สำหรับคนวัยทำงาน คือกลุ่มคนอายุระหว่าง 21-59 ปี เป็นวัยที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ถือเป็นวัยที่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ และเป็นที่พึ่งของครอบครัว เป็นช่วงวัยที่หลายคนมักจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งเรื่องหน้าที่การงาน การเงิน และชีวิตครอบครัว ดังนั้นการใช้ชีวิตในวัยนี้จึงต้องมีการวางแผนอนาคตสำหรับตนเองและครอบครัวให้ดี
การทำประกันชีวิตจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยวางแผนการใช้ชีวิตให้คนวัยทำงาน แต่อย่างที่รู้กันว่าประกันชีวิตมีหลายแบบ จะซื้ออย่างไรให้ตรงความต้องการ เราลองไปดูแนวทางการเลือกซื้อประกันให้เหมาะสมกับคนทำงานในแต่ละช่วงวัย
1. ช่วงวัยทำงานตอนต้น (21-30 ปี)
ช่วงเริ่มต้นของวัยทำงาน เป็นช่วงวัยเริ่มต้นของการมีภาระหน้าที่ และมีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งรายได้อาจจะยังไม่สูงมากนัก แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสามารถเก็บออมเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อได้ ทั้งนี้ในส่วนของค่าใช้จ่าย หรือภาระหนี้สินของคนในวัยนี้อาจยังไม่สูงมากนัก เพราะเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว จึงควรให้ความสำคัญกับการออมเป็นหลัก รวมถึงเมื่อเริ่มมีรายได้ก็อาจจะเริ่มมีการเสียภาษี ช่วงวัยนี้จึงเหมาะกับการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ได้ทั้งความคุ้มครอง และเป็นการสร้างวินัยการเก็บเงิน รวมถึงได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีด้วย และหากทำงานเก็บเงินไปได้สักระยะ ควรพิจารณาการทำประกันชีวิตที่ได้ความคุ้มครองระยะยาวเพิ่มเติมด้วย เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อนำไปผูกกับประกันสุขภาพ เพราะช่วงวัยนี้สุขภาพยังดี ไม่มีปัญหาเรื่องของสุขภาพที่จะมีผลกับการทำประกันสุขภาพ ค่าเบี้ยประกันชีวิตในช่วงนี้จะถูกกว่าช่วงวัยอื่น ทำให้เราได้ประกันชีวิตที่คุ้มค่า เพราะเบี้ยประกันของสัญญาหลักจะเท่าเดิมไปตลอดอายุของสัญญา (เฉพาะค่าเบี้ยสุขภาพเท่านั้นที่จะปรับเพิ่มตามช่วงอายุ) ที่สำคัญ การที่เรานำประกันสุขภาพไปผูกกับแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองนานๆ นี้ จะส่งผลให้เราได้ประกันสุขภาพที่ผูกพันยาวนานตามไปด้วย ไม่ต้องมาคอยกังวลในวันที่ไม่มีสวัสดิการจากที่ทำงานมาช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาล และไม่ต้องกังวลด้วยว่า ถ้าเราเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาจะถูกยกเลิกประกันสุขภาพในปีต่อไปหรือไม่ เพราะตราบใดที่ประกันหลักที่เราผูกไว้ยังไม่หมดอายุสัญญา เราจะได้รับการต่อประกันสุขภาพจนกว่าจะหมดอายุความคุ้มครองของประกันสุขภาพ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามกรมธรรม์ ซึ่งประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะคุ้มครองถึงอายุ 70-85 ปี แล้วแต่กรมธรรม์
2. ช่วงวัยทำงานตอนกลางและเริ่มสร้างครอบครัว (31-45 ปี)
ช่วงชีวิตที่พบกับความท้าทายมากที่สุดของคนเราจะอยู่ในช่วงอายุ 31-45 ปี ด้วยเหตุว่าช่วงชีวิตนี้เป็นช่วงที่ก่อร่างสร้างตัวมาจนถึงสะสมทรัพย์สิน แต่ในขณะเดียวกันก็มีภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายด้าน เนื่องจากช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ต้องเจอภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงดูคนรุ่นพ่อแม่ ทั้งภาระหนี้สินที่ยังต้องผ่อน ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมถึงต้องเก็บเงินตามเป้าหมายส่วนตัวอีก ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงด้วยการทำประกันในวัยนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความคุ้มครองชีวิต เป็นช่วงชีวิตที่หลายๆ คนกำลังสร้างอนาคตเพื่อรองรับความมั่นคงให้ครอบครัว ดังนั้นเราควรเตรียมพร้อมรับมือกับภาระที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้น โดยมองหาหลักประกันให้กับคนในครอบครัว ประกันชีวิตที่เหมาะกับวัยนี้คือ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ หรือ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับหัวหน้าครอบครัว โดยควรเลือกช่วงเวลาคุ้มครองให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของเรา แบบประกันอื่นๆ ที่อยากจะแนะนำคือการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันชีวิตแบบควบการลงทุน (Unit Linked) โดยเฉพาะประกันชีวิตแบบควบการลงทุนมีข้อดีอีกหนึ่งอย่างที่สามารถเลือกความคุ้มครองและการลงทุนได้ รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคุ้มครองและการลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น เป็นการช่วยวางแผนทางการเงิน เพิ่มโอกาสสร้างเงินออมให้ครอบครัว และยังช่วยในการวางแผนอนาคต เช่น การศึกษาบุตร รวมไปถึงประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อวางแผนการเกษียณแต่เนิ่นๆ เพื่อสะสมกองทุนการเกษียณไว้จะได้ไม่เป็นภาระลูกหลาน และยังสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอีกด้วย
นอกจากนี้แล้วในช่วงวัยทำงานก็ต้องไม่ละเลยความเสี่ยงของสุขภาพ การทำประกันสุขภาพก็ยังมีความสำคัญอยู่ หากเกิดเจ็บป่วยจะได้มีแผนรองรับค่ารักษา เพื่อจะได้ไม่ต้องนำเงินที่เก็บไว้มาจ่ายค่ารักษา ทั้งนี้ การซื้อประกันสุขภาพควรผูกไว้กับแบบประกันที่คุ้มครองเราระยะยาว เพื่อให้ประกันสุขภาพมีผลต่อเนื่องคุ้มครองยาวนานตามไปด้วยนั่นเอง ส่วนบางคนที่เป็นพนักงานออฟฟิศหรือมนุษย์เงินเดือน ส่วนใหญ่จะมีสวัสดิการให้กับพนักงานอยู่แล้ว ดังนั้นการเลือกทำประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มนี้ ควรจะเลือกโปรแกรมที่เป็นการจ่ายส่วนที่สวัสดิการของบริษัทไม่ครอบคลุมเท่านั้นก็เพียงพอ เพื่อเป็นการประหยัดค่าเบี้ยประกัน
3. ช่วงวัยทำงานตอนปลายจนถึงเวลาเกษียณ (46-60 ปี)
ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ภาระต่างๆ ในครอบครัวจะค่อยๆ ลดลง เรื่องสำคัญที่จะเข้ามาแทนจึงกลายเป็นเรื่องการเตรียมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ถ้าพูดถึงเหตุผลของการวางแผนเกษียณอายุนั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าช่วงเวลาหลังจากที่เราเกษียณอายุเป็นช่วงเวลาที่รายได้ของเราเปลี่ยนจาก ‘เงินเดือน’ มาเป็น ‘เงินเก็บ’ เราจะต้องใช้เงินเก็บก้อนนี้ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ดังนั้นหากเราไม่ได้มีการวางแผนตั้งแต่วันนี้ วันที่เรายังคงสามารถหารายได้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเงินเก็บของเราจะเพียงพอให้เราใช้จ่ายได้ตลอดช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณ การเลือกประกันที่เหมาะสมกับช่วงวัยนี้จึงควรเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือแบบสะสมทรัพย์ที่จะให้ผลตอบแทนในช่วงที่อายุเกษียณ เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ประกันสุขภาพก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากเรายังไม่เคยมีประกันสุขภาพมาก่อน อาจจะเป็นเวลาที่เราเริ่มมองหาประกันสุขภาพทั้งค่ารักษาพยาบาล หรือคุ้มครองโรคร้ายแรงอย่างจริงจัง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บก็มากขึ้นตามไปด้วย ถ้าไม่มีประกันสุขภาพอาจต้องเจอกับค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิดได้ และเราคงไม่อยากหมดเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตกับการรักษาตัว ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงนั้น
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อประกันให้ตอบโจทย์ตามความเหมาะสมของคนในแต่ละช่วงวัย แต่ทั้งนี้นอกจากดูที่ความต้องการแล้ว ต้องอย่าลืมพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น หากจะซื้อประกันเพื่อการออมเงินควรพิจารณาเป้าหมายทางการเงินที่คุณวางไว้ ภาระค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ภาระหนี้สิน และความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย แต่หากจะซื้อประกันสุขภาพก็ควรพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องของสวัสดิการค่ารักษาที่คุณมีในปัจจุบัน ความกังวลหรือความจำเป็นทางด้านสุขภาพ และความคาดหวังคุณภาพการรักษา และที่สำคัญคือก่อนตัดสินใจทำประกันควรทำความเข้าใจศึกษารายละเอียดผลประโยชน์ความคุ้มครอง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นแบบประกันที่คุณต้องการ เพื่อให้ประกันที่คุณซื้อสามารถให้ผลประโยชน์ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ และพาคุณเดินไปถึงเป้าหมายเงินออมตามที่ตั้งใจ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: