อดีตผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ เตือนว่า ความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรสาธารณสุขทั่วโลก
ดร.ทอม เคนยอน ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่สุขภาพของ Project Hope เผยกับ Insider ว่า บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิตท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลหรือหดหู่ในช่วงเวลาที่พวกเขารักษาผู้ป่วย
สำหรับ Project Hope นั้นได้จัดการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิตและความยืดหยุ่นสำหรับบุคลากรการแพทย์ในอินโดนีเซีย สาธารณรัฐโดมินิกัน และฟิลิปปินส์ เมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว เพื่อช่วยบุคลากรในแนวหน้าในการจัดการกับแรงกดดันที่อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพจิตที่เป็นลบ
เคนยอนเตือนว่า การขาดแคลนวัคซีนทั่วโลกส่งผลให้ปัญหาดังกล่าวเลวร้ายลงเรื่อยๆ โดยในขณะที่บุคลากรในสหรัฐฯ มีความตึงเครียดน้อยลงจากการที่ประชาชนได้รับวัคซีนมากขึ้น แต่การขาดแคลนวัคซีนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนากำลังเลวร้ายลงและบั่นทอนสภาพจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ
“เราจะไม่เห็นส่วนอื่นๆ ของโลกได้รับวัคซีนกันครบในเร็วๆ นี้ โดยในเวลานี้มีโลกสองใบ ซึ่งก็คือโลกของเราซึ่งพร้อมที่จะเปิดและกลับสู่ภาวะปกติ กับโลกของประเทศรายได้ต่ำที่ไม่ได้อยู่ในเรดาร์ของใครเลย” เคนยอนกล่าวเมื่อเดือนที่แล้ว “พวกเขาไม่มีวัคซีน ผมคิดว่าเราจะโชคดี หากเราฉีดวัคซีนครอบคลุม 10% ของโลกได้ภายในสิ้นปีนี้”
ปัจจุบันมีการกระจายวัคซีนด้วยจำนวนโดสที่เพียงพอเพียง 12.5% ของประชากรโลก ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ประชาชนในประเทศร่ำรวยได้รับการฉีดวัคซีนเร็วกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงกว่า 30 เท่า โดยในสหรัฐฯ ประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วมีมากกว่า 46% ส่วนฟิลิปปินส์มีประชากรเพียง 2.4% ที่ได้รับวัคซีนครบโดส เมื่อนับจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน
เคนยอนอธิบายเสริมว่า การที่ประชาชนได้รับวัคซีนแล้ว ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลของบุคลากรการแพทย์ที่มีต่อสุขภาพของพวกเขาเองและความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่พวกเขาจะต้องดูแลด้วย
นอกจากปัญหาสุขภาพจิตแล้ว องค์การอนามัยโลกยังประเมินว่า ทั่วโลกจะขาดแคลนบุคลากรแพทย์ 18 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศรายได้ต่ำหรือประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ
ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ในสหรัฐฯ มีบุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้า 20-30% ที่พิจารณาออกจากอาชีพ ส่วนสมาคมการแพทย์อังกฤษรายงานว่า มีหมอหลายพันคนในสหราชอาณาจักรที่มีแผนออกจากอาชีพ
เคนยอนกล่าวว่า แนวโน้มนี้อาจเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบัน เพื่อที่ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลนขึ้น
ภาพ: Michele Lapini / Getty Images
อ้างอิง: