นักฟังเพลงรุ่นใหม่อาจยังไม่รู้จักพวกเขามากนัก น้องบางคนอาจเริ่มรู้จักพี่เขาจากซีรีส์เรื่อง Hormones วัยว้าวุ่น เพราะในเรื่อง ทางวงถูกกล่าวถึงในฐานะวงโปรดของต้าและไผ่ Death of A Salesman (DOSM) หรือ อวสานเซลส์แมน เป็นศิลปินดูโอ้แนวอัลเทอร์เนทีฟที่มีสมาชิกคือ กระชาย-จตุรวิธ ฉัตตะละดา และ ปริญญ์-ปริญญ์ อมรศุภศิริ ซึ่งเมื่อปี 2001 ได้เดบิวต์เพลงแรกที่มีชื่อว่า สปิน รวมอยู่ในอัลบั้มคอมไพเลชัน Smallroom 002: Songs from the Audience โดยสังกัด Smallroom ซึ่งเป็นค่ายอินดี้ที่อยู่ในช่วงมาแรงสุดๆ ณ ขณะนั้น และในปีถัดมา (2002) ทางวงได้ออกอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียว โดยมีผลตอบรับอันดี เป็นที่นิยมในกลุ่มนักฟังเพลงอินดี้ในยุคนั้น ซึ่งเป็นชุมชนคนฟังเพลงขนาดกลางถึงเกือบใหญ่ และถูกยกให้เป็นวงในตำนานอีกวงหนึ่ง หลังจากที่พวกเขาเงียบหายไป ไม่มีผลงานต่อเนื่องอีกเลยมาจนกระทั่งวันนี้ที่ได้ฤกษ์ปล่อยเพลงใหม่กันเสียทีกับเพลงที่มีชื่อว่า ขโมย ดังนั้นการกลับมาครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องไม่ธรรมดาและน่าหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างยิ่ง ในเมื่อความถี่ของการเกิดขึ้นช่างต่ำกว่าความถี่ของปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างราหูอมจันทร์ และปรากฏการณ์ไม่ธรรมชาติอย่างการก่อรัฐประหาร
“ไม่ป๊อปเลย” นี่ความรู้สึกแรกที่กระเพื่อมขึ้นมาตั้งแต่ยังฟังได้ไม่ถึงครึ่งเพลง “แต่ก็เป็นไปตามที่คาดไว้” เพราะเราคิดว่าวงดนตรีอันมีเครดิตในเรื่องความล้ำที่กลับมาในรอบ 20 ปีคงไม่คิดจะเปิดตัวด้วยเพลงบับเบิลกัมง่ายๆ ถ่ายคล่องๆ มันต้องมีสุ้มเสียงแห่งการประกาศกร้าวว่าข้ากลับมาแล้ว! เพลงแบบนี้แหละถูกต้องแล้ว เพลง ขโมย ทำหน้าที่เหมือนเป็น Overture ที่จะนำพาผู้ฟังไปสู่ฉากต่อไปในศักราชใหม่ของผลงานก้อนใหม่ ส่วนเพลงป๊อปๆ จะปล่อยเมื่อไรก็ได้หลังจากนี้
“ฟังจบแล้ว” ลายเซ็นเดิมของ DOSM ที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงคือรสนิยมและความเนี้ยบ รสนิยมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะมันเป็นสิ่งที่ใช้เวลาสั่งสมมาตั้งแต่วัยที่เรายังไม่ทันได้รู้ตัว เป็นคลังเพลงที่ไหลเวียนอยู่ในตัวที่คิดจะหยิบจับมาปรับใช้เมื่อไรก็ยังคงเท่อยู่เสมอ เหมือนอาหารหูที่บ่มเพาะสุขภาพหูมาตั้งแต่เด็ก ส่วนความเนี้ยบถูกที่ถูกเวลาของทุกเสียง และความใส่ใจในรายละเอียดนั้น เราได้ประจักษ์มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว ยิ่งมาเจอการเรียบเรียงดนตรีที่สะอาดและคมชัดขึ้น ทำให้ผลงานเก่าๆ ของทางวงกลับฟังดูดิบกร้านขึ้นมาทันที ทั้งที่จริงๆ แล้วอันนั้น ณ ตอนนั้นมันก็เนี้ยบมากแล้ว
เพลง ขโมย ได้โพล่งออกมาในยามที่จำนวนศิลปินฮิปฮอปกำลัง Over Supply และวงป๊อปร็อกรุ่นใหม่ต่างกำลังหมกมุ่นกับการเป็นร่างทรงของ The 1975 และเทรนด์การร้องเพลงกำลังนิยมใช้ยาคลายกล้ามเนี้อที่ลิ้นไก่ ลามไปจนถึงการฉีดโบท็อกซ์ที่โคนลิ้น หรือไม่ก็ใช้ออโต้จูนแปลงเสียงให้กลายเป็นอมนุษย์ไปเลย ดังนั้น ณ เพลานี้จึงเป็นจังหวะอันดีที่ทำให้เพลงใหม่เพลงนี้ฟังดูโดดเด่นและแตกต่างได้ไม่ยาก
ในภาคดนตรีที่ไม่ถึงกับสังเคราะห์จ๋าๆ แต่ฟังดูสังเคราะห์ด้วยวิธีการแบบออร์แกนิก โดยเอาเครื่องดนตรีสากลปกติมาปรับแต่ง Sound Design ให้ฟังดูไม่ธรรมดา เหมือนเป็นโจทย์ที่ทางวงได้ตั้งไว้ (เดาเอานะ) เสียงแปลกประหลาดทั้งหลายส่วนใหญ่มีวัตถุตั้งต้นเป็นกีตาร์ไฟฟ้าที่ถูกนำมาบิดแร่แปรธาตุด้วยกรรมวิธีทางคหกรรมศาสตร์ เสียง Ambient ที่หยิบยืมเทคนิคจากดนตรีแนว Shoegazer มาพองาม ไม่ฟุ้งซ่านเกินความจำเป็น แซมด้วยเปียโนไฟฟ้าแบบวินเทจ เพียงวัตถุดิบที่เรียบง่ายก็สามารถนำมาปรุงอาหารจานเด็ดที่ดูเหมือนซับซ้อนได้ เพราะมันเป็นงานคราฟต์ทำมือที่นับวันจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
ภาพรวมของเพลงจึงฟังดูมีความเป็นสินค้า OTOP ที่โดดเด่นอยู่ท่ามกลางจักรวาลแห่งบทเพลงออนไลน์ที่เต็มไปด้วยเสียงซินธ์ร้อยพัน Preset ที่เราต้องแอบร้อง “ฮั่นแน่” ในใจเบาๆ กับหลายๆ เพลงที่ถูกค้นพบจาก Shuffle Mode ในสื่อสตรีมมิง กระชายและปริญญ์เลือกที่จะไม่ทำอะไรที่มักง่ายแบบนั้น สุ้มเสียงที่ได้จึงมีกลิ่นความเป็นเพลงสากล แอบทำให้เราหวนนึกถึง Radiohead ในยุคเปลี่ยนผ่านอย่างกลุ่มเพลงจากอัลบั้ม OK Computer และผลงานร่วมยุคของ Bjork และ Nine Inch Nail ลามถึง Muse ในยุค 00 หย่อนผ่านเข้ายุค 10 หยกๆ ไปจนถึงเพลงประกอบภาพยนตร์ที่ประพันธ์โดย Trent Reznor & Atticus Ross อยู่กลายๆ
ในส่วนของเนื้อหานั้นก็ยังคงความไม่ง่ายเช่นกัน หรือจะเรียกว่ายากเลยก็ได้ ราวกับดูหนังเรื่อง Tenet ที่เราเข้าใจในคอนเซปต์และองค์รวม แต่รายละเอียดในระดับบรรทัดต่อบรรทัดนั้นช่างน่างงงวย ถึงแม้ถ้อยคำที่ใช้จะไม่ได้วิลิศมาหราอะไร แต่คำสันธานและบุพบทที่ทำหน้าที่เชื่อมคำและประโยคนั้นช่างขัดกับธรรมชาติการใช้งาน และความเป็นเหตุเป็นผลเชื่อมโยงกันระหว่างประโยคหนึ่งไปยังอีกประโยคหนึ่งก็พาให้เรามึนตึ้บ ทุรนทุรายอยากจะเข้าใจแต่ไม่มีเบอร์ครูลิลลี่ให้โทรถาม แต่สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้เนื้อเพลงฟังดูเท่เหมือนบทกวีที่แฝงความซับซ้อนบางอย่างให้วัยรุ่นได้ค้นหาและบูชา อย่างไรก็ตาม ในเมื่อวงเลือกที่จะเดินเส้นทางที่ ‘ไม่ป๊อป’ แล้ว ก็ไปให้มันสุดเสียเลยสำหรับเพลงนี้ โยนเอาสูตรสำเร็จแห่งความสละสลวยและไรม์สวยๆ ทิ้งไป แล้วมาลุยขี่จักรยานขึ้นเนินลูกรังในเส้นทางวิบากแห่งภาษากัน เหมือนเป็นกุศโลบายให้เราตั้งใจฟังทุกวินาทีไม่ปล่อยให้ใจลอยหลุดไปไหน และถ้อยคำอันงงงวยที่ถูกวางไว้เป็นหย่อมๆ เหล่านั้นก็เหมือนเป็นหลุมดำปลายเปิดที่ว่างอยู่ให้ผู้ฟังได้ไปตีความต่อเอาเองเป็นอะไรก็ได้ตามแบบของตน เพราะรายละเอียดของแต่ละชีวิตช่างแตกต่างตามวิถีที่มาและประสบการณ์
ในองค์รวมตามความเข้าใจของเรา เนื้อเพลงพยายามสื่อถึงปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนต่างเจเนอเรชันในปัจจุบัน และการทวงสิทธิ์จากเจเนอเรชันใหม่ที่กำลังต่อคิวรับเวลาบนโลกใบนี้ต่อ ในขณะที่เจเนอเรชันที่หมดอายุในการขับเคลื่อนไปแล้วยังคงไม่ยอมปล่อยพวงมาลัย อีกทั้งยังขโมยทรัพยาการส่วนกลางมาผลาญใช้ตลอดชั่วอายุที่อยู่มา จนเหลือเพียงซากปรักหักพังให้คนรุ่นหลังรับภาระในการฟื้นฟู และอีกมุมของการขโมยทางอ้อมที่ร้ายกาจที่สุดคือการ ‘ขโมยเวลา’ ที่ควรถูกนำมาใช้ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า มาเสียเวลาให้กับภาวะสุญญากาศส่วนหนึ่ง และเสียอีกส่วนหนึ่งให้กับการซ่อมแซมพาหนะให้มีแรงพอจะขับเคลื่อนโลกต่อ ซึ่งแน่นอน ภาระเหล่านี้ล้วนถูกโยนให้คนรุ่นใหม่ต้องเก็บอึที่ตนไม่ได้เบ่งออกมา นี่เป็นคอนเซปต์เพลงที่ทันสมัยและสามารถตีความได้ในหลายระดับ ตั้งแต่สเกลเล็กๆ อย่างครอบครัว ตำบล ไปจนถึงระดับประเทศ และระดับโลกเลยทีเดียว
ยิ่งเมื่อนำบทเพลงมาผนวกกับภาพในมิวสิกวิดีโอแล้ว ประกอบกับช่วงจังหวะสถานการณ์โลกซอมบี้ในตอนนี้ ยิ่งนำพาความเครียดลงกระเพาะมาเยี่ยมเยือน แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณแห่งความสำเร็จกลายๆ ของเพลงนี้ เพราะมันได้นำพาผู้ฟังไปสู่จุดหมายทางความรู้สึกได้ตามเจตนารมณ์ของศิลปิน ส่วนการที่จะบอกว่านี่เป็นเพลงที่ดีหรือไม่นั้น ผู้เขียนไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินแม้แต่นิดเดียว ในเมื่อความงดงามขึ้นอยู่กับสายตาของผู้พบเห็น ความไพเราะก็ย่อมขึ้นอยู่กับแก้วหูของผู้รับฟัง บอกได้เพียงอย่างเดียวว่าเพลงนี้ “ไม่ป๊อปนะ”
*เกร็ดคลายเครียด ชื่อวงที่ฟังดูน่าฉงนว่าพวกเขาได้ชื่อนี้มาได้อย่างไร คาดเดาได้ว่าน่าจะได้มาจากชื่อละครดังในอดีตเวอร์ชันใดเวอร์ชันหนึ่ง โดยดั้งเดิม Death of A Salesman เป็นละครบรอดเวย์อเมริกันที่โด่งดังในปี 1949 และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา และทุกวันนี้ในเวอร์ชันบรอดเวย์ยังมีการนำมาเล่นอยู่เรื่อยๆ จนเรียกว่าเข้าขั้นอมตะ ส่วนในประเทศไทยนั้น ปี 1970 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยนำบทละครนี้มาดัดแปลงเป็นภาษาไทยสำหรับใช้ในละครเวที โดยใช้ชื่อเรื่องว่า อวสานเซลส์แมน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกัน และช่วยต่อยอดให้วงการละครเวทีในประเทศไทยคึกคักขึ้น และต่อมาในปี 1987 บทละครเรื่องนี้ก็ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 3 โดยมี ศรัณยู วงษ์กระจ่าง มารับบทนำ และได้ ติ๊ก ชิโร่ มาทำเพลงประกอบ โดยเพลงไตเติลที่มีชื่อว่า ใจจะทน ก็โด่งดังเป็นที่นิยมไม่แพ้ตัวละครเอง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า