Supply Lines ซึ่งเป็นจดหมายข่าวรายวันที่ติดตามการค้าและซัพพลายเชนที่หยุดชะงักจากการระบาดใหญ่ เปิดเผยข้อมูลว่า ความล่าช้าจากความแออัดที่ท่าเรือทางตอนใต้ของจีนซึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ กำลังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลก และจะทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงเกินจริง รวมถึงการขนส่งทางเรืออาจชะงักอย่างรุนแรง
รายงานจากสำนักข่าวต่าวประเทศ ระบุว่า เรือขนส่งสินค้าที่ดำเนินการโดย COSCO SHIPPING Lines จะงดเทียบท่าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในเดือนนี้ เนื่องจากความล่าช้าในประเทศจีน และหนึ่งในเรือของ CMA CGM ที่มุ่งหน้าไปยังจีนในเดือนกรกฎาคมจะไม่แวะที่ศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จอช บราซิล (Josh Brazil) รองประธานฝ่ายการตลาดของ project44 บริษัทข่าวกรองด้านซัพพลายเชน กล่าวว่า ความล่าช้าส่งผลให้ราคาขนส่งสินค้าในจีนพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากขาดตู้คอนเทนเนอร์และความต้องการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ค่าขนส่งที่สูงเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้เกิดภัยคุกคามต่อเงินเฟ้อทั่วโลก
ด้าน ไซมอน เฮนีย์ (Simon Heaney) ผู้จัดการอาวุโสด้านการวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ของ Drewry Shipping Consultants Ltd. กล่าวว่า การระบาดของไวรัสที่ท่าเรือ Yantian ในเซินเจิ้นทำให้อัตราค่าระวางเพิ่มขึ้นทั่วโลกแล้ว โดยดัชนี Drewry World Container Index (WCI) เพิ่มขึ้น 10% ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
“เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อัตราค่าระวางจะสูงขึ้นในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบหากความล่าช้ายังกินเวลาไปมากกว่านี้” ไซมอนกล่าว
ทั้งนี้อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่เกิดเหตุการณ์เรือ Evergreen จอดขวางเส้นทางเดินเรือในคลองสุเอซ รวมถึงความต้องการส่งออก-นำเข้าของผู้ค้าต่างๆ ทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจนกระทบกับปริมาณกองเรือในอุตสาหกรรม มาจนถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ท่าเรือจีนทางใต้เกิดคลัสเตอร์โควิด-19 จนเกิดปัญหาการสัญจรที่แออัด และเส้นทางเดินเรือจำต้องถูกปรับเปลี่ยนไป โดยปัจจุบันนี้เวลาพำนักของการขนส่งข้ามลำในสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 8-9 วัน เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5 วันในปีที่แล้วตามการประมาณการของ project44
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: