วานนี้ (7 มิถุนายน) สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมารายงานถึงกรณีคณะรัฐประหาร แบนการนำเข้าสบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ พร้อมพยายามโปรโมตให้พี่น้องประชาชนสนับสนุนสินค้าที่กองทัพเป็นเจ้าของกิจการหรือเข้าไปมีผลประโยชน์ในสินค้านั้นๆ หลังถูกบอยคอตนับตั้งแต่ก่อรัฐประหาร
กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การควบคุมของกองทัพระบุว่า มีคำสั่งแบนการนำเข้าสินค้าตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยอ้างว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยปกป้องกลุ่มผู้ผลิตและเจ้าของกิจการภายในประเทศ รวมถึงลดการใช้เงินตราสกุลต่างประเทศ โดยคณะรัฐประหารเมียนมาแบนการนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป โซดา และนมข้นหวานจากประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
มาตรการแบนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารและประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) เดินทางเยือนโรงงานผลิตสบู่ Padonmar Soap ในรัฐมอญ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมมีคำสั่งให้โรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้สบู่ภายในเมียนมา และใช้เป็นสินค้าทดแทนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศให้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดเมียนมาส่วนใหญ่มักเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีกว่า และเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสินค้าที่ผลิตในเมียนมา
หลายฝ่ายมองว่ามาตรการแบนดังกล่าวเป็นความพยายามของกองทัพเมียนมาที่จะสนับสนุนสินค้ากลุ่มหนึ่งในประเทศ ที่ช่วงชิงพื้นที่และส่วนแบ่งทางการตลาดจากสินค้านำเข้าที่มีคุณภาพดีกว่าไป สร้างข้อจำกัดแทนการพัฒนาสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีกทั้งกลไกราคาก็จะถูกควบคุมโดยกองทัพ ผู้อุปโภคบริโภคที่เคยใช้จ่ายในราคาเท่าเดิมหรือสูงกว่าเดิม อาจได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพลดต่ำลงกว่าเดิม
ทางด้านกลุ่มเคลื่อนไหว Justice for Myanmar (JFM) เผยว่า กองทัพพยายามจะเข้าควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ พยายามผูกขาดการซื้อขายสินค้า ซึ่งนับว่าเป็นอาชญากรรมที่จะต้องได้รับการแก้ไขและถอดรื้อ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจแต่อย่างใด กองทัพพยายามอย่างมากในการสร้างข้อจำกัดทางด้านการค้าต่างๆ เพื่อหาผลประโยชน์จากช่วงรัฐประหารที่ตนได้ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งไป
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตหลังการก่อรัฐประหารแล้ว 857 ราย ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวกว่า 4,677 ราย ออกหมายจับแล้ว 1,936 ราย ขณะที่อย่างน้อย 162 รายได้รับการตัดสินโทษแล้ว ในจำนวนนี้บางรายต้องโทษประหารชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
แฟ้มภาพ: Thet Aung / AFP
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: