พิธีเปิดในสนามสตาดิโอ โอลิมปิโกที่สวยสด บทเพลงจาก อันเดรอา โบเชลลี ชายผู้มองไม่เห็นแสงสว่างแต่สามารถมอบแสงสว่างแห่งความหวังให้แก่ผู้คน และฟอร์มการเล่นที่ดุดันเร้าใจราวกับไม่ใช่ทีม ‘อัซซูรี’ ที่เคยรู้จัก ทั้งหมดถือเป็นการเปิดฉากฟุตบอลยูโร 2020 ที่ทุกคนเฝ้ารอมาเป็นระยะเวลา 1 ปีกับอีก 1 วันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
บรรยากาศนี้ชวนหวนให้คิดถึงฟุตบอลยูโร 1980 เมื่อ 41 ปีที่แล้ว ซึ่งครั้งนั้นอิตาลีเป็นเจ้าภาพเดี่ยว (ต่างจากครั้งนี้ที่เป็น 1ใน 11 เจ้าภาพ) และเป็นฟุตบอลยูโรครั้งแรกที่เริ่มมีการขยายรายการ เพิ่มจำนวนทีมจาก 4 เป็น 8 ทีม
ในการแข่งครั้งนั้นทีมที่ได้แชมป์คือเยอรมนีตะวันตก แต่ทีมที่เป็นที่จดจำมากไม่แพ้กันคือทีม ‘ปีศาจแดงแห่งยุโรป’ ทีมชาติเบลเยียม
เบลเยียมวันนั้นเป็นทีมโนเนม ไม้ประดับของแท้ของวงการ แต่ก็มีนักเตะดาวรุ่งที่มีฝีเท้าโดดเด่นหลายคน อย่าง ฌอง-มารี พัฟฟ์ ผู้รักษาประตูมือกาว, เอริค เกเร็ตส์ แบ็กขวา, แยน คูเลอมองส์ มิดฟิลด์ รวมถึง เรเน ฟานเดอเรคเคน ภายใต้การนำของ กีย์ ธีส กุนซือของทีมในยุคนั้น
วีรกรรมที่สุดยอดคือการที่สามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศไปพบกับทีมชาติเยอรมนีตะวันตกได้ โดยก่อนหน้าจะมาเจอกับทีม ‘อินทรีเหล็ก’ พวกเขาเขี่ยเจ้าภาพอย่างอิตาลีตกรอบแบบแสบสันเมื่อสามารถยันเสมอได้ในเกมสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ทำให้ได้เข้ารอบเพราะผลต่างประตูได้เสียที่เท่ากันแต่ยิงประตูได้มากกว่า
วันนั้น กีย์ ธีส บอกว่าเบลเยียมยังไม่ได้เป็นทีมที่ดี แต่พวกเขามีนักเตะฝีเท้าดีหลายคน ซึ่งในเวลาต่อมานักเตะชุดนี้รวมกับดาวรุ่งพุ่งแรงในบทของนักเตะจอมทัพหมายเลข 10 เอ็นโซ ชีโฟ ก็กลายเป็น ‘Golden Generation’ ไป
เพียงแต่เก่งแค่ไหนก็ไปไม่ถึงฝัน
แล้วทีมชาติเบลเยียมก็ตกต่ำลงเมื่อแข้งทองเหล่านั้นโรยรา เบลเยียมในฐานะเจ้าภาพของฟุตบอลยูโรแต่กลับตกรอบแรก และในฟุตบอลโลก 2002 ถึงจะทำได้ดีขึ้นแต่ก็ไปตกรอบ 2 อยู่ดีด้วยการแพ้บราซิลที่ต่อมาเป็นแชมป์
ผลงานดังกล่าวนำไปสู่การปฏิวัติวงการฟุตบอลภายในประเทศครั้งยิ่งใหญ่ ภายใต้การนำของ มิเชล ซาบลอน ผู้อำนวยการเทคนิคทีมชาติในเวลานั้นที่ออกแบบ Blueprint หรือพิมพ์เขียวของฟุตบอลทั้งประเทศใหม่ทั้งหมด และกลายเป็นโมเดลต้นแบบที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดตำราลูกหนังฉบับหนึ่งในการสร้างฟุตบอลของชาติเล็กๆ ให้กลายเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอลได้
ผลลัพธ์ของความทุ่มเทที่ใช้ระยะเวลานับสิบปีทำให้เบลเยียมกลับมาอยู่บนแผนที่ลูกหนังอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2014 ด้วยกลุ่มนักเตะที่เปี่ยมด้วยพรสวรรค์มากมาย
เอเดน อาซาร์, ติโบต์ กูร์ตัวส์, แว็งซองต์ กอมปานี, เควิน เดอ บรอยน์, โรเมลู ลูกากู, แยน แฟร์ตองเกน, โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์, โธมัส แฟร์มาเลน, มารูยาน เฟลไลนี, ดิว็อค โอริกิ
ทีมชุดนี้ภายใต้การนำของ มาร์ค วิลมอตส์ (อดีตศูนย์หน้าชุดฟุตบอลโลก 2002) สามารถทะลุเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกที่บราซิลได้ แต่ก็ไปได้แค่นั้นเพราะเสียท่าอาร์เจนตินาที่เก๋าเกมกว่า
แต่เพราะผลงานที่น่าประทับใจและด้วยผู้เล่นที่โดดเด่นทำให้ทุกคนขนานนามเบลเยียมชุดนี้ว่าเป็น Golden Generation รุ่นใหม่ที่มีโอกาสจะสานต่อในสิ่งที่รุ่นก่อนทำไว้ไม่สำเร็จ
อย่างไรก็ดีในอีก 2 ปีถัดมาคือยูโร 2016 พวกเขาก็พ่ายต่อเวลส์แบบพลิกล็อกในรอบ 8 ทีมสุดท้ายเหมือนเดิม
ก่อนที่จะมาแก้ตัวได้ดีขึ้นในฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย เมื่อสามารถเข้าถึงรอบรองชนะเลิศได้ แต่ไม่สามารถต่อกรกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นแชมป์โลกในคราวนั้นได้
และมาถึงฟุตบอลยูโรครั้งนี้ ซึ่งหลายคนมองว่านี่เป็นโอกาสสุดท้ายสำหรับ Golden Generation รุ่นนี้ที่เล่นด้วยกันมาหลายปีนับตั้งแต่ในระดับทีมชาติชุดเยาวชนจนถึงทีมชาติชุดใหญ่
The Old Guard หรือแข้งรุ่นเก๋านั้นอายุเริ่มมากขึ้นและโรยราลงทุกวัน อย่าว่าแต่ 3 ปราการหลังอย่างแฟร์มาเลน (35 ปี), แฟร์ตองเกน (34 ปี) หรืออัลเดอร์ไวเรลด์ (32 ปี) เลย แม้กระทั่งคนที่เคยเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของทีมอย่าง เอเดน อาซาร์ ก็หาฟอร์มตัวเองไม่เจอมา 2 ปี และดูเหมือนสภาพร่างกายของเขาจะเริ่มมีปัญหาในวัย 30 ปี
แม้แต่คนที่เก่งที่สุดของทีมเวลานี้อย่าง เควิน เดอ บรอยน์ ก็อายุล่วงมาถึง 29 ปี ไม่ได้เป็นเด็กเนิร์ดหน้าใสอีกต่อไปแล้ว แถมยังมีอาการบาดเจ็บที่ใบหน้ามาจากนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลแชมเปียนส์ลีกที่ชอกช้ำ
‘นาทีทอง’ สำหรับพวกเขาเหลือน้อยลงทุกที และนั่นหมายถึงหากทำไม่สำเร็จในฟุตบอลยูโรหนนี้ บางทีก็อาจจะต้องเริ่มต้นกระบวนการสร้างทีมรุ่นใหม่โดยที่หลายๆ คนจะไม่ได้ไปต่อ โดยเฉพาะสามกองหลังตัวเก๋าที่รุ่นน้องรอเสียบตำแหน่งเต็มที เพราะยังมีฟุตบอลโลก 2022 ที่จะแข่งช่วงปลายปีหน้ารออยู่
แฟร์ตองเกน เป็นหนึ่งในคนที่รู้ตัวดี “นี่จะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่กดดันที่สุด เพราะเราอยู่ในจุดพีกของเราแล้ว”
โดยที่อีกคนที่น่าจะใช้โอกาสนี้เป็นการปิดฉากงานสุดท้ายคือตัวของ โรเบร์โต มาร์ติเนซ โค้ชที่ไม่ได้คิดว่าจะอยู่กับทีมมายาวนานถึง 5 ปีแบบนี้ แม้จะเป็นการทำงานที่มีความสุขมากก็ตาม แต่ก็เริ่มมีข่าวว่าเป็นที่สนใจของหลายสโมสร
หากเดอ บรอยน์ฟิตสมบูรณ์, อาซาร์ฟื้นสภาพร่างกายกลับมาได้ และลูกากูยังเปิดโหมดอสูร เบลเยียมก็มีโอกาส
อย่างไรก็ดีจะไหวหรือไม่ต้องติดตามในเกมแรกของยูโร 2020 สำหรับพวกเขา ที่จะพบกับรัสเซียในช่วงดึกคืนนี้
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/football/2021/jun/11/roberto-martinez-upbeat-as-belgiums-old-guard-have-final-tilt-at-major-title
- https://www.bbc.com/sport/football/17758978.amp
- https://www.theguardian.com/football/2014/jun/06/belgium-world-cup-squad-2014
- https://www.theguardian.com/football/2021/jun/02/euro-2020-team-guides-part-5-belgium