กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังคงเป็นประเด็นที่กดดันให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายที่ส่งไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยพบว่าอัตราค่าระวางเรือในสองเส้นทางนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 10,000 ดอลลาร์ต่อตู้แล้ว
“ค่าระวางเรือที่สูงขนาดนี้ หากเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงอาจไม่ส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทอาหาร ค่าระวางอาจมีมูลค่าคิดเป็น 50% ของมูลค่าสินค้า โดย สรท. ประเมินว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จะลากยาวไปจนถึงสิ้นปี ทำให้ค่าระวางยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นที่เรากังวล”
กัณญภัคกล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่ สรท. เริ่มมีความกังวลในช่วงนี้คือการระบาดของโควิดที่เริ่มลุกลามส่งผลกระทบไปสู่ภาคการผลิต จึงอยากให้ภาครัฐเร่งกระจายวัคซีนลงสู่ภาคการผลิตโดยเร็วเพื่อป้องกันปัญหาการผลิตชะงักงัน ซึ่งอาจกระทบต่อภาพรวมการส่งออกที่กำลังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเวลานี้
“เราคาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 6-7% ภายใต้เงื่อนไขว่าการผลิตจะไม่สะดุดจากสถานการณ์โควิด ซึ่งหากเรากระจายวัคซีนสู่ภาคการผลิตได้เร็วและหาตู้คอนเทนเนอร์ได้เพิ่ม การเติบโตก็อาจจะสูงขึ้นไปได้ถึง 15% เพราะความต้องการสินค้าจากกลุ่มประเทศที่ควบคุมโรคระบาดและกระจายวัคซีนได้ดี เช่น สหรัฐฯ และยุโรป มีสูงมาก จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะฉวยโอกาสจากตรงนี้ได้ดีเพียงใด”
สำหรับค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้นั้น ที่ปรึกษา สรท. มองว่า ยังไม่ใช่ปัจจัยที่น่าห่วงมากนัก เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดยังมีสูง อย่างไรก็ดี หากค่าเงินยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็อาจเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ยอดขาย รายได้ และกำไรของผู้ผลิตสินค้าลดลงเพิ่มเติมจากแรงกดดันอื่นๆ เช่น ค่าระวางเรือ รวมถึงราคาน้ำมันและเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตาม
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น