- คณะรัฐมนตรีในวันนี้ (22 มิถุนายน) มีมติเห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา
- เกณฑ์การรับนักท่องเที่ยว แบ่งเป็น 1. ก่อนเดินทางเข้าถึง ยื่นเอกสาร-รับใบอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ ยืนยันผลการอนุมัติพร้อมกับเอกสาร COE และลงทะเบียนผ่านทาง www.entrythailand.go.th
- 2. เมื่อเดินทางมาถึง ดำเนินการตามข้อกำหนดผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร ต้องติดตั้งแอปพลิเคชัน Thailand Plus ร่วมกับระบบสารสนเทศอื่นที่ทางจังหวัดกำหนด และในกรณีเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ (MorChana) เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ สนามบิน โรงแรมที่พัก หรือจุดตรวจ เดินทางเข้าที่พักที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน SHA Plus กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เข้าที่พักแบบ ALQ
- หากทราบผลแล้วไม่พบเชื้อ สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตได้ (กรณีเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า สามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการบริเวณที่พัก) พำนักในภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน กรณีอยู่น้อยกว่า 14 คืน ต้องเป็นการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรด้วยเที่ยวบินตรงเท่านั้น
- กรณีเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า วันที่ 1-3 นักท่องเที่ยวสามารถออกนอกห้องพักและใช้บริการในบริเวณที่พักได้ วันที่ 4-7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในระบบปิดตามเส้นทางที่กำหนด วันที่ 8-14 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย อำเภอเกาะพะงัน เกาะเต่า โดยไม่ต้องกักตัวแบบมีเงื่อนไข
- 3. ก่อนออกเดินทางจากจังหวัดภูเก็ต/พื้นที่ของเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ไปจังหวัดอื่นๆ ให้แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้พำนักในที่พัก SHA Plus/ALQ ตามระยะเวลาที่กำหนด และมีผลการตรวจโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด
- การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ จังหวัดภูเก็ตดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการเปิดเมือง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Tourism Sandbox) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทำหน้าที่บริหารจัดการ มอบหมายภารกิจ กำกับติดตามการเดินทางเข้า-ออก จังหวัดภูเก็ตของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยทั้งที่เดินทางจากต่างประเทศและภายในประเทศ ตั้งแต่เริ่มเข้าจนกระทั่งเดินทางออกจากจังหวัด รวมถึงจัดทำระบบติดตามผลการปฏิบัติงาน ข้อมูลการเข้า-ออกของนักท่องเที่ยว การเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ ข้อร้องเรียนหรือข้อคิดเห็นของประชาชน ตลอดจนปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติและแนวทางแก้ไข เพื่อรายงานให้ ศปก.ศบค. และผู้บริหารระดับสูงทราบอย่างต่อเนื่อง
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) มีระบบกำกับควบคุมในที่พัก (Covid Manager อาสาสมัครสาธารณสุขประจำโรงแรม) กำกับควบคุม มีระบบกำกับควบคุมในการเดินทาง Sealed Route โดยที่พักและบริษัทนำเที่ยว จัดระบบควบคุมคัดกรองด่านเข้า-ออกทางอากาศและทางเรือ ทั้ง 3 เกาะ และเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อตรวจสอบ
- ขณะที่การเตรียมความพร้อมประชาชน โดยจัดเวทีเพื่อแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการสื่อสารเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ในทุกช่องทางการสื่อสาร
- ส่วนการจัดทำแผนรับมือและแผนชะลอหรือยกเลิกโครงการจังหวัดภูเก็ต 1. กรณีมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 รายต่อสัปดาห์ 2. ลักษณะการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล 3. เกิดการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือมีการระบาดในวงกว้างหาสาเหตุหรือความเชื่อมโยงไม่ได้ 4. ความพร้อมในการรองรับผู้ป่วย มีผู้ติดเชื้อครองเตียงตั้งแต่ร้อยละ 80 ของศักยภาพ โดยมีมาตรการปรับเปลี่ยน 4 ระดับ ดังนี้ 1. ปรับลดกิจกรรม 2. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ (Sealed Route) 3. มาตรการกักตัวภายในสถานที่พัก (Hotel Quarantine) และ 4. ทบทวนยุติโครงการ Phuket Sandbox
- สำหรับเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จัดทำแผนเกณฑ์การยกเลิกการรับนักท่องเที่ยวเมื่อมีการระบาดโดยใช้ศักยภาพในการรองรับของโรงพยาบาลเกาะสมุย (โรงพยาบาลแม่ข่ายใน 3 เกาะ) เป็นเกณฑ์กำหนด โดยระบบของเกาะสมุยสามารถรองรับการติดเชื้อสะสมได้ในระบบ Samui Sealed Route Model ได้ 20 รายต่อ 2 สัปดาห์ ซึ่งสามารถรองรับการระบาดรุนแรงของโรคได้ทั้งหมดในกรณีที่ไม่มีการส่งต่อ และสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้นเมื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อและคาดการณ์ว่าจะมีการระบาดที่ระบบปกติจะไม่สามารถรองรับได้ จึงจะกลับไปใช้ระบบ ALQ ของกระทรวงสาธารณสุข
- โดยมีข้อสังเกตการณ์รับนักท่องเที่ยวที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนตามกำหนดของประเทศไทยครบ 2 เข็ม ตามประเภทวัคซีนหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด อย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยจะต้องเป็นวัคซีนที่ได้การรับรองจากองค์การอนามัยโลก
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น