ประเด็นของ TukTuk Finance ซึ่งเป็น DeFi สายฟาร์มเจ้าแรกบน Bitkub Chain หลังจากเปิดให้มีการลงทุนผ่านระบบได้เมื่อ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าราคาของเหรียญ TukTuk กลับมีความผันผวนอย่างหนัก จากการที่ราคาภายหลังเริ่มซื้อขายได้พุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัวในเวลาไม่กี่นาที ก่อนจะดิ่งกลับลงมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง และทำให้ผู้ลงทุนใน DeFi บางส่วนเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเข้ามาลงทุนใน DeFi ของประเทศไทย
สำเร็จ วจนะเสถียร Tech Director ของ Bitkub Chain ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว THE STANDARD WEALTH โดยยืนยันว่า Bitkub ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโปรเจกต์ TukTuk Finance ขณะเดียวกันทาง Bitkub ไม่มีนโยบายที่จะลงทุนในส่วนของ DeFi ด้วยเช่นกัน สิ่งที่ทีมงานจะทำ คือการมุ่งพัฒนาแพลตฟอร์ม Bitkub Chain
ส่วนประเด็นที่หลายคนสนใจและอาจสงสัยกันอยู่ คือจริงๆ แล้ว TukTuk Finance เป็นเพียงแค่ ‘แชร์ลูกโซ่’ หรือไม่
Tech Director ของ Bitkub Chain กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่คิดว่า TukTuk จะเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่ด้วยโมเดลธุรกิจแบบธุรกิจเครือข่าย (MLM) หากมีการปรับเพียงนิดหน่อยก็อาจจะกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ไปได้
“จริงๆ แล้วธุรกิจแบบ MLM บางแห่งก็สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้จริง เช่น Amway ส่วนกรณีของ TukTuk มีช่องโหว่จากเรื่องของสภาพคล่องที่น้อยเกินไป และการเลือกใช้ระบบ AMM (ผู้ดูแลสภาพคล่องอัตโนมัติกับระบบที่มีสภาพคล่องต่ำทำให้ราคาถูกปั่นขึ้นไปสุดๆ ได้ในชั่วพริบตา”
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เกี่ยวกับระบบ AMM สมมติว่าในระบบมีหุ้นเพียงแค่ 1 หุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1 บาท หากมีนักลงทุนที่ต้องการลงทุน 1 ล้านบาทก็จะได้เพียงแค่ 1 หุ้น และจะได้รับเงินที่เหลืออีกกว่า 9 แสนบาทกลับมา
แต่สำหรับระบบ AMM นั้น แม้ว่าจะมีเพียงแค่ 1 หุ้น ที่ราคา 1 บาท นักลงทุนก็ยังจะสามารถใช้เงินไปทั้งหมด 1 ล้านบาท เพียงแต่จะได้หุ้นกลับมาเป็นเศษหุ้นน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ก็จะไม่เป็นศูนย์ ซึ่งระบบนี้เกิดจากการอาศัยสูตรทางคณิตศาสตร์มาช่วยคำนวณ
“ในมุมของผม TukTuk ไม่ได้เป็นแชร์ลูกโซ่ เพียงแต่ถ้าคุณไม่มีความรู้เพียงพอและตกเป็นเหยื่อ เมื่อราคาโดนปั่นขึ้นไปสูงๆ คนที่เข้าไปทีหลังก็เหมือนกลับเข้าไปจ่ายเงินให้กับคนก่อนหน้านี้ และกลายเป็นเหมือนแชร์ลูกโซ่”
ทั้งนี้ถามว่าในอนาคตมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกหรือไม่ หรือจะยังมีผู้ที่เข้ามาทำ DeFi ผ่าน Bitkub Chain เพิ่มหรือไม่ ในส่วนนี้สำเร็จกล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้วเทคโนโลยีบล็อกเชนจะเปิดเป็นสาธารณะอยู่แล้ว คนที่ถือครองเหรียญ KUB อยู่ก็สามารถที่จะเข้ามาสร้างโปรเจกต์ของตัวเองบนนี้ได้ทันที
อย่างไรก็ดี การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกอาจจะพอทำได้บ้าง เช่น การเพิ่มค่าธรรมเนียม (Gas) ในการเข้ามาใช้งานระบบให้มากขึ้นกว่านี้ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคัดกรองคนที่ตั้งใจมาสร้างโปรเจกต์จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่หวังเข้ามาเก็งกำไร เพราะเห็นว่าค่าธรรมเนียมต่ำ
“การพูดถึงราคาของ KUB ที่ใช้เป็นค่า Gas บน Bitkub Chain ในที่นี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้นำราคา แต่อยากจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่หากตั้งราคาต่ำเกินไป ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่หวังดีสามารถที่จะใช้เงินเพียงไม่เท่าไรเข้ามาโจมตี Bitkub ให้ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้วโดยปกติเราจึงมักจะใช้กลไกราคาในการป้องกันการโจมตี”
นอกจากนี้ สิ่งที่พอจะทำได้คือ การให้เจ้าของโปรเจกต์ต่างๆ ลงทะเบียนยืนยันตัวตน ซึ่งจะช่วยให้เรารู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของโปรเจกต์ หรือในบางโปรเจกต์ที่เลือกจะไม่ยืนยันตัวตนเราก็สามารถบอกให้นักลงทุนทั่วไปรู้ได้ก่อนว่าโปรเจกต์นี้ไม่ได้ยืนยันตัวตน และสิ่งที่สำคัญคือนักลงทุนก็ต้องพยายามศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่ต้องการจะลงทุนมากขึ้น
แม้ว่าโปรเจกต์ต่างๆ จะเข้ามายืนยันตัวตนแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะปลอดภัย เพียงแต่เราจะรู้ว่าใครเป็นคนที่ทำโปรเจกต์นี้ จริงๆ แล้ว Bitkub Chain เป็นการสร้างโลกเสมือนอีกใบหนึ่ง ไม่ต่างจาก Ethereum หรือ Binance และก็มีคนเข้ามาสร้างประเทศในโลกของเราได้ ซึ่งในส่วนนี้เราสามารถให้ความรู้ได้ว่าแต่ละประเทศมีความเสี่ยงอย่างไร และสุดท้ายแล้วก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่ายินดีจะรับความเสี่ยงนั้นหรือไม่
ปัจจุบันมีโปรเจกต์ที่จะเข้ามาทำบน Bitkub Chain รออยู่อีก 4-5 ราย ซึ่งก็คงต้องพยายามดูแลในเรื่องของสภาพคล่อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบ TukTuk ขึ้นอีก
“ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมานี้มีทั้งด้านดีและไม่ดี ขณะเดียวกันก็เหมือนสงครามด้านการเงินระหว่างประเทศบนโลกออนไลน์ ซึ่งประเทศที่สามารถให้ความรู้กับคนได้มากกว่า ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เงินไหลออกไปที่อื่นได้มาก”
สำหรับประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากเพราะมีคนเก่งเยอะ แต่สิ่งที่ต้องช่วยกันคือคนที่มีความรู้ต้องไม่พยายามหาประโยชน์จากคนไทยด้วยกันเอง
อย่างเรื่องการลงทุนใน DeFi หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่ามีความเสี่ยงที่เงินต้นจะหายไปได้ บางคนนำเงินเข้ามาเพราะหวังว่าจะได้ดอกเบี้ยสูงๆ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง
หรือแม้แต่คนที่อยากจะทำโปรเจกต์ของตัวเอง และเผชิญกับความเสี่ยงที่หลายคนอาจจะเรียกว่า ‘ถูกแฮ็ก’ แต่โดยส่วนตัวแล้วมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะเป็นความผิดพลาดจากการที่เขียน Smart Contract ไว้ได้ไม่ดีพอ จนมีช่องโหว่ให้คนภายนอกเข้ามาดึงเงินออกไปได้ และปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ DeFi หลายแห่งเกิดจากการที่ก๊อบปี้ โค้ดที่มีอยู่ก่อนแล้ว และนำมาเปลี่ยนหน้าตา เปลี่ยนชื่อใหม่ หากโปรเจกต์แรกโดนโจมตีก็มีโอกาสที่โปรเจกต์ที่ก๊อบปี้มาจะถูกโจมตีไปด้วยได้
“สำหรับนักพัฒนาแล้ว ต้องยอมรับว่าโลกของ Decentralized จะต้อนรับเฉพาะมืออาชีพเท่านั้น เพราะต้องอาศัยความรอบคอบอย่างมากในการพัฒนาโปรเจกต์และป้องกันความเสี่ยงของตัวเอง”
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ