เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน) นายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้เสนอให้ ครม. รับทราบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนทั้งระบบ หลังอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ และการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยมาตรการระยะถัดไปคือการเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ รวมถึงคนวัยเกษียณที่มีภาระหนี้สิน
กระทบอย่างไร:
เมื่อวานนี้ (15 มิถุนายน) หุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวลง 1.7%DoD และหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์-ลีสซิ่ง (SETFIN) ปรับตัวลง 2.1%DoD
ขณะที่วันนี้ (16 มิถุนายน) หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวลงต่อ 0.8%DoD และหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์-ลีสซิ่งปรับตัวลงต่อ 1.3%DoD
มุมมองต่อการทบทวนปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย:
SCBS คาด หุ้นกลุ่มธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากกลุ่มธนาคารมี Exposure ต่อสินเชื่อเหล่านี้เล็กน้อย โดยส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบในสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เพดาน แต่สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเพดานค่อนข้างมาก
ขณะที่หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์-ลีสซิ่งจะได้รับผลกระทบหากมีการทบทวนเพดานดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดย KTC และ AEONTS จะได้รับผลกระทบมากสุด ส่วน MTC จะได้รับผลกระทบน้อยสุดเนื่องจากคิดอัตราดอกเบี้ย 15-18% ซึ่งต่ำกว่าเพดานที่ 24% ขณะที่ TIDLOR และ SAWAD คิดอัตราดอกเบี้ย 12-24%
ประเมินผลกระทบหากมีการปรับเพดานอัตราดอกเบี้ยลง 1%:
SCBS ได้ทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) ของการปรับลดเพดานดอกเบี้ยลง 1% ต่อการเปลี่ยนแปลงในประมาณการกำไรปี 2564 โดยกลุ่มธนาคารพบว่า BBL, KBANK, TTB, TISCO, KKP, LHFG ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประมาณการกำไรปี 2564 ขณะที่ BAY มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรลดลง 3% และ KTB ลดลง 1%
สำหรับกลุ่มไฟแนนซ์-ลีสซิ่ง AEONTS มีผลกระทบต่อประมาณการกำไรปี 2564 ลดลง 12%, KTC ลดลง 10%, SAWAD ลดลง 6%, TIDLOR ลดลง 5% และ MTC ลดลง 3%
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล