ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 เตรียมเห็นชอบแผนการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคู่แข่งกับโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ในการประชุมสุดยอดวันอาทิตย์นี้ที่คอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร โดยแผนการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะระดมเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวิจารณ์ว่าแผนการดังกล่าวยังขาดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการจัดหาเงินทุน และอาจกลายเป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า
บรรดาผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะตกลงกันในการประชุมสุดยอด G7 ที่คอร์นวอลล์ เกี่ยวกับแผนการจัดหาเงินทุนที่เรียกว่าแผน ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสีเขียว’ (Green Belt and Road) โดยประเทศร่ำรวยจะช่วยสนับสนุนเงินกู้ให้กับโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ คือผู้นำการเรียกร้องให้มีการเสนอแหล่งเงินทุนใหม่ด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศยากจน โดยหวังให้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือกที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ นอกเหนือไปจากเงินกู้จากจีน ซึ่งชาติตะวันตกมองว่าจีนใช้เป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายอิทธิพลของตนเอง
อย่างไรก็ตามรายงานข่าวระบุว่า บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด G7 สุดสัปดาห์นี้ ระมัดระวังในการนำเสนอแผนการดังกล่าว โดยไม่ต้องการให้ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการ ‘ต่อต้านจีน’
โดยในขณะที่ทำเนียบขาวแสดงความชัดเจนว่าต้องการถ่วงดุลอิทธิพลของจีน แต่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของอังกฤษกล่าวว่า “โฟกัสของเราแคบกว่าเล็กน้อย”
เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า “สหรัฐอเมริกา รวมถึงพันธมิตรและเพื่อนของเราทั่วโลก ต่างสงสัยเกี่ยวกับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนมานานแล้ว”
“เราได้เห็นรัฐบาลจีนแสดงถึงการขาดความโปร่งใส มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่ย่ำแย่ และแนวทางปฏิบัติที่ทำให้หลายประเทศย่ำแย่ลงไปอีก”
“แต่จนถึงตอนนี้ เรายังไม่ได้เสนอทางเลือกเชิงบวกที่สะท้อนถึงค่านิยม มาตรฐานของเรา และวิธีการทำธุรกิจของเรา” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าว
ด้านจีนก็ได้ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ และสมาชิก G7 รายอื่นๆ โดยวิจารณ์ว่า “ลัทธิพหุภาคีนิยมที่แท้จริงนั้นมีพื้นฐานมาจากสหประชาชาติ และไม่ใช่หลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ
“ยุคสมัยที่การตัดสินใจระดับโลกถูกกำหนดโดยกลุ่มประเทศไม่กี่ประเทศนั้นหมดไปนานแล้ว” โฆษกสถานทูตจีนประจำกรุงลอนดอนกล่าว
ด้านกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่า แผนการ ‘Green Belt and Road’ ของผู้นำ G7 ยังขาดรายละเอียดถึงการได้มาของเงินทุน รวมถึงวิธีการดำเนินงาน พร้อมกับเตือนว่าแผนการนี้ไม่ต่างกับคำสัญญาที่ว่างเปล่าสักเท่าไรนัก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในวาระการประชุมที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับผู้นำ G7 ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ แต่เหล่าผู้นำยังตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการจัดหาเงินทุน โดยมีเพียงเยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น และอิตาลีเท่านั้น ที่คาดว่าจะประกาศระดมทุนด้านสภาพอากาศในการประชุมที่คอร์นวอลล์
ทั้งนี้คาดว่าผู้นำ G7 จะให้คำมั่นเรื่องการเลิกใช้รถยนต์เบนซินและดีเซล และปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดที่ไม่ใช้เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้เหล่าผู้นำ G7 จะให้คำมั่นเรื่องการปกป้องแผ่นดินและมหาสมุทรของโลกให้ได้ 30% ภายในปี 2030
การประชุม G7 ที่คอร์นวอลล์อาจถือเป็นการชิมลางให้โลกได้เห็นว่าประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเป็นประชาธิปไตยจะรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในเวทีนานาชาติอย่างไร ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ในเดือนพฤศจิกายนนี้
จอห์นสันกล่าวว่า “G7 ได้รับโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวทั่วโลก โดยมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา”
สำหรับแผนการ ‘Build Back Better for the World’ นั้น จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการคาร์บอนต่ำได้ดีขึ้น เช่น ฟาร์มกังหันลม และทางรถไฟ
แผนการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมเงินทุนด้านสภาพอากาศจากธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีและจากภาคเอกชน โดยมีการคาดการณ์กันว่าผู้นำ G7 จะให้คำมั่นที่จะเพิ่มการสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ
แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศหลายกลุ่มยังไม่พอใจ โดยกล่าวว่าแผน Build Back Better นั้นดูคลุมเครือและอ่อนเกินไป
แคทเธอรีน เพตเทนเกลล์ รักษาการหัวหน้ากลุ่ม Climate Action Network (UK) กล่าวว่า “เรายังไม่ทราบไทม์ไลน์หรือขนาดของแผนการเหล่านี้หากไม่มีการชี้แจงให้ทราบ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงคำสัญญาที่ว่างเปล่า”
ทั้งนี้ทุกประเทศในกลุ่ม G7 ให้คำมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการทำให้นโยบายต่างๆ ในด้านสภาพอากาศเป็นข้อตกลงในวงกว้าง แต่ข้อแตกต่างในประเด็นต่างๆ ทำให้ประสบปัญหาเรื่องภาษาที่จะใช้ในแถลงการณ์ของผู้นำ
ภาพ: Leon Neal / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: