×

จับตาผลประชุม Fed! บนภาวะที่ความกลัวต่อเงินเฟ้ออาจเลยจุดสูงสุดไปแล้ว

15.06.2021
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีนัดประชุมสำคัญระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ ซึ่งประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองคือ การส่งสัญญาณเกี่ยวกับการลดวงเงินอัดฉีดสภาพคล่อง (QE Tapering) โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

 

“ปรากฏการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นคือ บอนด์ยีลด์ค่อนข้างสวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ประกาศออกมา เงินเฟ้อออกมาสูงกว่าคาด แต่ตลาดบอนด์ไม่ตอบรับมากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนกำลังมองว่าการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว” ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ อัปเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักลงทุนจะยังคงมุ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ขณะที่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของบอนด์ (Real Yield Bond) ที่ติดลบมากขึ้น ก็จะเป็นบวกต่อทั้งหุ้นและทองคำ 

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวบอนด์ยีลด์จะล้อไปกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะความคาดหวังต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ก็จะช่วยดันให้ยีลด์ฟื้นตัวกลับมา 

 

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังไม่ให้น้ำหนักกับตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากนัก เพราะ Fed เป็นผู้กำหนดความคาดหวังของตลาด และที่ผ่านมา Fed ส่งสัญญาณต่อเนื่องว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นเพียงชั่วคราว และหาก Fed ยังไม่ส่งสัญญาณใดๆ นักลงทุนจะยังคงมุ่งลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็จะยังขึ้นต่อได้” 

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเสี่ยงในระยะถัดไป ด้วยสภาพคล่องส่วนเกินที่ล้นระบบ จะส่งผ่านไปหาเงินเฟ้อในอนาคต และหาก Fed ยังคงอยู่ในโหมดผ่อนคลายมากจนเกินไป ตลาดก็อาจจะเข้าสู่ภาวะที่ร้อนแรงจนเกินไปได้ 

 

“การประชุมในเดือนนี้ หากยังไม่มีการส่งสัญญาณใดๆ ก็อาจจะยังไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ แต่ภายในไตรมาส 3 นี้ หากยังไม่มีสัญญาณใดๆ เลยเกี่ยวกับเรื่องของเงินเฟ้อ และหากตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่จากฐานที่ต่ำแล้ว ตลาดอาจจะเข้าสู่ภาวะ Overheat ได้” 

 

ส่วนการลงทุนในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ (Reflation) ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2020 ปัจจุบันน่าจะเข้าสู่ช่วงปลายของวัฏจักรแล้ว เมื่อดูจากการศึกษาในอดีตเมื่อปี 2013 ซึ่งประธาน Fed ขณะนั้นเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering ก็จะเป็นจุดพีกของความคาดหวังต่ออัตราเงินเฟ้อแล้ว และราคาสินค้าต่างๆ ก็จะเริ่มปรับตัวลง 

 

“โดยส่วนตัวไม่แนะนำเข้าลงทุนหรือเก็งกำไรในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้ออีกแล้ว เพราะในระยะนี้อาจต้องติดตามใกล้ชิดมากขึ้น และอาจปรับฐานรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว ส่วนบรรยากาศโดยรวมของตลาดหุ้นจะไร้ทิศทางจนกว่า Fed จะส่งสัญญาณใดๆ ออกมา อย่างการประชุมครั้งนี้ หากไม่มีการส่งสัญญาณตลาดก็อาจจะปรับขึ้นได้เล็กน้อย แต่ก็ไม่น่าจะไปได้ไกล เพราะนักลงทุนก็ยังกังวลอยู่ดีว่าจะมีการส่งสัญญาณในอีกไม่นานนี้” 

 

กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ควรรอจังหวะของการย่อตัว และหันมาเน้นกลุ่มหุ้นที่ยังปรับขึ้นไม่มากนัก และเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดประเทศ รวมถึงกลุ่มหุ้นที่มีค่า Beta ต่ำกว่าตลาด อย่างกลุ่มโรงไฟฟ้า จะช่วยให้ความผันผวนของพอร์ตลดลงได้ ขณะที่กลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก วัฏจักร และส่งออก ซึ่งปรับขึ้นมามาก ก็ยังไม่ควรเข้าลงทุน 

 

Tom Essaye อดีตเทรดเดอร์ของ Merrill Lynch และเป็นผู้ก่อตั้ง The Sevens Report บริษัทวิจัยและบริการข้อมูลการลงทุน มองว่า แม้ว่าตัวชี้วัดต่างๆ เกี่ยวกับเงินเฟ้อจะออกมาสูง แต่ดูเหมือนว่าความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้จะลดลงไป ซึ่งนักลงทุนบางส่วนอาจจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ Fed พูดมาตลอดก่อนหน้านี้ และเราไม่จำเป็นจะต้องกังวลใดๆ 

 

ความกังวลที่ลดลงในตลาดสะท้อนผ่านราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ลดลงอย่างชัดเจน ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ราคาของสินค้าอย่างไม้แปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นสูงสุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดปรับตัวลดลง 40% จากจุดสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกับราคาของทองแดงก็เริ่มปรับตัวลงจากจุดสูงสุด

 

นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนลดความกังวลลงไปมาก แม้ว่าตราสารหนี้จะพุ่งขึ้นอย่างมากจากปีก่อน และเป็นการพุ่งขึ้นเร็วสุดนับแต่ปี 2008 แต่ดัชนีหุ้นอย่าง S&P 500 กลับพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้

 

ขณะที่ Art Hogan หัวหน้านักกลยุทธ์ของ National Securities เปิดเผยว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการทำจุดสูงสุดในระยะสั้นไปแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มวัตถุดิบอุตสาหกรรม สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมของดีมานด์และซัพพลายเข้าสู่จุดสมดุลในระยะสั้น 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising