×

เรื่องวุ่นๆ ชุลมุนวัคซีนเลื่อนฉีด ใครต้องรับผิดชอบ

14.06.2021
  • LOADING...
วัคซีนเลื่อนฉีด
  • การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสัปดาห์ที่ 2 ของ กทม. อยู่ในสภาพ ‘สับสนวุ่นวาย’ ตั้งแต่ยังไม่ถึงวันฉีดวัคซีน เริ่มต้นจากวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน สำนักงานประกันสังคมประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นวันที่ 28 มิถุนายน โดยอ้างว่าเพื่อปรับปรุงสถานที่และปรับปรุงระบบข้อมูล แต่ต่อมาวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน กลับประกาศใหม่ว่าพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

  • “ผมขอย้ำว่าวัคซีน AstraZeneca สำหรับผู้ประกันตนไม่ขาด ผมกับท่านรองนายกฯ อนุทิน ทำงานกันอย่างใกล้ชิดและปรึกษาหารือกันมาโดยตลอด เพื่อให้การฉีดวัคซีนซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ สามารถควบคุมการแพร่ระบาด เกิดประโยชน์สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า” สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชน

 

  • ช่วงค่ำของวันเดียวกันกับที่สำนักงานประกันสังคมประกาศ ‘เลื่อนกลับมา’ เหมือนเดิม หลายโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลรัฐบางแห่งใน กทม. กลับประกาศ ‘เลื่อนออกไป’ เลื่อนผู้ที่จองวัคซีนในระบบหมอพร้อมระหว่างวันที่ 14-20 มิถุนายนออกไป เนื่องจากไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งที่ระบบหมอพร้อมในช่วงแรกเปิดให้ลงทะเบียนเฉพาะผู้สูงอายุและ 7 โรคประจำตัว

 

#ใครควรได้รับการกระจายวัคซีนก่อน_หลัง

 

  • นอกจากปัญหา ‘การจัดหาวัคซีน’ ที่ทำให้มีจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอแล้ว ยังเกิดคำถามต่อ ‘การกระจายวัคซีน’ ด้วยว่าภาครัฐจัดลำดับความสำคัญของผู้ได้รับวัคซีนอย่างไร เพราะตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายการให้วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยเป็น 2 ระยะ (1) เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด และ (2) เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการฉีดต่างกัน

 

  • ระยะที่ 1 เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 และเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ
  • ระยะที่ 2 เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและพื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

  • นับจากวันดีเดย์ 7 มิถุนายน จำนวนวัคซีนที่ฉีดได้ต่อวันมากกว่า 4 แสนโดสใน 2 วันแรกแล้วลดลงเหลือ 3, 2 และ 1 แสนโดสในวันถัดมา แสดงว่าประเทศไทยน่าจะยังอยู่ในระยะที่ 1 อยู่ ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายจึงควรเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน

 

  • ศบค. ประกาศจำนวนผู้เสียชีวิตพร้อมกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ทุกวัน แต่ทำไมแผนการกระจายวัคซีนใน กทม. ถึงยังสะเปะสะปะ และเลื่อนผู้จองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมออกไป สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับบางอาชีพอาจเข้าใจได้ว่ามีความจำเป็น เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก เช่น ขนส่งสาธารณะ โรงเรียน/มหาวิทยาลัย จึงมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อหรือการระบาดมากกว่าคนทั่วไป

 

  • หากเปรียบเทียบกับแผนการฉีดวัคซีนในสหราชอาณาจักร มีการจัดลำดับความสำคัญให้กับประชาชน 9 กลุ่มก่อน ได้แก่ ผู้พักอาศัยและเจ้าหน้าที่ในบ้านพักคนชรา บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้สูงอายุเรียงจาก 80, 75, 70, …, จนถึง 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 65 ปีแต่มีโรคประจำตัว และทั้ง 9 กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 เร็วขึ้นที่ 8 สัปดาห์ จากเดิมที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังจากเข็มแรก

 

#แต่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนอย่างไร

 

  • จากความสับสนวุ่นวายของการเลื่อน/ไม่เลื่อนฉีดวัคซีนในวันเสาร์ ต่อเนื่องมาจนถึงวันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงถึงกรณีเลื่อนฉีดวัคซีนใน กทม. ว่า “กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนตามที่ ศบค. กำหนด เพื่อส่งไปยังทุกจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ส่วนการจัดสรรวัคซีนไปยังหน่วยฉีดของแต่ละจังหวัดเป็นหน้าที่ของจังหวัดนั้นๆ ดำเนินการเอง”

 

  • ส่วนอธิบดีและรองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ในวันที่ 13 มิถุนายนว่า กทม. ได้รับการจัดสรรวัคซีนล็อตแรก 5 แสนโดส แบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca 3.5 แสนโดสและ Sinovac 1.5 แสนโดส ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมกับสำนักงานประกันสังคมประมาณ 3 แสนโดส และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประมาณ 1.5 แสนโดส ที่ได้รับวัคซีนไปเสริมใน กทม. อีกเช่นกัน

 

  • โดยวัคซีนล็อตแรกนี้เป็นการจัดสรรสำหรับการฉีดใน 2 สัปดาห์แรก (7-18 มิถุนายน) ในขณะที่ในภาพรวมของประเทศได้จัดสรรวัคซีน AstraZeneca ลงไปราว 2 ล้านโดส แบ่งเป็นต่างจังหวัด 1 ล้านโดส และ กทม. อีกเกือบ 1 ล้านโดส ส่วนช่วงครึ่งเดือนหลังจะมีวัคซีนมาเพิ่มเติมแบ่งเป็นวัคซีน AstraZeneca 1.5 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส รวมทั้งหมด 6.5 ล้านโดสในเดือนนี้

 

#แล้วกทม_กระจายวัคซีนที่ได้รับมาอย่างไร

 

  • ล่าสุด กทม. ชี้แจงผ่านเพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ว่า กทม. ไม่ใช่ผู้ควบคุมและผู้ที่จัดสรรวัคซีน โดย ‘ตามแผน’ ของกระทรวงสาธารณสุข กทม. จะได้รับการจัดสรรวัคซีน AstraZeneca 2.5 ล้านโดสในเดือนมิถุนายน แล้วให้จัดทำแผนกระจายวัคซีนให้สอดคล้อง แต่ ‘ตามจริง’ กลับได้รับวัคซีนเพียง 5 แสนโดสสำหรับครึ่งเดือนแรก (7-14 มิถุนายน) แบ่งเป็น 

 

  • วัคซีน AstraZeneca 3.5 แสนโดส กทม. กระจายให้ระบบหมอพร้อม 51.8% ประชาชนทั่วไป 28.6% เข็มที่สอง 15.0% ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง 2.3% และสำรองสำหรับควบคุมโรค 2.3%
  • วัคซีน Sinovac 1.5 แสนโดส กทม. กระจายให้เข็มที่ 2 85.3% และควบคุมโรคพื้นที่ระบาดใหม่สำหรับที่เหลือ

 

  • ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนมีผู้จองวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อมใน กทม. 450,000 คน แต่ในล็อตแรกนี้ กทม. กระจายให้ระบบหมอพร้อม 181,400 โดส (51.8% ของวัคซีนที่ได้รับ) หรือคิดเป็น 40.3% ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด ยังเหลืออีก 60% ที่อาจต้องรอการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขในครึ่งเดือนหลัง เป็นไปได้หรือไม่ว่า กทม. จะนำส่วนที่แบ่งให้ประชาชนทั่วไปมาให้กับกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงก่อน

 

  • หรืออันที่จริง กทม. ต้องมียอดจำนวนกลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 อยู่แล้ว น่าจะอำนวยความสะดวกให้กลุ่มนี้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรมาให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนที่มีหลักฐานว่าลดการแพร่เชื้อ เช่น AstraZeneca ให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่มีการระบาดก็อาจช่วยจำกัดวงการระบาดได้ การตัดสินใจกระจายวัคซีนที่ กทม. รับมาต่ออีกทีจึงต้องรอบคอบและสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ

 

  • ส่วน ศบค. ที่ถูกพาดพิงถึงว่าเป็นผู้กำหนดการกระจายวัคซีนยังไม่มีคำชี้แจงออกมา สิ่งที่ประชาชนและเจ้าหน้าที่หน้างาน (ซึ่งต้องตอบคำถามเกี่ยวกับการเลื่อนนัดฉีดวัคซีนแทน ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข) ต้องการมากที่สุดคือการอธิบายแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างละเอียดและตรงไปตรงมา เพื่อลดความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่เฉพาะใน กทม. แต่รวมถึงต่างจังหวัดด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X