×

รัฐบาลแจง พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้าน ช่วยพยุง GDP ปีงบ 64-65 ราว 1.5% มั่นใจเพียงพอดูแลเศรษฐกิจ

25.05.2021
  • LOADING...
รัฐบาล

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงข่าวชี้แจงภายหลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ว่า พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อย ตลอดจนโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

สำหรับ พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับใหม่นี้ แบ่งแผนการใช้เงินออกเป็น 3 ส่วน คือ 

 

  1. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ 3 หมื่นล้านบาท
  2. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 วงเงิน 3 แสนล้านบาท
  3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของโรคโควิด-19 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท 

 

“ปีที่แล้วเราออก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งครั้งนี้ผมคิดว่าการใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอที่จะรองรับกับปัญหาช่วงท้ายๆ ของโควิด-19 เพราะมีวัคซีนที่เริ่มทยอยฉีดแล้ว ดังนั้นวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของเงินกู้ที่เคยกู้มาเมื่อครั้งที่แล้วก็น่าจะเพียงพอ”

 

สุพัฒนพงษ์กล่าวว่า แม้เราจะเจอกับความไม่แน่นอน แต่วัคซีนจำนวนมากกำลังมา จึงมีโอกาสที่เราจะคุมการระบาดของโรคได้ 

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตัว พ.ร.ก. เงินกู้ฉบับใหม่นี้เป็นกฎหมายเฉพาะ เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ทำให้ไม่สามารถตั้งงบประจำปีได้ทัน ซึ่ง พ.ร.ก. ฉบับนี้ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เป็นเงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้รัฐบาล ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 

 

นอกจากนี้เขายังประเมินว่า การออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ซึ่งมีวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท หากใช้เต็มวงเงินจะมีส่วนช่วยผลักดันจีดีพีในช่วง 2 ปีงบประมาณ(2564-2565) ได้ราวๆ 1.5% ขณะที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ประเมินว่า จีดีพีของประเทศไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ระดับ 1.5-2.5% 

 

“ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจปีที่แล้ว หากไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเลย จีดีพีจะติดลบราว -8% แต่เมื่อรัฐบาลออกมาตรการมาช่วยเหลือภาคธุรกิจ ก็ทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจน้อยลงเหลือ -6% ในปีนี้จึงเชื่อว่าเมื่อมี พ.ร.ก. ฉบับใหม่ออกมาเพิ่ม ก็น่าจะมีส่วนช่วยผลักดันจีดีพีได้เช่นกัน”

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การใช้จ่ายแผนงานตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 25,825 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 35 % ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายของโครงการที่อนุมัติไปครั้งแรก จากการอนุมัติทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่ง 2 ครั้งหลังอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คงเหลือ 19,174 ล้านบาท โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการเพื่อขออนุมัติเข้ามาแล้ว  

 

กลุ่มที่ 2 ด้านเยียวยา วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งในเวลาต่อมาได้โอนวงเงินกู้จากแผนงานกลุ่มที่ 3 ไปให้กับกลุ่มที่ 2 เพิ่มเติม ทำให้มีวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 6.85 แสนล้านบาท อนุมัติแล้ว 6.68 แสนล้านบาท คงเหลือประมาณ 1.44 แสนล้านบาท ซึ่งมติ ครม.วันที่ 5 พฤษภาคม เห็นชอบมาตรการเยียวยา 4 โครงการ ดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 โดยอยู่ระหว่างพิจารณา และจะเข้าสู่ ครม. ในสัปดาห์หน้า 

 

กลุ่มที่ 3 ด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากวงเงิน 4 แสนล้านบาท คงเหลือ 2.7 แสนล้านบาท (โยกไปให้กลุ่มที่ 2) อนุมัติไปแล้ว 1.25 แสนล้านบาท คิดเป็นอนุมัติ 200 กว่าโครงการ ทั้งนี้โครงการระดับจังหวัดในพื้นที่ จำนวน 145 โครงการ อยู่ระหว่างเร่งรัดผูกพันโครงการในสัญญา และเบิกจ่ายได้ทันตามเวลาที่เหลืออยู่ 

 

“พ.ร.ก. กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้มีแผนการใช้จ่ายครบถ้วนแล้ว ซึ่งการเบิกจ่ายคิดเป็น 79.88 % ซึ่งทำให้เกิดการจ้างงาน 163,628 คน ฝึกอบรมทักษะเกษตรกรไปแล้วอย่างน้อย 90,000 ราย เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 8.17 แสนล้านบาท ช่วยพยุงเศรษฐกิจและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2%”

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X