วันนี้ (18 มิถุนายน) ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เปิดเผยถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าให้เป็นไปตามหลักการที่ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาได้วางไว้ คือในวันที่ 22 มิถุนายนนี้จะเป็นการพิจารณากฎหมายและสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ค้างอยู่ ในส่วนของการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะนำมาพิจารณาในสองวันคือวันที่ 23 และ 24 มิถุนายนนี้
สำหรับการพิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ในส่วนของวุฒิสภาไม่เคยมีการนัดหารือกำหนดทิศทางในการลงมติร่วมกันผ่านที่ประชุมวิปวุฒิสภามาก่อน โดยให้เป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่ง ส.ว. ก็จะดูในภาพรวมของการประชุมวันนั้นว่ามีการอภิปรายและพูดคุยกันอย่างไรเพื่อนำสู่การลงมติ
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ พรเพชร ยังกล่าวถึงกรณีการเสนอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล ก็ต้องรับฟังและเคารพทางความคิด ในขณะเดียวกันที่มี ส.ว. บางรายออกมาตอบโต้ในประเด็นเรื่องปิดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิก ซึ่งการแสดงความเห็นดังกล่าวก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ ส.ว. จะนำมาใคร่ครวญดูว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจะต้องมาพิจารณาดูว่าขัดต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ และขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวุฒิสภาจะเน้นให้ความสำคัญไปที่ข้อกฎหมาย ซึ่งไม่ต้องการให้กฎหมายถูกตีตกหรือเป็นโมฆะ โดยส่วนตัวได้ทำงานเกี่ยวกับด้านกฎหมายมามากกว่า 30 ปี จึงไม่ต้องการที่จะเห็นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่อยู่ในการพิจารณานั้นเป็นโมฆะ
“ที่ผ่านมาในครั้งที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายเป็นหลักในสมัยนั้น ผมพยายามทุกอย่างเพื่อไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญและผมก็ทำได้” ศ.พิเศษ พรเพชร กล่าว
ทั้งนี้ ศ.พิเศษ พรเพชร ยังได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า วุฒิสภาควรที่จะมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นการชักจูงสมาชิกท่านอื่น
อย่างไรก็ตาม ศ.พิเศษ พรเพชร กล่าวว่า ทางวุฒิสภาจะมีการร่วมหารือในประเด็นเรื่องมาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จะเป็นเพียงการขอให้ ส.ว. กลับไปศึกษา และอ่านประเด็นดังกล่าวควบคู่กับศึกษาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร ว่าสามารถเป็นไปตามหลักกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งหากขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ไปว่ากันที่ศาล
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์