ด้วยก่อน และในบางสมัยของรัฐบาลไทยยังมีการตั้งพรรคการเมืองในชื่อพรรคราษฎร, พรรคประชาชน และพรรคสหประชาไทย โดยไม่ได้มีราษฎร ประชาชน หรือประชาไทย รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด
- “…ราษฎรทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือกฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบ และตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำ ไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้าเป็นทาสของพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอาริย’ นั้นก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า” (ความตอนหนึ่งจาก ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475)
อ้างอิง:
- นคร พจนวรพงษ์, ข้อมูลประวัติศาสตร์การเมืองไทย (2549) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4
- ปรีดี พนมยงค์, คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน (2542)