1
บนผนังห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ (St. George’s Medical School) ในย่านทูทติง (Tooting) ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน มีหนังของวัวตัวหนึ่งติดประดับอยู่
หนังวัวก็คือหนังวัว – หลายคนอาจคิดอย่างนั้น และไม่เห็นความสำคัญใดๆ ของหนังวัวตัวนี้
มันคือวัวกลอสเตอร์ (Gloucester Cow) ที่มีชื่อน่ารักว่า บลอสซัม (Blossom) แต่ไม่ใช่ความน่ารักของบลอสซัม หรือความสวยงามของผืนหนังของมันหรอก ที่ทำให้หนังวัวอายุมากกว่าสองร้อยปีผืนนี้ได้รับการดูแลอย่างดี
แต่เพราะบลอสซัมเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของวัคซีนอย่างลึกล้ำ และจะว่าไป ก็เป็นมันนี่เองที่ทำให้ผู้คนนับพันล้านต้องเป็นหนี้บุญคุณ และยังคงเป็นหนี้บุญคุณของบลอสซัมมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ – วันที่ไวรัสชนิดใหม่กำลังแพร่ระบาดหนัก เพราะเราต้องการวัคซีนอย่างเหลือเกิน
และบลอสซัมก็มีส่วนอย่างใหญ่หลวง ในการทำให้วัคซีนได้ก่อกำเนิดขึ้นมา
2
ในนิยายจีนกำลังภายใน มักจะมีจอมมารที่ใช้พิษได้เก่งกาจ และมีความทนทานต่อพิษได้มากกว่าคนทั่วไป สาเหตุที่จอมมารทนพิษได้มากกว่าคนทั่วไป นิยายมักอธิบายว่าเป็นเพราะจอมมารค่อยๆ รับพิษเข้าร่างกายทีละน้อยมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นร่างกายเลย ‘ทน’ ต่อพิษได้มากกว่าคนปกติธรรมดา
คำอธิบายในนิยายฟังดูสมกับเป็นนิยาย ทว่าแม้จะเกินจริงไปบ้าง แต่โดยตัว ‘หลักการ’ ของมันแล้ว กลับมีความเป็นวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่
เราอาจรู้ว่าคนที่ได้ชื่อว่าคิดค้นวัคซีนคนแรก คือผู้ชายผิวขาวที่มีชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แต่เขาไม่ใช่คนแรกหรอกที่ค้นพบ ‘หลักการ’ แบบเดียวกับที่จอมมารในนิยายใช้
เรื่องที่ใกล้เคียงกับเรื่องของจอมมารข้างต้นมากที่สุด ก็คือหลักฐานที่บอกว่า พระในพุทธศาสนาของอินเดียสมัยโบราณจะดื่มพิษงูปริมาณน้อยๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการถูกงูกัด ซึ่งในสมัยโน้นไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ หรอก แต่เราคิดว่าการทำให้ร่างกาย ‘คุ้นเคย’ กับบางสิ่งมากพอ ก็จะทำให้เราทนรับมันได้
ถ้าย้อนกลับไปเป็นพันๆ ปี มีหลักฐานว่า ชาวจีนใช้วิธี ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ กับโรคฝีดาษ ด้วยการเอาหนองที่ได้จากผู้ป่วยป้ายเข้าไปในจมูก หรือในบางกรณีก็นำมาป้ายที่แผลบนผิวหนังเพื่อให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคออกมา แต่ถ้าอยู่รอดปลอดภัยได้ก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนั้นอีก เรายังพบวิธีปฏิบัติเดียวกันนี้ได้ในอินเดีย แอฟริกา และตุรกีด้วย
วิธีที่ว่าคือ การทำให้ผิวหนังแยกออกจากกันโดยการผ่า แล้วป้ายแผลที่ผิวหนังด้วยหนอง วิธีนี้เรียกว่า Inoculation หรืออีกคำหนึ่งคือ Variolation ซึ่งในภาษาไทยเราแปลว่าการปลูกฝี เพราะเป็นวิธีที่เริ่มใช้กับโรคฝีดาษก่อน
คำว่า ‘ปลูกฝี’ นั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะหากเราคิดว่าฝีดาษเป็นโรค เราก็ควรอยู่ห่างไกลจากฝี ทำไมต้องเอามันมา ‘ปลูก’ บนร่างกายของเราด้วยเล่า
มีหลักฐานว่ามีการปลูกฝีกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งในจีนแล้ว โดยมีบันทึกว่าขุนนางคนหนึ่งเสียลูกชายคนโตให้กับโรคฝีดาษไป เขาจึงตามนักปราชญ์ หมอยา และหมอผี มาจากทั่วทุกแว่นแคว้น เพื่อหาวิธีป้องกันโรคนี้ให้กับคนอื่นๆ ในครอบครัว แล้วก็พบว่าวิธีนี้นี่แหละที่ช่วยป้องกันได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ อีก เช่น บันทึกที่บอกว่าผู้หญิงคนหนึ่งเกิดอาการประจำเดือนมาขณะปลูกฝี (คือไม่ได้บันทึกเรื่องปลูกฝีโดยตรง) เป็นต้น
แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่างวอลแตร์ก็เคยบันทึกถึงเรื่องการปลูกฝีในหมู่ชาวตุรกีเอาไว้ โดยบอกว่าชาวตุรกีรับวิธีนี้มาจากชาวมุสลิมที่มาจากแถบเทือกเขาคอเคซัส คือทางตอนเหนือของอิหร่านในปัจจุบัน ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นไปได้ที่ชาวตะวันออกกลางจะรับวิธีนี้มาจากชาวจีน ผ่านการค้าในเส้นทางสายไหมอีกทีหนึ่ง
วิธีปฏิบัติแบบนี้แพร่เข้ายุโรป จนในศตวรรษที่ 17-18 ถือกันว่าการปลูกฝีเป็นเรื่องที่แพร่หลาย แม้จะมีความเสี่ยงสูงเพราะอาจป่วยเป็นโรคจนถึงตายได้เหมือนกัน วอลแตร์เองเคยรายงานไว้ว่า ในตอนนั้นมีคนป่วยเป็นโรคฝีดาษราว 60% ส่วนที่เสียชีวิตมีอยู่ราว 20% นั่นทำให้วิธีรักษาแบบหนามยอกเอาหนามบ่งเป็นเรื่องอันตรายอยู่เหมือนกัน
แต่กระนั้นวิธีการนี้ก็ได้เกิดเป็น ‘ศาสตร์’ ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาในปี 1796 เรียกศาสตร์นี้ว่า ‘วัคซีนวิทยา’ (Vaccinology) โดยศาสตร์นี้เกี่ยวพันกับบลอสซัม – เจ้าของหนังที่แขวนประดับอยู่บนผนังห้องสมุดโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จอย่างแนบแน่น
3
ปัจจุบันนี้เรารู้กันดีว่า ผู้ที่ถือว่าเป็น ‘บิดาแห่งวัคซีนวิทยา’ คือเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ย้อนกลับไปในปี 1796 เจนเนอร์เกิดสังเกตว่า ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ซาราห์ เนลเมส (Sarah Nelmes) ซึ่งเป็นหญิงรีดนมวัว เกิดไปรีดนมเจ้าบลอสซัม – นางเอกของเรา แล้วติดโรค ‘ฝีดาษวัว’ (Cowpox) มา
ในยุคนั้นไม่มีใครรู้จักคำว่าไวรัส เพราะแม้กระทั่งคอนเซปต์เรื่องเชื้อโรคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่โรคฝีดาษวัวเกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสที่มีชื่อว่า วัคซีเนีย (Vaccinia) อันเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน เจนเนอร์อาจไม่รู้เรื่องนี้ แต่สิ่งที่เขามีอยู่ในตัวก็คือ ‘พลังแห่งการสังเกต’ ที่ยิ่งใหญ่
เขาสังเกตเห็นว่า เมื่อติดโรคฝีดาษวัวมาแล้ว ซาราห์มีอาการคล้ายๆ ฝีดาษคนเหมือนกัน คือเป็นฝีเป็นตุ่มหนองที่มือ แต่อาการนั้นน้อยกว่ามาก เธอไม่ได้ล้มเจ็บหนักหรือมีอาการถึงตายเหมือนฝีดาษในคน อีกทั้งเมื่อซาราห์ไปรับการปลูกฝีโรคฝีดาษในคนแล้ว เธอก็ไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลย ไม่เจ็บไม่ป่วยเหมือนคนอื่นๆ เหมือนกับมีฤทธิ์อะไรบางอย่างต้านทานโรคฝีดาษได้ เขาก็เลยทดลอง (ที่เอาเข้าจริงต้องบอกว่าเป็นการทดลองที่โหดร้ายและไม่มีทางเป็นไปได้ในปัจจุบัน) ด้วยการนำหนองจากแผลของหญิงคนนี้ไปปลูกฝีให้กับเด็กชายคนหนึ่งชื่อ เจมส์ ฟิปส์ (James Phipps) ซึ่งเป็นลูกคนสวนของเขาเอง โดยปลูกฝีลงไปที่แขนทั้งสองข้าง
ปรากฏว่าเมื่อฟิบส์ได้รับการปลูกฝีแล้ว เขามีไข้อ่อนๆ แต่ไม่ได้มีอาการแบบโรคฝีดาษเต็มที่ เจนเนอร์จึงเลยทดลองขั้นต่อไป (ซึ่งโหดร้ายเข้าไปอีกขั้น) ด้วยการให้เชื้อฝีดาษกับเด็กชายแบบเต็มที่ ซึ่งหากสมมุติฐานของเจนเนอร์ไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่เด็กชายจะป่วยและอาจมีโอกาสเสียชีวิต (ถ้าตามตัวเลขของวอลแตร์ก็คือผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิต 20%) แต่โชคดีที่สมมุติฐานของเขาถูกต้อง
ชื่อของเจนเนอร์นั้นได้รับการยกย่องใหญ่หลวง แต่ชื่อของฟีปส์, ซาราห์ และชื่อของบลอสซัม – มักเป็นชื่อที่ถูกลืมเลือนไป แต่ถ้าใครอยากแสดงความเคารพหรือระลึกถึงการสังเกตของเจนเนอร์ที่ทำให้เกิดวัคซีนขึ้นมา คุณอาจไปที่ห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ (St. George’s Medical School) ในทูทติง (Tooting) ซึ่งอยู่ในลอนดอนตอนใต้ ปัจจุบันอยู่ในย่าน Wandsorth เพราะที่นี่มีหนังของบลอสซัมแขวนอยู่บนผนังห้องสมุด ซึ่งพูดได้ว่าเป็นต้นธารที่ก่อให้เกิดการค้นพบ ‘วัคซีน’ ขึ้นมา โดยเจนเนอร์เรียกชื่อตามชื่อไวรัสวัคซีนนั่นเอง
หากเราดูการค้นพบวัคซีนของเจนเนอร์ให้ถ่องแท้ เราจะเห็น ‘กระบวนการทางวิทยาศาสตร์’ หรือ Scientific Method ครบถ้วน ตั้งแต่การสังเกต (Observation) การตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) ไล่ไปจนถึงการทดลอง (Testing) ที่แม้จะโหดร้ายเอาการ แต่ก็ทำให้เจนเนอร์ได้ข้อสรุป (Conclusion) ออกมา และนำข้อสรุปนั้นมาใช้เป็นหลัก ที่เปิดโลกให้กับวิชาวัคซีนวิทยาได้นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงตอนนี้
ทุกวันนี้ แม้การผลิตควัคซีนจะพัฒนาไปไกลมาก แต่โดยหลักการแล้วยังคงเดิม องค์ประกอบสำคัญของวัคซีนยังเป็น แอนติเจน (Antigen) หรือสิ่งที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาอยู่นั่นเอง เจ้าแอนติเจนนี้ ถ้าจะเปรียบไป ก็เหมือนหอกหรือดาบของข้าศึก คือถ้าข้าศึกเข้ามาโดยไม่มีหอกดาบก็ไม่ค่อยอันตรายเท่าไร ร่างกายเราเลยจดจำหอกดาบ แล้วสร้างแอนติบอดีเฉพาะมารองรับเอาไว้ การทำความเข้าใจแอนติเจนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตวัคซีน หลักการนี้ใช้มาตั้งแต่ยุคที่เรายังไม่เข้าใจมันมาจนถึงปัจจุบัน
โดยปกติแล้ว ขั้นตอนการทดสอบวัคซีนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซัอน ต้องแบ่งออกเป็นเฟสต่างๆ สามเฟส เฟสแรกคือการฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อดูว่าปลอดภัยไหม สร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือเปล่า และดูว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไร โดยมักจะทำในอาสาสมัครที่อายุน้อยและแข็งแรง ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มให้กับอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น อาจมีจำนวนหลายร้อยคน โดยต้องทดสอบไปทีละกลุ่ม เช่น กลุ่มนี้เป็นเพศชายอายุน้อย อีกกลุ่มเป็นเพศหญิงอายุมาก ฯลฯ เพื่อทดสอบว่าวัคซีนมีผลต่อคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร จากนั้นก็จะมาถึงเฟสสาม ซึ่งมีอาสาสมัครในระดับพันคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างไร
โดยทั่วไป การผลิตวัคซีนจึงต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉิน จึงต้องเร่งรัดการผลิตวัคซีน และมีการใช้งานวัคซีนจริงโดยยังไม่ได้ผ่านการทดลองในแต่ละเฟสอย่างสมบูรณ์ จากกระบวนการที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป จึงถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้น ก็เพราะวิกฤตโดยแท้
วัคซีนที่เราเห็นในปัจจุบันจึงมีที่มายาวไกล จากการลองผิดลองถูก การสังเกต ตั้งสมมติฐาน และทดลองจนได้ข้อสรุปออกมา
แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมเลือนเลย – ก็คือบลอสซัมและหนังผืนนั้นของมัน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล