×

จับตาซัมมิต ‘ไบเดน-ปูติน’ เซ็ตทิศทางความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย บทใหม่

16.06.2021
  • LOADING...
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ รัสเซีย

นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ กลายเป็นเวทีที่สปอตไลต์สาดส่องและอยู่ในความสนใจผู้คนทั่วโลกเวลานี้ เมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เตรียมพบกันในวันนี้ (16 มิถุนายน) ท่ามกลางบรรยากาศที่อึมครึมจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจ ครอบคลุมตั้งแต่ปมการแทรกแซงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2020, การโจมตีทางไซเบอร์, ปัญหาในยูเครน ไปจนถึงประเด็นการกักขังผู้นำฝ่ายค้านในรัสเซีย

 

การประชุมครั้งนี้สำคัญอย่างไร มีอะไรน่าจับตาบ้าง

 

  • นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่ไบเดนและปูตินพบกัน แต่ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไบเดนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้ชื่อว่า ‘ผู้นำแห่งโลกเสรี’

 

  • การเลือกสวิตเซอร์แลนด์เป็นเวทีพบปะของทั้งสองเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ความเป็นกลางทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ในอดีต

 

  • คาดว่าการประชุมระหว่างไบเดนและปูตินจะมีโทนที่แตกต่างจากการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2018 ซึ่งในครั้งนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ได้พบกับปูตินที่กรุงเฮลซิงกิของฟินแลนด์ 

 

  • การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ไบเดนเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ที่อังกฤษ และซัมมิตองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในเบลเยียม ซึ่งเป็นเวทีที่ไบเดนพยายามฉายภาพให้เห็นว่าอเมริกากลับมาแล้ว และกำลังฟื้นฟูความสัมพันธ์กับบรรดาชาติพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ หลังเสื่อมถอยลงในยุคของทรัมป์

 

  • วาระหลักของการประชุมครั้งนี้ ทางฝั่งเครมลินเผยว่า สองฝ่ายจะหารือในประเด็นนิวเคลียร์ ปัญหาโลกร้อน และความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้จะมีการหารือเกี่ยวกับความเป็นไปของพลเมืองรัสเซียและอเมริกันที่ถูกคุมขังในสองประเทศ และคาดว่าจะพูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งและบทบาทของรัสเซียในสงครามกลางเมืองซีเรีย ลิเบีย และยูเครน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัสเซียไม่มั่นใจว่าสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นรูปธรรมในที่ประชุมครั้งนี้

 

  • ประเด็นการกักขังและดำเนินคดีกับ อเล็กเซย์ นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านและศัตรูทางการเมืองของปูติน เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ผู้คนจับตาว่าไบเดนจะหยิบยกขึ้นมาหารือกับปูตินอย่างไร เพราะการกวาดล้างและปิดปากผู้เห็นต่างในรัสเซียสร้างความไม่พอใจแก่โลกตะวันตกเป็นอย่างมาก และเป็นอีกชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างวอชิงตันกับมอสโก โดยก่อนหน้านี้นาวัลนีถูกลอบวางยาพิษก่อนถูกส่งตัวไปรักษาที่เยอรมนีในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม รัสเซียยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะที่ไบเดนเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า หากนาวัลนีเสียชีวิตในเรือนจำ ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับส่วนที่เหลือของโลกจะยิ่งย่ำแย่ลงอีก 

 

  • อีกหนึ่งประเด็นที่คาดว่าไบเดนจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกับปูตินคือ กรณีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ด้วยแรนซัมแวร์ และปัญหาความมั่นคงทางไซเบอร์อื่นๆ ซึ่งรายงานชี้ว่า รัสเซียอาจอยู่เบื้องหลังหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเมื่อเดือนที่แล้วกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ชื่อว่า DarkSide ซึ่งอาจมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอาชญากรรัสเซียได้โจมตีด้วยมัลแวร์เรียกค่าไถ่ต่อระบบคอมพิวเตอร์ของ Colonial Pipeline ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินงานท่อส่งน้ำมัน ส่งผลให้บริษัทต้องปิดท่อส่งน้ำมันยาว 5,500 ไมล์ ซึ่งกระทบซัพพลายเชื้อเพลิงและน้ำมันเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่รัฐแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ อีกทั้งส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันเบนซินในแถบเซาท์เวสต์

 

  • หลังการโจมตีทางไซเบอร์โดย DarkSide ไบเดนให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดจากหน่วยข่าวกรองว่ารัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ถึงแม้จะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าแรนซัมแวร์ของผู้ก่อเหตุอยู่ในรัสเซียก็ตาม ซึ่งไบเดนจะพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับปูติน

 

  • ส่วนกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วนั้น ข่าวกรองสหรัฐฯ ชี้ว่า รัสเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่งผลให้รัฐบาลไบเดนประกาศมาตรการคว่ำบาตรบุคคลและหน่วยงานรัสเซียหลายชุด ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สร้างความร้าวฉานระหว่างสองฝ่าย และอาจเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่จะมีการพูดคุยในเวทีนี้

 

  • ผู้เชี่ยวชาญหลายมองว่า ความหวังที่สองฝ่ายจะมีข้อตกลงระดับ Breakthrough นั้นมีไม่มาก และคาดว่าจะไม่เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

 

  • แม้มีความคาดหวังไม่มากนักที่จะเกิดความร่วมมือนอกเหนือไปจากมิติทางยุทธศาสตร์ เช่น การควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ แต่ คริส วีเฟอร์ ซีอีโอบริษัทที่ปรึกษา Macro-Advisory ในมอสโก เชื่อว่า ผลลัพธ์บวกที่สำคัญจากเวทีซัมมิตรอบนี้คือการที่รัสเซียอาจถอดสหรัฐฯ ออกจากบัญชีรายชื่อ ‘ประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีแนวปฏิบัติไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย รวมถึงคนสัญชาติรัสเซียและบริษัทรัสเซีย ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้อาจกรุยทางสู่การกลับไปประจำการของเจ้าหน้าที่ในสถานทูตและสถานกงสุล ตลอดจนการฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างสองประเทศ

 

กรอบความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย ในอนาคต

  • แอนเดรียส ทูร์ซา ที่ปรึกษาฝ่ายยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกแห่ง Teneo Intelligence ให้ความเห็นว่า ถึงแม้การประชุมครั้งนี้อาจไม่เกิดความคืบหน้าที่สำคัญในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงสร้างความเชื่อมั่นเชิงสัญลักษณ์ขึ้นมาใหม่

 

  • เขาคาดว่าสองฝ่ายจะร่างกรอบความสัมพันธ์ในอนาคตมากกว่าสิ่งอื่นใด ซึ่งการประชุมครั้งนี้ซึ่งนำเสนอโดยฝั่งสหรัฐฯ นั้นมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีสองคน และวางกรอบที่กว้างขึ้นสำหรับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในยุคของไบเดน โดยเสถียรภาพเชิงยุทธศาสตร์เป็นหนึ่งในมิติที่สองฝ่ายจะแสวงหาความร่วมมือมากขึ้น 

 

  • ทูร์ซามองว่า การที่สองประเทศถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) และสนธิสัญญาเปิดน่านฟ้านั้น ได้ลดทอนความโปร่งใสและเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น และถึงแม้วอชิงตันและมอสโกได้ขยายสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ หรือ START ฉบับใหม่ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2026 แต่นั่นยังไม่ได้ครอบคลุมระบบอาวุธสมัยใหม่ ซึ่งประเด็นที่มีความสำคัญและซับซ้อนเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเจรจา และคาดว่าจะยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนักในเวทีซัมมิตครั้งนี้

 

ภาพ: Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X