สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า Amazon, Apple, Facebook และ Google อาจต้องยกเครื่องการดำเนินธุรกิจภายใต้การปฏิรูปการต่อต้านการผูกขาดของแพลตฟอร์ม หากร่างกฎหมาย 5 ฉบับเกี่ยวกับการต่อต้านการผูกขาดผ่านการอนุมัติขึ้นเป็นกฎหมาย
โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ทำการควบรวมกิจการกันยากขึ้น ตลอดจนถูกห้ามครอบครองกิจการที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน
ทั้งนี้ร่างกฎหมายนี้เกิดขึ้นจากการสอบสวนที่ยาวนานโดยคณะอนุกรรมการตุลาการสภาผู้แทนราษฎร เรื่องการต่อต้านการผูกขาดในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 4 แห่ง ประกอบด้วย Amazon, Apple, Facebook และ Google ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นเมื่อปีที่แล้ว
CNBC ระบุว่า ร่างกฎหมายนี้แสดงถึงความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่มีอายุนับศตวรรษในรอบหลายทศวรรษอย่างครอบคลุมที่สุด
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายจะต้องได้รับการโหวตจากคณะกรรมการตุลาการก่อนที่จะเข้าสู่สภาเต็ม พวกเขาจะต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภาก่อนที่จะลงนามในกฎหมายโดยประธานาธิบดี
โดยจากการดำเนินการสอบสวนที่ยาวนาน คณะกรรมการพบว่า Amazon, Apple, Facebook และ Google มีอำนาจผูกขาด และควรมีการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการผูกขาดเพื่อรับมือกับความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น
ในขณะที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามพวกเขาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับปัญหาจากการผูกขาดทางการค้าที่จะเป็นอันตรายต่อการแข่งขัน และการปฏิรูปนั้นจำเป็นต่อการฟื้นฟูตลาด
ทั้งนี้ร่างกฎหมายใหม่ถูกเปิดเผยออกมา 2 ฉบับ ซึ่งอาจะเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติสำหรับ Amazon และ Apple เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีผลิตภัณฑ์หรือแอปพลิเคชันของตนเองที่แข่งขันกับผู้ขายหรือนักพัฒนารายอื่นๆ ที่พึ่งพาบริการของตน
โดยร่างกฎหมาย 2 ฉบับใหม่ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการต่อต้านการผูกขาดของแพลตฟอร์ม (Platform Anti-Monopoly Act) ซึ่งได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น American Choice และ Innovation Online Act และพระราชบัญญัติการยุติการผูกขาดแพลตฟอร์ม (The Ending Platform Monopolies Act)
ในส่วนของการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้องมีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน โดย จอฟฟรีย์ แมนน์ (Geoffrey Manne) ประธานและผู้ก่อตั้ง International Center for Law & Economics กล่าวในแถลงการณ์ว่า การนำรูปแบบการกำกับดูแลของยุโรปมาใช้จะทำให้บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกาสร้างสรรค์และแข่งขันกันได้ยากขึ้นทั้งในอเมริกาและทั่วโลก ทั้งนี้องค์กรของ Geoffrey Manne เคยได้รับทุนสนับสนุนจาก Google มาก่อน
ขณะที่ อดัม โควาเชวิช (Adam Kovacevich) ซีอีโอของ Chamber of Progress ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Amazon, Facebook และ Google แย้งว่าผู้บริโภคจะสูญเสียบริการต่างๆ มากมายหากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านการพิจารณา เช่น Amazon จะไม่สามารถนำเสนอบริการการจัดส่งฟรีแบบ Prime สำหรับผลิตภัณฑ์บางอย่างได้ และ Google ไม่สามารถให้บริการผลลัพธ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดแก่ผู้ใช้งานเชิงธุรกิจในพื้นที่ของตนได้ Apple จะไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งแอปฯ ‘Find My’ ของตัวเองล่วงหน้าบนอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้ค้นหาสิ่งของที่สูญหาย รวมถึง Facebook ไม่อนุญาตให้โพสต์ข้าม Instagram ได้ง่ายๆ เนื่องจากอาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: