ย้อนกลับไปเมื่อ 7 เดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘Robinhood’ แอปพลิเคชันสัญชาติไทยที่เกิดขึ้นมาเพื่อคนตัวเล็กอย่างแท้จริง
เพราะบริการแรกที่เกิดขึ้นมาอย่าง ‘ฟู้ดเดลิเวอรี’ ได้สร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นๆ หรือจะเรียกว่าฉีกกฎเลยก็ได้นั่นคือ ‘การไม่เก็บค่า GP’ หรือ Gross Profit อันเป็นค่าคอมมิชชันที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอปฯ สั่งอาหาร ที่โดยเฉลี่ยแล้วจะเก็บที่ 30% ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มขึ้นด้วย
ดังนั้น Robinhood จึงเกิดขึ้นมาช่วยให้ร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ มีรายได้สำหรับพยุงธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังสามารถช่วยสร้างงานให้ไรเดอร์ในช่วงที่ภาวะการว่างงานยังคงดีดตัวสูงขึ้น
7 เดือนผ่านมา Robinhood มีจำนวนลูกค้าที่ลงทะเบียนใช้งานกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการช่วยพยุงให้ร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็กๆ กว่า 90,000 ร้าน ที่เปิดขายบนแพลตฟอร์ม Robinhood มีกำลังใจฝ่าฟันวิกฤต ด้วยจำนวนการสั่งอาหารรวมกว่า 2.3 ล้านออร์เดอร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และยังเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ส่ง (ไรเดอร์) กว่า 15,000 คน
หลังจากช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารกว่า 90,000 ร้านแล้ว ก้าวต่อไปของ Robinhood ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยคนตัวเล็กต่อไป ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่กำลังบาดเจ็บอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ไม่แพ้ธุรกิจร้านอาหารนั่นคือ ‘ธุรกิจโรงแรม’
ที่ผ่านมา ‘ธุรกิจการท่องเที่ยว’ ถือเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2562 มีสัดส่วนถึง 16% ของ GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ แต่สำหรับปี 2563 เรียกว่าหัวขั้วไปคนละด้านเลยก็ว่าได้
ข้อมูลจากรายงานภาวะเศรษฐกิจท่องเที่ยว จัดทำโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุ ปี 2563 มีจำนวนนักท่องต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 6.7 ล้านคน ลดลง 83.2% จากปี 2562 สร้างรายได้ 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 82.6% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ในทิศทางที่ลดลงเช่นเดียวกัน โดยตลอดทั้งปี 2563 มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 90.56 ล้านคน-ครั้ง ลดลง 47.6% จากปี 2562 โดยมีการใช้จ่ายมูลค่า 4.82 ล้านบาท ลดลง 55.4%
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่ราว 5-6 หมื่นรายด้วยกัน เพราะการระบาดทำให้อัตราการเข้าพักปี 2563 ลดลงต่ำที่สุด ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปี 2563 อัตราการเข้าพักอยู่ที่เพียง 29.51% ลดลง 40.6% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีอัตราเข้าพักอยู่ที่ 70.08%
ดังนั้น Robinhood จึงต้องการเข้ามาช่วยเหลือหนึ่งในธุรกิจ ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศหลังการระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้ระดมทีมพัฒนาขยายแพลตฟอร์ม Robinhood เข้าสู่ขอบเขตการให้บริการสู่การเป็น OTA (Online Travel Agent) สัญชาติไทย ผ่านโมเดลที่เรียกว่า ‘Zero GP OTA’
โมเดล ‘Zero GP OTA’ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนของแพลตฟอร์มด้วยการไม่คิดค่า GP ซึ่งปกติแล้ว Online Travel Agent จะคิดอยู่ที่ประมาณ 20-30% นี่จึงเป็นอีกจุดที่ทำให้ต้นทุนของธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้น
การไม่คิดว่า GP ของ Robinhood จึงเป็นความตั้งใจที่หวังว่า จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและช่วยผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์ คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ต้นปีหน้าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
“เราหวังว่าจะเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมร่วมกับลูกค้า Robinhood กว่าล้านคนภายในต้นปีหน้า ซึ่งเรามองว่าเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเหมาะสม การท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง” ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ Robinhood กล่าว
“Robinhood มุ่งมั่นตั้งใจสานต่อโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง หวังเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ และเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของสังคมที่สามารถช่วยผู้ประกอบการ ไรเดอร์ ตลอดจนลูกค้าที่ใช้บริการให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากเช่นนี้ไปด้วยกัน” ธนากล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์