×

สรุปประเด็นเสวนา ‘ทางรอดร้านอาหาร ที่รัฐบาลต้องฟัง’ บาดแผลของผู้ประกอบการในยุคโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
21.06.2021
  • LOADING...
ทางรอดร้านอาหาร ที่รัฐบาลต้องฟัง

วานนี้ (20 มิถุนายน) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย จัดงานเสวนาออนไลน์ ‘ทางรอดร้านอาหาร ที่รัฐบาลต้องฟัง’ โดยมีผู้เข้าร่วมงานเสวนาได้แก่ รณกาจ ชินสำราญ จากร้านอาหาร Maguro, อานนท์ เลิศประภากร Harry’s Bistro by ครัวต้นไม้, เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย จากแฟรนไชส์ลูกชิ้นจัง, วิน สิงห์พัฒนากุล จากร้าน Chocolate Ville โดยมี แยม-ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวและผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวเปิดงานว่า ธุรกิจร้านอาหารนั้นมีจำนวนมากตั้งแต่ร้านใหญ่ๆ จนถึงแผงลอย เฉพาะที่อยู่ในระบบนั้นสร้างรายได้ให้ประเทศถึงปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ยังไม่นับนอกระบบที่เป็นร้านเล็กๆ หรือร้านรถเข็น ทั้งยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวพันกับผู้คนมากมาย ไม่ใช่เฉพาะเจ้าของร้านหรือคนทำอาหาร แต่ยังเกี่ยวข้องกับเกษตรกร ถ้าร้านอาหารต้องล้มหายตายจากไป เกษตรกรก็จะได้รับผลกระทบทั้งทำการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ร้านอาหารและร้านธุรกิจกลางคืนได้รับผลกระทบหมด เป็นกลุ่มที่ต้องปิดก่อนและเปิดทีหลัง ทั้งยังมีผู้คนอาชีพอื่นๆ ที่อยู่ในธุรกิจเหล่านี้ เช่น นักร้อง นักดนตรี ต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยฟังว่าผู้ประกอบการที่ประสบปัญหานั้นจะทำอย่างไรที่จะช่วยประคับประคองให้รอด 

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวอีกว่า ส่วนตัวได้คุยกับผู้ประกอบการร้านอาหารมากมาย พบว่าทุกคนล้วนพยายามยื้อและรักษา ไม่ยอมปลดคนของตัวเอง แต่วันนี้ยื้อยากลำบากแล้ว จึงต้องช่วยดูแลเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้กลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง และเมื่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะกลับมาเปิดประเทศในอีก 120 วัน หากว่ายังไม่มีการเยียวยากลุ่มคนในธุรกิจเหล่านี้ หากเปิดประเทศมาก็ไม่มีร้านไหนให้บริการอย่างแน่นอน

 

สามระลอก สามรอบ ที่ร้านอาหารต้องเผชิญ

 

รณกาจ ชินสำราญ กล่าวว่า ช่วงก่อนโควิด-19 กิจการของตนได้รับความนิยมประมาณหนึ่งจากลูกค้ากลุ่มที่ชอบกินร้านอาหารญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระลอกแรกและต้องล็อกดาวน์ ก็ยินดีให้ความร่วมมือด้วยการปิดร้านไปประมาณสองเดือน ทำให้ไตรมาสที่หนึ่งและที่สองขาดทุน แต่ก็พยายามรักษาภาพรวมให้คงอยู่ได้โดยการพยายามไม่ปลดพนักงานออกเพื่อไม่ให้เป็นภาระของประเทศ เมื่อผู้ติดเชื้อน้อยลง ความมั่นใจของผู้คนเริ่มกลับมาก็ทำให้กลับมาเปิดร้านอีกได้ ทั้งนี้ ภาพรวมยอดขายลดลง 35% จนถึงสิ้นปี ทำให้ผลประกอบการหายไปเยอะมาก จนเมื่อเกิดระลอกที่สองซึ่งเป็นช่วงระยะสั้นๆ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้คนกรุงเทพฯ ยังมีความมั่นใจในการออกมากินดื่มที่ร้าน แต่ก็พบว่าคนหายไปมากขึ้น และกว่ายอดขายจะกลับมาก็ผ่านไปอีกสองเดือน ตนก็มีความมั่นใจว่าจะกลับมาฟื้นฟูได้ กระทั่งระลอกที่สามซึ่งเป็นเสมือนฝันร้าย 

 

“เดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นฝันร้าย ขาดทุนหนักมากที่สุดเท่าที่เคยผ่านมา เป็นเรื่องที่หนักมาก หนักกว่าล็อกดาวน์อีก ทั้งที่โควิด-19 ระลอกสามนี้ไม่ได้ปิดเมือง แต่ภาพรวมนั้นกระทบหนักมาก” รณกาจกล่าว 

 

“เราก็พยายามหาสาเหตุ คุยกับเพื่อนที่ทำร้านอาหารหรือแม่ค้าในตลาด ก็พบว่าช่วงระลอกสามนั้นสายป่านหมด ระลอกหนึ่งยังมีความตกใจ ใช้เงินสำรองได้อยู่ รอบสองก็ใช้เงินเก็บ แต่รอบสามนั้นไม่มีอะไรเหลือแล้ว เงินเก็บก็ไม่มี สายป่านก็ขาด ทำให้เห็นข่าวต่างๆ ว่าหลายๆ ร้านอาหารปิดตัวไป เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เช่น สถานบันเทิง ร้านนวด ที่เริ่มปิดตัวกันเยอะมาก เราก็พยายามให้ความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด รัฐออกมาตรการอะไรก็พยายามปฏิบัติตามมาโดยตลอด อยากให้ฝันร้ายนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็วเสียที” รณกาจปิดท้าย พร้อมระบุอีกว่า ที่นายกฯ แถลงเรื่องเปิดประเทศ 120 วัน ตนก็คาดหวังและเอาใจช่วยให้รัฐทำได้จริงๆ เพราะหากทำได้จริง ทุกคนในประเทศก็จะฟื้นกลับมาได้อีก

 

อานนท์ เลิศประภากร กล่าวว่า เมื่อโควิด-19 ระบาดระลอกแรกนั้นก็พยายามทำทุกวิถีทาง เช่น ส่งอาหารฟรี แต่ทำได้ประมาณสองสัปดาห์ก็พบว่าไม่ค่อยมีคนสั่งเนื่องจากตัวเลือกเยอะ ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธี แต่ก็ประคองไปและไม่ไล่คนออก แค่ลดวันทำงาน ช่วงเดือนแรกๆ ยังจ่ายเงินพนักงานให้เต็มราคา และทำให้ขาดทุนทั้งหมดในช่วงล็อกดาวน์ แต่เมื่อเปิดเมืองก็ดีขึ้น ลูกค้าเริ่มกลับมาเข้า และเมื่อเดือนธันวาคมก็โดนอีกระลอก จนครบทั้งสามระลอก โดยใช้กติกาเดิมคือขึ้นชกได้แต่ห้ามออกอาวุธ เป็นเสมือนการโดนต่อยข้างเดียว ทั้งนี้ก็พยายามทำตามมาตรการของรัฐและเข้าใจลูกค้าที่เกิดความกลัว ส่วนตัวมองว่าตนซึ่งทำธุรกิจ SMEs รอบแรกนั้นหนักที่สุด ส่วนรอบสามนั้นก็ยังแย่อยู่ดี

 

เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย กล่าวว่า ตนทำธุรกิจลูกชิ้นจังที่เปิดมากว่า 15 ปีแล้ว โดยต้องการสร้างอาชีพให้พ่อค้าแม่ค้าตามต่างจังหวัด จึงเป็นแฟรนไชส์ที่มีสมาชิก 600 กว่าชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยร้านแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ตั้งในเขตปั๊มน้ำมันต่างๆ ซึ่งเมื่อมีโควิด-19 ทำให้มีมาตรการห้ามเดินทาง จึงไม่มีลูกค้ามาซื้อของ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าของแฟรนไชส์จึงตกอยู่ในสภาวะสิ้นหวังอย่างมาก ตนเองก็พยายามปรับตัวด้วยการบริการเดลิเวอรี ซึ่งก็เป็นสงครามอีกเช่นกัน เพราะธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น พนักงานการเดินทางหรือสายการบินต่างๆ ก็หันมาทำอาหารส่งเดลิเวอรีกัน แต่เงินคนซื้อเท่าเดิมก็ต้องมีตัวหารมากขึ้น

 

“ขอเปรียบเทียบแบบนี้ สมมติเราเปิดร้านสักอย่างแล้ววันหนึ่งต้องไปขายเดลิเวอรี มันเหมือนคุณเอาสินค้าไปวางไว้แล้วบอกว่านี่คือเดลิเวอรีนะ แต่มันไม่ได้ชดเชยรายได้หลักหรืออะไรเลย เราเจอรอบแรกก็ไม่รู้ว่านานขนาดนี้ ทำทุกทางที่มีด้วยการเอาเงินในกระเป๋าไปช่วยก่อน เพราะสิทธิของนายจ้างไม่อาจเอาใครออกได้ตามใจ ต้องขอความร่วมมือจากพนักงาน แล้วพนักงานก็มีรายได้หลักจากเงินเดือน การไปขอความร่วมมือให้เขาตกงานก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือ ขณะที่นายจ้างเองไม่มีเครื่องมือในการช่วยเหลือการเงินตรงนี้ได้เลย” เจตุบัญชากล่าว 

 

วิน สิงห์พัฒนากุล กล่าวว่า ระลอกแรกที่ล็อกดาวน์ทั้งหมดนั้นคิดว่าผู้ประกอบการทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี รอบสองที่กลับมาเปิดก็รู้สึกโอเคขึ้น แต่รอบสามนั้นรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ไม่รู้จะไปจบที่ไหน เนื่องจากรอบนี้ไม่ได้กระทบแค่เจ้าของกิจการ แต่กระทบทุกคนแม้แต่พนักงานเพราะไม่มีรายได้ วันนี้ข้อแตกต่างคือเงินหมดแล้ว วันนี้เรายังเข้าถึงเงินไม่ได้ จึงมองว่าวิกฤตรอบสาม บอกให้เราปรับตัวสร้างแบรนด์ใหม่หรือส่งเดลิเวอรี ตนมองว่าไม่ตอบโจทย์เพราะแบรนด์ตนก็สร้างมาสิบกว่าปีและมีศักยภาพ ซึ่งโดนล็อกด้วยมาตรการบางอย่าง จึงมองว่า 120 วันนั้นต้องไม่ใช่แค่เยียวยา แต่ต้องทำให้ทุกคนพร้อมขายของได้เลย ไม่ใช่ว่าทำให้คนตื่นตระหนกแล้วคิดว่าต้องทำอย่างไรต่อ “ทุกวันนี้ทำธุรกิจโดยคิดว่าให้เราเลือดไหลน้อยที่สุด ช้าที่สุด แล้วก็หาเลือดใหม่ คือเงินเข้ามาเติมร่างกายเราอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด” วินกล่าว และระบุว่า การจะไปขอซอฟต์โลนสักที่นั้น หากว่ากิจการมีรายได้มากกว่าหนึ่งร้อยล้านจะถูกธนาคารตีเป็นเกณฑ์หนึ่ง แต่ถ้าต่ำกว่าก็จะถูกตีเป็นอีกเกณฑ์หนึ่ง ที่อาจจะเข้าถึงง่ายแต่ได้เงินไม่เต็มที่ ทั้งนี้ก็เข้าใจธนาคารที่กลัวว่าหากปล่อยกู้แล้วจะกลายเป็นหนี้เสีย 

 

เงินกู้ ปัญหายังแก้ไม่ตก

 

วินกล่าวว่า การขอเงินกู้นั้นจึงไม่ง่ายเลย โดยตนกู้มาเพื่อใช้ดอกเบี้ย และกู้เพื่อมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน แต่เมื่อกู้ไม่ได้ทำให้เจ้าของกิจการไม่อาจเอาธุรกิจที่มีไปทำอะไรได้เลย เจ้าของจึงต้องไปเอาทรัพย์สินส่วนตัวไปจำนองเพื่อเอาเงินมาพยุงกิจการ ตนเอาที่ดินส่วนตัวไปขาย เป็นทรัพย์สินในอดีต แต่บางคนไม่มีแบบเราก็ทำไม่ได้ 

 

“และตอนนี้พนักงานไม่อยากกลับมาทำงาน เพราะมีการแจกเงินให้คนทั่วไป เขาจึงรู้สึกว่าไม่ต้องทำงานก็ได้ ซึ่งจริงๆ เป็นมาตรการที่ดี แต่แค่ว่าเจ้าของกิจการไม่ได้ ทำให้พนักงานไม่เห็นความจำเป็นให้ต้องกลับไปทำงาน แต่ถ้าเป็นที่ประเทศอังกฤษ เขาไม่ได้แจกเงินให้คนทั่วไปง่ายๆ เขาแจกผ่านบริษัทให้บริษัทเอาเงินนี้ไปจ่ายพนักงาน ถ้าคุณลาออกก็จะไม่ได้เงิน ส่วนตัวมองว่ารูปแบบนี้ดี ก็จะทำให้พนักงานไม่ลาออก วันนี้ผู้ประกอบการจะเจอปัญหาว่าพนักงานไม่อยากกลับมาทำงาน” วินกล่าว พร้อมระบุว่า มาตรการทางการเงินจึงสำคัญมากๆ ว่าจะมีทางช่วยอย่างไรได้บ้าง เช่น งดดอกเบี้ยของหนี้ก้อนเก่าได้หรือไม่ ให้พักชำระหนี้ไปเสียก่อน หรือหนี้ในอนาคตที่เอาไปใช้เปิดกิจการนั้นควรจัดการอย่างไร แต่วันนี้ยังมั่วๆ กันอยู่ คิดว่าทางฝั่งรัฐบาลควรไปดูด้วย เช่น 120 วันที่เป็นนโยบายจากนายกฯ นั้นก็ควรมีการจัดการทางการเงินที่ดีในการให้ผู้ประกอบกิจการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง

 

เจตุบัญชาเสริมว่า รายละเอียดการกู้เงินจากธนาคารเอกชนนั้นแตกต่างกันหมด แล้วแต่โชคชะตาของผู้ประกอบการว่าอยู่ที่ธนาคารไหน เพราะมีข้อหนึ่งที่บอกว่าคนที่จะเข้าถึงสินเชื่อนี้ได้ต้องไม่มีสินเชื่อกับธนาคารอื่นๆ แต่ถ้ามีก็ต้องกลับไปหาธนาคารเก่าของเรา ดังนั้นเราจึงมีธนาคารเดียวที่พึ่งพาได้ ก่อนหน้านี้มีมาตรการพักชำระหนี้จากธนาคารแห่งชาติ แต่การพักชำระหนี้ไม่ได้หมายความว่าเราพักชำระดอก ซึ่งทุกคนก็รับได้ลำดับหนึ่ง ตนได้เข้ามาตรการพักชำระหนี้ แต่เมื่อมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ธนาคารบอกว่าไม่เข้าเงื่อนไขเพราะเข้าเงื่อนไขในการพักชำระหนี้ไปแล้ว แปลว่าเมื่อเข้าพักชำระหนี้แล้วทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูได้ ขณะที่ธนาคารอื่นๆ ไม่มี แต่ตนก็ไปหาธนาคารอื่นๆ ไม่ได้เนื่องจากเงื่อนไขดังที่กล่าวไปข้างต้น การปิดกิจการแล้วกลับมาเปิดใหม่นั้นต้องใช้เงิน ควรจะออกเป็นมาตรการเลยว่าไม่ต้องไปผ่านธนาคารพานิชย์แล้ว ให้ผู้ประกอบกิจการยื่นจำนงความต้องการอยากเข้าโครงการฟื้นฟูเพื่อให้ธุรกิจพวกนี้รอด เพราะหากไม่รอดก็ไม่มีเงินใช้หนี้ธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็จะประสบปัญหาหนี้เสียกันทั้งประเทศ เพราะหากผู้ประกอบการไม่รอดแล้วใครจะชำระหนี้กันได้ เนื่องจากเราอยากทำธุรกิจเพื่อเอาเงินไปจ่ายภาษีคืน

 

อานนท์เสริมว่า ต้องมีการเยียวยาและกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาด เพราะร้านเล็กๆ บางร้านไม่อาจเข้าถึงมาตรการการเยียวยาทางการเงินได้ ส่วนรณกาจกล่าวว่า ตนยื่นขอซอฟต์โลนตั้งแต่ช่วงแรกๆ และโชคดีที่ได้มาประมาณ 20% ของวงเงินที่ขอยื่นกู้ไป และพักต้นพักดอกอยู่ประมาณหกเดือน และมาเริ่มจ่ายเงินคืนในช่วงปลายปี ซึ่งตรงนั้นเกิดระลอกสองอีกครั้ง ตามมาด้วยระลอกสามซึ่งหนักหนาอย่างมากเพราะต้องจ่ายเองทั้งหมด ยอดขายก็ลดลงไปมาก คนไม่มีความมั่นใจและไม่กล้าออกมาใช้เงิน เนื่องจากคิดว่าสถานการณ์น่าจะลากยาวอย่างแน่นอน เงินจึงหายไปจากระบบ ไม่ได้เข้ามาที่ผู้ประกอบการหรือแม่ค้าร้านตลาดต่างๆ ตนก็พยายามหาข้อมูลด้วยการไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้าข้างทาง พบว่าสายป่านขาดและเข้าถึงวงเงินซอฟต์โลนไม่ได้เลย 

 

ขณะที่รณกาจกล่าวว่า ลองทำเป็นกองทุนสนับสนุน SMEs แทนดีกว่าไหม เพื่อให้เข้าถึงคนได้มากที่สุดในการประคองธุรกิจ ฟื้นฟูเปิดร้านใหม่และดูแลกิจการของตนให้ยืนระยะและผ่านไปได้ ตนทำธุรกิจขนาดกลางก็มีแรงงานพนักงานในธุรกิจด้วย เมื่อสายป่านขาดก็ส่งผลต่อชีวิตและครอบครัวของพนักงานด้วย ตนมีพนักงานประมาณสามร้อยคน ก็ต้องพยายามประคองต่อไป มาตรการทางการเงินแม้สนับสนุนแต่เข้าถึงยากหรือเข้าถึงไม่ได้จริงนั้นก็ทำให้ยากเข้าไปอีก เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่เขาไม่มีจริงๆ นั้นเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้

 

มาตรการรับมือกับ 120 วันภายหน้า

 

รณกาจกล่าวว่า แม้รัฐจะมีมาตรการผ่อนคลายแต่คนไม่มั่นใจก็ไม่ออกมาใช้เงิน ทำให้ไม่มีลูกค้า รัฐจึงต้องสร้างความมั่นใจให้คนกล้าออกไปใช้เงิน ตนก็พยายามเอาใจช่วยรัฐมาตลอดแต่รัฐกลับแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่รู้ว่าติดขัดตรงไหน อยากให้รัฐบาลได้มาเจอปัญหาจริงๆ เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร โดยอานนท์เสริมว่า สำหรับการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจ ตนก็ออกมาตรการ 30 วัน ใครที่ฉีดวัคซีนแล้วสามารถโชว์ข้อมูลให้ทางร้าน ทางร้านจะแจกส่วนลดต่างๆ ให้ ตนบอกพนักงานทุกคนให้ไปลงทะเบียนฉีดวัคซีน แต่กลับพบว่าโดนเลื่อนการฉีดวัคซีนทั้งที่ทุกคนก็ลงทะเบียนได้ 

 

“การที่ลูกค้ามากินในร้านอาหารนั้นเป็นเรื่องความเชื่อมั่น ที่ผ่านมายอดตกมาตลอด ถ้าไม่มีวัคซีนก็ไม่เกิดความเชื่อมั่นใดๆ อย่างแน่นอน” อานนท์กล่าว 

 

ขณะที่เจตุบัญชาเสริมว่า หากจะพยุงให้รอดไปถึงวันเปิดประเทศได้นั้น อาจต้องขอความช่วยเหลือกจากกระทรวงแรงงาน เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการจ่ายทบประกันสังคมไปตลอด ถึงเวลานี้เราต้องการความช่วยเหลือจากประกันสังคมบ้าง เช่น ออกมาตรการประคองไว้ก่อนเพื่อลดค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของผู้ประกอบการทุกคน เพื่อให้ทุกคนพยุงตัวเองไปถึงวันเปิดประเทศได้ ที่ผ่านมาในสถานการณ์ปกติ เราไม่สามารถปรับลดพนักงานตามอำเภอใจ หรือลดเงินเดือนโดยไม่มีเหตุเหมาะสมได้ และเป็นมาตรการที่ตนก็เคารพเสมอมา แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาเงินสดขาดมือ และไม่ได้อยากไล่คนออก เมื่อรายได้หายไป 80% ก็อยากถามว่าจะเอาเงินจากไหนไปจ่ายพนักงาน ทั้งการจะจ้างพนักงานออกก็ใช้เงินมหาศาล 

 

“สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือเรียกกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน แล้วดูว่าจะทำอย่างไรให้ผ่านสามเดือนให้ได้ ให้เงินฉีดเข้าสู่ระบบได้เร็วที่สุด เพราะเราเองก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้ครบ 60 วันหรือไม่ อย่าว่าแต่ 120 วันเลย นึกภาพว่าทุกวันนี้ต่างเปิดร้านประคองชีวิต แต่ถ้าวันพรุ่งนี้ประกาศขอปิดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีเงินแล้ว ถามว่าแฟรนไชส์ทั้งหมดจะอยู่อย่างไร คนที่ซื้อแฟรนไชส์เราไปก็ต้องตกงานหมด ไม่มีความหวัง ค่าเทอม ค่าบ้านก็ยังไม่ได้จ่าย หรือหากคนหยุดกิจการไปหนึ่งคนก็อาจจะรอด แต่เท่ากับเราต้องยอมทิ้งคนที่ซื้อแฟรนไชส์อีก 600 กว่าชีวิตไป และวันที่เปิดประเทศ ความน่าเชื่อถือตนก็ไม่เหลือแล้ว” เจตุบัญชากล่าวพร้อมระบุว่า ถ้ารัฐบาลเป็นรัฐบาลที่ดี ประชาชนคงอยากเป็นประชาชนของรัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฟัง ไม่แก้ ก็ไม่แน่ใจว่าประชาชนจะยังอยากเป็นประชาชนของรัฐบาลอยู่หรือไม่ และจะเดือดร้อนรัฐบาลในที่สุด รัฐบาลจึงต้องทำให้เห็นว่าคิดอย่างรอบด้านแล้วจริงๆ ว่าจะแก้ปัญหาวิกฤตนี้ไปให้ได้

 

วินปิดท้ายว่า วัคซีนจะเป็นทางออกที่ชัดที่สุดตอนนี้ และต้องจริงใจอย่างมากด้วย ที่ผ่านมาการแจกจ่ายวัคซีนก็ไม่แน่นอน พนักงานบางคนลงทะเบียนฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ก็ไม่ได้รับ ตนก็เรียกพนักงานมาเตรียมเปิดร้านแต่ก็เปิดไม่ได้ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายขึ้น และไม่มีการเยียวยาใดๆ เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ 

 

“ภาระแรงงานควรเป็นเรื่องที่หน่วยงานเข้ามาดูแลให้เปล่า 120 วันนี้หากไม่ให้เปล่าแล้วให้ไปพึ่งกระบวนการเงินกู้ก็จะกลับมาเจอปัญหาเดิมๆ คือไปกู้แล้วเอาเงินมาจ่ายค่าใช้จ่ายก็ไม่จบ ขณะที่อังกฤษนั้นเป็นเงินให้เปล่า จึงออกมาตรการพิเศษออกมา อยากให้รัฐบาลกลับไปคิดเยอะๆ ว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างไรโดยไม่ต้องผ่านธนาคารพาณิชย์

 

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวปิดท้ายว่า มีผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กอีกมากที่กำลังจะหมดลมหายใจ วันนี้ที่จัดงานเสวนาเพื่อสะท้อนปัญหาของแต่ละคน ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำเงินให้ประเทศชาติหลายแสนล้านบาทต่อปี จึงอยากชวนมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเหล่านี้อยู่รอดไปจนถึงวันที่เราสยบโควิด-19 และกลับมาทำมาหากินได้ เพราะแต่ละคนแบกรับภาระทั้งการเงินและชีวิตของคนอีกหลายครอบครัวมาก หากเกิดการปิดกิจการเพื่อไม่ให้เลือดไหล ขาดทุนอีก ผู้ประกอบการอาจรอดเพียงคนเดียว แต่พนักงานก็ต้องหยุดและต้องตกงานไปด้วย ไม่มีใครทำได้หรอกเนื่องจากความผูกพัน และอยากให้รัฐบาลมองว่าพวกเขาช่วยทำงานให้รัฐบาล ทั้งหาเงินภาษี รับผิดชอบชีวิตคนงานกับลูกจ้างแทนรัฐบาล

 

“อยากให้รัฐบาลได้เห็นสภาพข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการขนาดกลางยังยากลำบากขนาดนี้ แนะว่าต้องหยุดเลือดไม่ให้ไหล ช่วยผู้ประกอบการพักหนี้ หยุดภาระทั้งต้นและดอก แล้วเติมเลือด เติมเงินเข้าระบบให้ผู้ประกอบการ ให้ทุกคนทำมาหากินและดูแลพนักงาน ทำกิจการต่อไปได้ แขกรับเชิญที่นั่งกันอยู่นี้ประเมินว่ามีการจ้างงานไม่ต่ำกว่าสามพันครอบครัว แล้วสามพันครอบครัวนั้นถ้าตกงานจะเป็นภาระต่อรัฐขนาดไหน การจะเข้ามาช่วยนั้นต้องขอร้องให้รัฐช่วยเรื่องการพักหนี้ การให้สินเชื่อ เรื่องเงินให้เปล่าในการเตรียมความพร้อมเตรียมเปิดประเทศใน 120 วัน แต่ถามว่าจะรอดถึง 120 วันหรือไม่ ก็ต้องขอร้องให้รัฐบาลช่วยเยียวยาผู้คนเหล่านี้ด้วย และสุดท้ายวัคซีนคือคำตอบ ถ้าวัคซีนยังไม่แน่นอนก็ยากลำบากอย่างแน่นอน” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X