ย้อนกลับไปเมื่อช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ (8 มิถุนายน) ProPublica องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สำนักข่าวเชิงสอบสวนกรณีความไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เผยแพร่บทความ ‘The Secret IRS Files: Trove of Never-Before-Seen Records Reveal How the Wealthiest Avoid Income Tax’ ว่าด้วยเรื่องกลยุทธ์การเลี่ยงภาษีของเหล่ามหาเศรษฐีในสหรัฐฯ ที่มีทริกลดละเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ของตัวเองแบบเหนือความคาดหมาย
ทั้งยังทำให้ภาพความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้นอีกหลายเท่าตัวจากบทความนี้ โดยเฉพาะประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่ควรจะมีมาตรฐานและมาตรการการจัดเก็บภาษีที่เที่ยงตรง เป็นธรรม แต่ก็ไม่วายมีช่องโหว่ให้เหล่าอภิมหาเศรษฐีใช้ในการเลี่ยงจ่ายเงินออกจากกระเป๋าของตัวเองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยวิธีการที่ทำได้เฉพาะ ‘คนรวย’ เท่านั้น
รวมถึงการทำลายความเชื่อที่ผิดๆ ว่า คนรวยจ่ายภาษีมากกว่าคนจน ผู้มีรายได้น้อย ฐานะปานกลาง ทุกคนอยู่ในระบบการจัดเก็บภาษีที่เท่าเทียม ยุติธรรรม
ผลลัพธ์ของกลยุทธ์เลี่ยงจ่ายภาษีดังกล่าวจึงทำให้มหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon ไม่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลในปี 2007, 2011 และ 2018 ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเบอร์สองของโลกผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ที่ก็เลี่ยงการจ่ายภาษีในปี 2018 ด้วยวิธีการที่แยบคายไม่ต่างกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีอภิมหาเศรษฐีอีกมายมาที่ทำแบบเดียวกันเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี เช่น คาร์ล ไอคาห์น, ไมเคิล บลูมเบิร์ก, จอร์จ โซรอส หรือแม้กระทั่ง วอร์เรน บัฟเฟตต์
เทียบให้เห็นภาพมากขึ้นคือ ณ สิ้นปี 2018 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในสหรัฐฯ 25 คน มีทรัพย์สินรวมกัน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่ากับรายได้ต่อปีของพลเมืองอเมริกันทั่วๆ ไป 14.3 ล้านคนรวมกัน
แต่ภาษีที่ 25 คนนั้นจ่ายไปทั้งสิ้นอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ตรงข้ามกับ 14.3 ล้านคนที่เหลือที่ต้องจ่ายภาษีสูงเฉียด 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
แล้วกลวิธีที่เหล่าอภิมหาเศรษฐีใช้เพื่อให้ตัวเองควักกระเป๋าสตางค์จ่ายภาษีให้น้อยที่สุดอย่างไม่เป็นธรรมมีอะไรบ้าง?
ProPublica ได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลขนาดมหาศาลเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการคืนภาษีให้กับกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยและมั่งคั่งที่สุดในประเทศหลายพันคน ซึ่งเป็นชุดข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา (ส่วนหนึ่งแหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัวตนได้ส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับพวกเขา) ซึ่งจะเผยให้เห็นว่า คนระดับบัฟเฟตต์, บิล เกตส์ หรือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีรายรับ ภาษี การลงทุน ซื้อขายหุ้น ชนะการพนัน ฯลฯ แจกแจงเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนในด้านการเงินของพวกเขา
ซึ่งแม้จะถูกตั้งคำถามโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหนึ่งในมหาเศรษฐีที่ถูกกล่าวถึงว่าวิธีการของ ProPublica ในการเข้าถึงข้อมูลนั่นเข้าข่ายการ ‘ละเมิดความเป็นส่วนตัว’ หรือไม่นั้น แต่ ProPublica ก็ออกมายืนกรานหนักแน่นว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นให้ความระมัดระวังกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน เนื้อหาทั้งหมดที่เผยแพร่ออกไปก็เพื่อการที่พวกเขาเลือกที่จะยืนหยัดรับใช้สาธารณชน และเปิดโปงข้อมูลที่ผู้คนควรจะต้องรู้เป็นหลัก
สำหรับวิธีการเลี่ยงจ่ายภาษีในอัตราที่สูงลิ่ว (หรือบางปีก็ไม่ต้องจ่ายเลย) ของอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้จะประกอบไปด้วย 3 กลวิธี คือ ‘ซื้อ, กู้, ตาย (Buy, Borrow, Die)’ ตามการให้คำนิยามของ เอ็ดเวิร์ด แมคแคฟเฟอรี ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายภาษีอากร จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย
โดยกลวิธีที่ ProPublica เน้นเปิดโปงเป็นพิเศษคือ ‘การกู้ยืม’ เพราะมีรายละเอียด ขั้นตอน และกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่เกี่ยวพันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของการเลี่ยงการจ่ายภาษีในอัตราที่สูง และเราจะอธิบายในลำดับถัดไป
1. ซื้อ – เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ซึ่งทาง ProPublica ไม่ได้ลงรายละเอียดเชิงลึกมากนัก โดยส่วนใหญ่มหาเศรษฐีหรือคนรวยจะเลือกใช้วิธีนี้ในการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ที่มีราคาสูง เช่น รถหรู คฤหาสน์ ที่ดิน ลงทุนในบริษัทของตัวเอง หรือแม้แต่การเสี่ยงดวงด้วยวิธีต่างๆ
เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งของตัวเองไปเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์เพื่อเก็บมูลค่าเงินในสิ่งของต่างๆ และตราบใดที่พวกเขาไม่ได้นำพวกมันออกไปขายทอดตลาด มันก็ยังคงถือเป็นสินทรัพย์ส่วนตัวที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีแต่อย่างใด (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่บวกไปในราคาของสินค้าชิ้นนั้นๆ แล้ว)
2. กู้ยืม – นี่คือกลวิธีหลักที่เป็นหัวใจของการเลี่ยงภาษีโดยเหล่าอภิมหาเศรษฐี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกใช้วิธีนี้กัน แต่น้อยคนนักที่จะรู้ (โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มีฐานเงินเดือนหรือรายรับสูงๆ) ทั้งยังสัมพันธ์กับเงินเดือนหรือรายรับที่พวกเขาได้ในแต่ละเดือน
วิธีการคือ ProPublica ระบุว่า เหล่ามหาเศรษฐีหรือผู้บริหารบริษัทจะเลือก ‘รับเงินเดือน’ ของตัวเองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (บางรายก็เลือกที่จะรับเป็นกิมมิกที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน)
ตัวอย่างเช่น เบโซส์ ที่เลือกรับรายได้ต่อปีที่ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.51 ล้านบาทมานานนม (ไม่ถือว่าสูง เพราะเป็นอัตรารายได้เฉลี่ยของพลเมืองอเมริกันฐานะปานกลาง)
ส่วนซักเคอร์เบิร์ก, แลร์รี เอลลิสัน (Oracle) และแลร์รี เพจ (Google: Alphabet) เลือกรับรายได้แค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น นั่นหมายความว่าเดือนๆ หนึ่งรายได้ของพวกเขายังไม่พอกับการโดยสารรถไฟฟ้าในบ้านเราเลยด้วยซ้ำ!
แต่ที่ต้องเลือกวิธีนี้ก็เพราะ ProPublica ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาต้องการโชว์สปริต จิตวิญญาณการเสียสละเพื่อองค์กรเท่านั้น เพราะหากบรรดามหาเศรษฐีคนรวยในสหรัฐฯ เลือกรับรายได้ต่อเดือน ค่าจ้างตอบแทนที่สูง พวกเขาก็จะต้องจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงแบบเท่าทวีตามขึ้นไปด้วย และเมื่อการจัดเก็บภาษีไม่ได้คำนวณจากความมั่งคั่งของตัวบุคคล (สินทรัพย์อื่นๆ นอกเหนือจากรายรับ) มันจึงเป็นช่องโหว่ให้เกิดกลวิธีนี้ขึ้นมา
ณ สิ้นปี 2018 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของประเทศสหรัฐฯ รายงานข้อมูลต่อกรมสรรพากรว่าพวกเขามีรายรับรวมทุกคนที่ 158 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่เงินส่วนนี้เป็นเพียงแค่ 1.1% จากรายได้หรือสินทรัพย์ที่พวกเขามีเท่านั้น เนื่องจากพวกเขายังมีรายได้จากการปันผล มูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น การขายหุ้นและพันธบัตร หรือการลงทุนอื่นๆ อีกมาก ซึ่งมีการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าอัตรารายได้ต่อปี
ตัวอย่างที่เทียบมิติความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน คือ สมมติ นาย A มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือน (ยกตัวอย่างเป็นเงินไทยเพื่อให้อิงกับบริบทของผู้อ่าน) พวกเขาจะต้องจ่ายภาษีให้กับประเทศที่ 14% หรือราว 4,200 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละวันแต่ละเดือนแล้ว ก็จะเหลือเงินออมน้อยมากๆ ครั้นหันไปดูข้อมูลความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นจากสินทรัพย์ ส่วนใหญ่จะมีแค่ ‘บ้าน’ หรือที่ดิน ที่ไม่ได้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งที่สูงแบบก้าวกระโดดสักเท่าไร
ขณะที่เทียบอัตรารายได้ในสัดส่วนเดียวกัน หากเบโซส์มีรายได้ 30,000 บาทต่อเดือนเท่ากัน แม้ว่าเขาจะต้องจ่ายภาษีสูงกว่าที่ 21% หรือราว 6,300 บาท แต่นั่นก็เป็นจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยมากๆ เพราะจริงๆ แล้วรายได้หลักหรือความมั่งคั่งของเบโซส์ไม่ได้มาจากเงินเดือนตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น (ย้อนกลับไปอ่านใน 2 พารากราฟก่อนหน้า)
เบโซส์เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีมากๆ โดยเฉพาะหากเรานำข้อมูลความมั่งคั่งของเขาในช่วง 12 ปีออกมากางแผ่หลาดู (2006-2018) ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นของ Amazon กำลังพุ่งทะยานต่อเนื่อง ก็จะพบว่า เขามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่กลับเลือกจ่ายภาษีเท่าเดิมในอัตราที่น้อยมากๆ เพราะรายรับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย (ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น ≠ รายได้)
คำถามก็คือ ถ้าพวกเขามีรายได้ต่อเดือนต่ำมากๆ แต่มีความมั่งคั่งที่สูง การนำความมั่งคั่งไปขายแปลงเป็นเงินก็จะทำให้พวกเขาต้องจ่ายภาษีอยู่ดี เช่นนั้นแล้วเขามีวิธีการเลี่ยงจ่ายภาษีให้น้อยที่สุดด้วยวิธีไหนกัน ที่ไม่ต้องขายหุ้นออกไป แต่ยังใช้ชีวิตอู้ฟู่ได้อย่างน่าอิจฉา?
ProPublica อธิบายต่อไปว่า กลวิธีที่ซับซ้อนแต่ให้ผลดีมากที่สุดสำหรับคนรวยเหล่านี้คือการไป ‘กู้เงิน’
แม้ฟังแล้วเจ็บปวดใจไม่น้อย แต่ก็ยอมรับว่า การกู้เงินสำหรับปุถุชนทั่วไปอย่างเราๆ เป็นไปเพื่อความจำเป็นบางอย่าง ทั้งเพื่อการเล่าเรียน ซื้อรถ ผ่อนบ้าน ทำธุรกิจ หรือเพื่อธุระอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ
แต่สำหรับอภิมหาเศรษฐีในอเมริกัน การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เป็นวิธีการที่พวกเขาจะสามารถใช้เพื่อให้ตัวเองมีเงินจับจ่ายใช้สอยได้อย่างสุขอุรา โดยไม่ต้องรับเงินเดือนในปริมาณที่สูง หรือจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงเท่าๆ กัน
ยกตัวอย่างคือ สมมติ นาย B มีรายได้ 314 ล้านบาทต่อปี จากการเป็นผู้บริหารให้กับบริษัท BBB เขาจะต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐสูงกว่า 37% หรือในที่นี้จะเทียบเท่ากับ 116.18 ล้านบาทเลยทีเดียว
หรือหากนาย B ขายหุ้นของบริษัท BBB แบบบิ๊กล็อตออกไปด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ แม้เขาจะได้เงินกลับเข้าสู่กระเป๋าสูงมากๆ แต่ก็ต้องจ่ายภาษีให้กับรัฐถึง 20% จากกำไรของหุ้นที่ขายได้อยู่ดี แถมยังเสียสิทธิ์โหวตในการควบคุมบริหารตามสัดส่วน % ของหุ้นที่ขายออกไปอีกด้วย
ตรงกันข้าม ถ้านาย B เลือกกู้ยืมเงิน 314 ล้านบาทจากสถาบันการเงินต่างๆ เขาจะเสียดอกเบี้ยที่เลขหลักเดียว หรือในที่นี้ ProPublica เคลมว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3% เท่านั้น แถมไม่ต้องเสียภาษีอีกต่างหาก เนื่องจากการกู้จะต้องจ่ายเงินคืน ไม่นับเป็นรายได้ (เงินกู้ ≠ รายได้ อีกเช่นกัน)
และถึงแม้บังคับว่าต้องมีหลักทรัพย์ประกันมาค้ำการกู้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดสำหรับคนรวยเหล่านี้ (อย่าลืมว่าพวกเขายังมีสินทรัพย์อีกมากที่ซื้อมาจากกลวิธีในข้อที่ ‘1.ซื้อ’ รวมถึงการนำหุ้นตัวที่มีมูลค่าสูงๆ ที่ถืออยู่มาค้ำไว้)
นั่นเท่ากับว่า 314 ล้านบาทที่ยืมมา นาย B จะต้องเสียดอกเบี้ยเพียง 9.42 ล้านบาทเท่านั้น น้อยกว่าภาษีที่เขาต้องจ่ายให้รัฐ หากเลือกรับเป็นช่องทางรายได้ปกติกว่า 10 เท่าตัว!
ไม่แปลกที่ ProPublica จะเปิดเผยว่า ในปี 2014 เอลลิสันจาก Oracle วางหุ้นของเขาเป็นวงเงินค้ำประกันเพื่อแลกกับเงินกู้ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่นเดียวกับ อีลอน มัสก์ ที่นำหุ้น 92 ล้านหุ้นของ Tesla ที่ถืออยู่ไปเปลี่ยนเป็นหลักประกันกู้เงินสินเชื่อส่วนบุคคล 5.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2021
โดยสรุปก็คือ กลุ่มมหาเศรษฐีเหล่านี้ใช้การกู้ยืมเงินด้วยการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้มีเงินใช้จ่ายตามต้องการ แทนที่จะมีรายได้ต่อเดือนสูงๆ เพื่อลดเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ในอัตราที่สูงให้กับรัฐบาล
3. ตาย – คงไม่ใช่วิธีที่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่เหล่าอภิมหาเศรษฐีจะทำกันเพื่อเลี่ยงการจ่ายภาษี แต่ตายในบริบทนี้คือ หากสมมติเหล่าคนรวยต้องจากโลกนี้ไปด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม พวกเขาจะสามารถส่งต่อมรดกความมั่งคั่งให้กับลูกๆ หลานๆ โดยแทบจะไม่ต้องเสียภาษีเลยด้วยซ้ำ
เช่น สมมติว่า ในตอนที่มหาเศรษฐีนาม ‘นาย C’ ยังมีลมหายใจอยู่ เขาขายหุ้นหรือสินทรัพย์ใดๆ ออกไป นาย C จะต้องจ่ายภาษีให้จากกำไรที่ได้รับ 20% ให้กับประเทศ
แต่เมื่อ นาย C ตายไปแล้ว นาย D หรือ นาย E ที่เป็นทายาทก็จะได้รับสินทรัพย์ต่อจาก C จะเป็นหุ้น บ้าน รถ ที่ดิน ฯลฯ ก็ตามแต่ โดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษี แม้ว่าสินทรัพย์เหล่านั้นเมื่อถูกขายทอดตลาดจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในสัดส่วนเท่าใดก็ตาม
นอกเหนือจากนี้ก็ยังมีวิธีการจัดตั้ง ‘มูลนิธิการกุศล’ ขึ้นมาในระหว่างที่นาย C ยังมีลมหายใจ แล้วบริจาคให้กับสังคมอยู่เรื่อยๆ เพื่อที่ในบั้นปลายชีวิต หากนาย C เสียชีวิต เขาก็ไม่จำเป็นจะต้องจ่ายภาษีกองมรดกซึ่งมีอัตราที่สูงมากๆ หรือราว 40% (Estate Tax; ภาษีกองมรกดาในสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นจากการโอนมรดกของบุคคลที่เสียชีวิตให้กับทายาท)
วิธีการเลี่ยงภาษีอสังหาริมทรัพย์นี้ยังใช้ได้ด้วยกับการลงทุนในกองทุนที่มีความซับซ้อน ที่เหล่าผู้จัดการกองทุนเพื่อความมั่งคั่งทั้งหลายแนะนำกับลูกค้ามหาเศรษฐีของพวกเขา เพื่อช่วยให้ลูกหลาน บรรดาทายาทของเหล่าคนรวยไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง โดยข้อมูลจากกรมสรรพากรที่ ProPublica รวบรวมมาพบว่า มีกองทุนไม่ต่ำกว่าหลายร้อยกองทุนที่เข้ามามีเอี่ยวในบริบทนี้
ทั้งหมดนี้ถือเป็นกลวิธีที่ทำให้เหล่ามหาเศรษฐี คนรวยผู้มีอันจะกินทั้งหลาย สามารถใช้ทริกหรือวิธีการที่ทำให้พวกเขาสามารถเลี่ยงการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงได้ แม้ว่าจะมีเงินเข้ากระเป๋าสตางค์ของตัวเองเยอะกว่าปุถุชนทั่วๆ ไปก็ตาม
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันอย่าง โจ ไบเดน มีความพยายามที่จะเร่งเดินหน้ากระบวนการการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกับทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น (รวมถึงภาษีสำหรับคนรวยเหล่านี้ด้วย)
หากสนใจข้อมูลในบทความนี้เพิ่มเติมสามารถศึกษาด้วยตัวเองได้ที่ https://www.propublica.org/article/the-secret-irs-files-trove-of-never-before-seen-records-reveal-how-the-wealthiest-avoid-income-tax หรือ https://www.propublica.org/article/you-may-be-paying-a-higher-tax-rate-than-a-billionaire
โดยที่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ProPublica ให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะใช้คลังข้อมูลขนาดมหาศาลของกรมสรรพากรที่พวกเขาได้รับมาใช้ในการสำรวจลงดีเทลในเชิงรายละเอียดให้ลึกขึ้นในทุกๆ มิติว่า เหล่าเศรษฐีทั้งหลายหลีกเลี่ยงภาษี และหาช่องโหว่ในระบบ รวมถึงหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีของรัฐบาลกลางได้อย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.propublica.org/article/the-secret-irs-files-trove-of-never-before-seen-records-reveal-how-the-wealthiest-avoid-income-tax
- https://www.propublica.org/article/why-we-are-publishing-the-tax-secrets-of-the-001
- https://www.propublica.org/article/you-may-be-paying-a-higher-tax-rate-than-a-billionaire