นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยยังไม่ใช่คำตอบของภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้
โดย นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต ประเมินว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย เนื่องจากอัตราดังกล่าวถือว่ามีความผ่อนคลายพอสมควรอยู่แล้ว โดยเชื่อว่า กนง. จะเลือกดำเนินนโยบายทางการเงินแบบอื่น เช่น กลไก Asset Warehousing (โกดังเก็บหนี้) การช่วยลดภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้มากกว่าการลดดอกเบี้ย
“กนง. น่าจะมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระหนี้เก่าเพื่อช่วยลูกหนี้ และการเร่งผลักดันสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเป็นตัวหลักที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องมากกว่า ส่วนนโยบายดอกเบี้ยมองว่า โอกาสเดียวที่ กนง. จะปรับลดลงก่อนสิ้นปีนี้คือเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงจนสั่งล็อกดาวน์อีกครั้ง”
นริศระบุว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้การลดดอกเบี้ยยังไม่เกิดขึ้นคือภาวะเงินฝากที่ล้นระบบ โดยข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันมีวงเงินฝากที่เป็นบัญชีออมทรัพย์มีสูงถึง 7 ล้านล้านบาท หากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก คนอาจจะแสวงหาการลงทุนรูปแบบอื่นที่มีความเสี่ยงสูงแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ปรับลดลง แต่ยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบจะปรับลดลงได้อยู่ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจใช้วิธีขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินปฏิบัติตาม หรือ Moral Suasion ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การลดดอกเบี้ย MLR และ MOR ของธนาคารพาณิชย์ลงชั่วคราวในอดีต เพียงแต่ครั้งนี้โฟกัสอาจจะอยู่ที่กลุ่มสินเชื่อบุคคลประเภทต่างๆ และการให้ความร่วมมืออาจต้องครอบคลุมไปถึงกลุ่มนอนแบงก์และลีสซิ่งต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ นริศยังคาดว่า มีโอกาสที่ ธปท. จะขยายอายุมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่ง FIDF เพื่อช่วยลดภาระให้สถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินนำส่วนต่างที่ลดลงไปช่วยลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าช่วยลดภาระของลูกหนี้ โดยเชื่อว่าการลดอัตรานำส่ง FIDF ลงจาก 0.23% ก็ยังเป็นเรื่องที่ ธปท. ทำได้ แต่คงไม่ลดลงเหลือ 0% เพราะระบบการเงินไทยยังมี Overhead Cost อยู่
ด้านสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า ที่ประชุม กนง. รอบนี้น่าจะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย แต่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.50% เนื่องจากโจทย์ทางเศรษฐกิจในเวลานี้ไม่ได้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย แต่อยู่ที่การลดภาระหนี้และการเข้าถึงเงินทุน
“การลดดอกเบี้ยอาจช่วยได้ในภาวะที่เกิด Demand Shock แต่ตอนนี้ไม่ใช่โจทย์ ตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนยังมีเงินไปประคองตัวเองให้อยู่รอด ซึ่งเท่าที่ติดตาม ธปท. ก็เดินมาถูกทางแล้ว มีกลไกการช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่อง เช่น โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ แต่การส่งผ่านเม็ดเงินดูเหมือนยังทำได้ช้าอยู่ เหมือนเรามีก๊อกน้ำแล้วแต่น้ำยังไหลเบา โจทย์ตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้น้ำไหลแรงขึ้น” สมประวิณกล่าว
สมประวิณกล่าวว่า การจะผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหรือทำให้น้ำไหลแรงขึ้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเข้าไปช่วยชดเชยความเสี่ยง ช่วยค้ำประกันความเสียหายมากขึ้น การผ่อนคลายกลไกการกำกับบางอย่าง นอกจากนี้ การตั้ง Credit Mediator ขึ้นมา เพื่อช่วยแนะนำกลุ่มธุรกิจ SMEs ให้เข้าถึงสภาพคล่องได้มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้
สำหรับประเด็นที่มีข้อเสนอให้ ธปท. ทบทวนเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้นั้น สมประวิณมองว่า อาจมองได้สองมุม คือมุมหนึ่งเป็นการช่วยลดภาระลูกหนี้ อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจธนาคารต้องมีการประเมินความเสี่ยง หากดอกเบี้ยถูกลดลงมาจะทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเสี่ยงไม่ผ่านและต้องหลุดออกจากระบบไป คนกลุ่มนี้อาจหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบซึ่งอันตรายกว่ามาก
ด้านอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ต่อปีด้วยมติเอกฉันท์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากไตรมาสก่อนเนื่องจากการระบาดรอบ 3 แต่เชื่อว่าจะกระทบการบริโภคเพียงชั่วคราว ขณะที่การส่งออกขยายตัวดีกว่าคาดจากการเร่งตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน
นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนได้เร็วจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเร็ว สภาพคล่องในตลาดการเงินอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง และนโยบายการเงินได้ผ่อนคลายมากแล้ว
อมรเทพเชื่อว่า นโยบายการคลังจะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทย ขณะที่นโยบายการเงินจะมีส่วนเสริมสนับสนุนด้านการอัดฉีดสภาพคล่องให้ตรงจุด โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs และการปรับโครงสร้างหนี้ในสถาบันการเงิน
อมรเทพระบุว่า นโยบายการเงินที่มีพลังมากที่สุดในตอนนี้ไม่ใช่ดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ใช่เงินที่อัดฉีดไปสู่ระบบ และไม่ใช่ความพยายามให้เงินบาทอ่อนค่า แต่คือการสื่อสาร พูดเพื่อโน้มน้าวให้คนคาดหวังว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้น การลงทุนกำลังจะกลับมา ให้คนที่พอมีเงินมีความสามารถในการใช้จ่าย เร่งใช้จ่าย เร่งลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยทะยานขึ้นได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล