เช้าวันจันทร์เป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนเตรียมตัวออกจากบ้านไปทำงาน เตรียมร่างกายเพื่อจะเริ่มต้นใช้ชีวิตในวันแรกของสัปดาห์อย่างเต็มที่ แต่เช้าวันจันทร์สำหรับบางคน อาจเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอย่างหนัก จนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองในที่สุด
ผลการศึกษาใหม่จาก The Institute of Psychiatry, Psychology & Neuroscience (IoPPN) ของ King’s College London พบว่า มีผู้คนจำนวนมากเผชิญกับวิกฤตสุขภาพจิต และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ โดยหลักๆ ของการค้นพบนี้อยู่ในฟอรัม SuicideWatch ของแพลตฟอร์มออนไลน์ Reddit ซึ่งมีโพสต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาระหว่างตี 2 ถึงตี 5 ในเช้าวันจันทร์
การศึกษานี้รวบรวมชุดข้อมูลได้ทั้งหมด 90,518 โพสต์ในฟอรัม จากวันที่ 1 ธันวาคม 2008 จนถึง 31 สิงหาคม 2015 และหลังจากการเพิ่มขึ้นในช่วงเช้าวันจันทร์ โพสต์ดังกล่าวที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายก็มีแนวโน้มที่จะลดลงระหว่างวันอังคารไปจนถึงวันเสาร์
รินา ดัตตา ผู้ตรวจสอบหลักของผลการศึกษานี้กล่าวว่า วันจันทร์มักถูกระบุว่าเป็นวันที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่ผู้คนจะตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง และจากข้อมูลที่ทาง IoPPN ได้ศึกษามา ก็ทำให้เห็นแล้วว่าแนวโน้มนี้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามรูปแบบเวลาดังกล่าว
“ถ้าหากข้อมูลนี้ได้รับการพัฒนาอย่างถูกวิธี เราอาจสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังกลุ่มประชากรที่เรายังเข้าไม่ถึง และส่งข้อความป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือแทรกแซงการกระทำนั้นในสถานที่และเวลาที่จำเป็นที่สุด” รินากล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ของข้อมูลเชิงลึกที่ได้รวบรวมมา
มาตรการดังกล่าวที่รินาแนะนำ รวมถึงการคัดกรองเว็บไซต์หรือการสนับสนุนทางโทรศัพท์ (สายด่วนต่างๆ) ให้แก่บุคคลที่มีความทุกข์ทางอารมณ์ และต้องการความช่วยเหลือ เช่น เพิ่มอาสาสมัครจากสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย ให้เพียงพอต่อการบริการรับให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ในช่วงเวลาดังกล่าว
และจากการศึกษาก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับจำนวนของความพยายามฆ่าตัวตายในวันจันทร์ที่อ้างโดย รินา ดัตตา ก็พบว่า การศึกษาในปี 2014 ที่ตีพิมพ์โดย Journal of Emergency Medicine ก็ได้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกัน เมื่อวิเคราะห์การพยายามฆ่าตัวตายด้วยยาพิษ ที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านครั้งในสหรัฐอเมริกา
เกิดอะไรขึ้นในเช้าวันจันทร์? ทำไมถึงต้องเป็นช่วงเวลานั้น? โดยปกติแล้วความรู้สึกของผู้คนเมื่อถึงเช้าวันจันทร์ นั่นก็คือการเริ่มต้นสัปดาห์ จึงอาจกล่าวได้ว่านี่อาจเป็น ‘ทฤษฎีการเริ่มต้นใหม่’ ก็ว่าได้ โดยผู้ที่เผชิญกับความเจ็บปวดทางอารมณ์ หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตายพบว่า ความรู้สึกเชิงลบต่างๆ ของพวกเขาจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงเวลาใหม่ เช่น การเริ่มต้นสัปดาห์ใหม่
หรืออาจกล่าวได้ว่า พวกเขาอาจรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในจิตใต้สำนึกของตัวเองที่ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่แบบสดใสได้ ทั้งที่ชีวิตของพวกเขาดำเนินมาถึงสัปดาห์ใหม่แล้ว และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในภาวะซึมเศร้า ภาวะทางอารมณ์ หรือสภาพจิตใจโดยรวมให้รุนแรงมากขึ้น
ปรากฏการณ์นี้ยังเห็นได้ชัดในช่วงวันปีใหม่เช่นกัน โดยบทความที่ตีพิมพ์ใน The Guardian ปี 2005 ซึ่งรายงานว่าวันปีใหม่ 2000 ขณะที่ทั้งโลกกำลังเฉลิมฉลองรุ่งอรุณของสหัสวรรษใหม่ ที่อังกฤษและเวลส์กลับพบรายงานการฆ่าตัวตายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยชายและหญิง 23 คนเลือกที่จะยุติความสิ้นหวังด้วยการสละชีวิตของตัวเองในวันนั้นอย่างน่าเศร้า ซึ่งมีจำนวนค่าเฉลี่ยรายวันมากกว่าสองเท่าในช่วงสิบปีก่อนหน้านั้น
นอกจากนี้ วันจันทร์ยังเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดการแปรปรวนทางอารมณ์หรือ Mood Swing เนื่องจากเป็นช่วงที่สลับจากโหมดพักผ่อนแสนสุขไปยังโหมดทำงานที่แสนน่าเบื่อ
ผลการศึกษาจาก University of Sydney in Australia ที่ถามผู้คนว่าในแต่ละวันของสัปดาห์ พวกเขารู้สึกอย่างไรบ้าง แม้แต่ละวันจะมีรายงานทางอารมณ์ที่ไม่แตกต่างกันเท่าไรนัก แต่ผู้คนมักจะจำได้ว่าอารมณ์ของพวกเขามาถึงจุดต่ำสุดในวันจันทร์ หรือเรียกว่าเป็นอาการ Monday Morning Blues
รินายังกล่าวถึงผลกระทบของโซเชียลมีเดียที่มีต่อสุขภาพจิต ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา เราต่างอาศัยอยู่ในโลกที่ต่างไปจากเดิม การใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางย่อมรบกวนการนอนหลับของผู้คน และเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และความนับถือตัวเองที่ต่ำลง
“การลดการใช้โซเชียลมีเดียในช่วงเวลากลางคืน อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะลดการแทรกแซงทางจิตใจได้” รินากล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่มีความกังวลเกี่ยวกับบทบาทของตัวเองบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ซึ่งมีส่วนกระตุ้นให้พวกเขาเกิดวิกฤตสุขภาพจิตมากขึ้น ถึงแม้โซเชียลมีเดียจะช่วยขจัดความเหงาและความโดดเดี่ยวในช่วงกักตัวจากโรคระบาดได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอย่างมาก
โดยความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งความกังวลว่าจะตกข่าวสาร หรืออาการ FOMO (Fear of Missing Out) ทั้งโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำหรับการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) และบางครั้งก็บั่นทอนให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง หรือมีความนับถือตัวเองต่ำ เนื่องจากการได้เห็นชีวิตด้านดีๆ หรือด้านที่น่าอิจฉาของผู้อื่นมากเกินไป โดยลืมไปว่านั่นคือด้านที่ทุกคนย่อมนำเสนอออกมาให้เห็นอยู่แล้ว ซึ่งเราต่างมีด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การได้รู้ถึงช่วงเวลาที่ทำให้วิกฤตทางสุขภาพจิตรุนแรงขึ้น ก็เป็นผลดีต่อการนำไปหาวิธีป้องกันความพยายามฆ่าตัวตาย หรือเตรียมความพร้อมสำหรับการช่วยเหลือในช่วงเวลายามค่ำคืนที่ใครหลายคนหลับใหล แต่ยังมีบางคนทุกข์ระทมกับโลกที่มืดมนนั้นอยู่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.walesonline.co.uk/news/uk-news/people-post-suicide-page-most-20663710
- https://www.forbes.com/sites/gusalexiou/2021/05/26/new-study-shows-posts-to-reddit-suicide-forum-peak-in-early-hours-of-monday/?sh=697aaf33705d
- https://www.psychologytoday.com/us/blog/minding-the-body/201204/are-monday-mornings-really-awful