กลายเป็นประเด็นที่ทำเอาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทวีความตึงเครียดขึ้นมาอีกระดับ เมื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศระหว่างการขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรำลึกครบรอบ 100 ปีแห่งการสังหารหมู่ทัลซา ห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกันทั้งหลายเข้าไปลงทุนในบริษัทด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงของจีน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีสายสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับทางกองทัพรัฐบาลจีน
สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ รายงานว่า ข้อห้ามดังกล่าวระบุอยู่ในคำสั่งผู้บริหารฉบับใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 สิงหาคม โดยคำสั่งห้ามครั้งนี้เป็นการต่อยอดจากคำสั่งผู้บริหารที่อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เซ็นรับรอง ส่งผลให้มีบริษัทจีนที่เข้าข่ายโดนขึ้นบัญชีดำเพิ่มขึ้นจากเดิม 31 รายมาอยู่ที่ 59 ราย
รายงานระบุว่า ภายใต้คำสั่งใหม่จะมีการสั่งห้ามไม่ให้นักลงทุนชาวอเมริกันเข้าไปซื้อหรือขายหุ้นของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดที่ถูกขึ้นบัญชีดำอย่าง China General Nuclear Power Corporation, China Mobile Limited, Costar Group และ Huawei
แหล่งข่าวรายหนึ่งจากทำเนียบขาวกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะติดตามเฝ้าระวังบริษัทที่ถูกขึ้นบัญชีดำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเงินของพลเรือนชาวอเมริกันจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกองทัพจีน พร้อมย้ำว่า ข้อห้ามที่เกิดขึ้นตั้งใจกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนเพื่อลดทอนผลกระทบต่อบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศให้มากที่สุด และรายชื่อบริษัททั้งหมดทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะทยอยอัปเดตในภายหลัง
ขณะนี้หลายฝ่ายต่างจับตารอดูท่าทีของทางรัฐบาลจีน ซึ่งก่อนหน้านี้แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจีนพร้อมจะออกมาตรการโต้ตอบสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ มีการออกมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนของจีน ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งต่างรอดูว่ามาตรการครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือไม่
ขณะเดียวกันสำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศระงับการขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้กับ 6 ประเทศ คือ ออสเตรีย, อินเดีย, อิตาลี สเปน, ตุรกี และสหราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราว ซึ่งเดิมกำแพงภาษีดังกล่าวมีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาษีบริการดิจิทัลของรัฐบาลเหล่านั้น
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลให้มีการชะลอการบังคับใช้แผนการเก็บภาษี 25% กับสินค้านำเข้าจาก 6 ประเทศ ครอบคลุมกุ้ง พรม เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และแผงบังคับเกม รวมมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปอีก 180 วัน เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังยุ่งอยู่กับการเจรจาเพื่อผลักดันข้อเสนอการเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราเดียวกันทั่วโลกกับทางองค์การเพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ (G20)
แคทเธอรีน ไท ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ระบุว่า ขณะนี้สหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับประเด็นภาษีระหว่างประเทศผ่านกระบวนการของ OECD และ G20 ซึ่งต้องการเวลาในการดำเนินการ ขณะที่การจัดเก็บภาษีภายใต้มาตรา 301 ที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้เพื่อตอบโต้ภาษีบริการดิจิทัลของหลายประเทศเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาต่อไปในอนาคต
อ้างอิง: