×

6 แบงก์เดินหน้ามาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อย-SMEs ฝั่ง ธปท. ต่ออายุมาตรการ พ.ค.-ธ.ค. 64

17.05.2021
  • LOADING...
ธนาคาร มาตรการช่วยลูกหนี้

HIGHLIGHTS

  • ธปท. ต่ออายุมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2564 ออกไปถึงสิ้นปี 2564 ยิ่งแสดงว่ากระทบโควิด-19 รอบ 3 นี้ไม่น้อยกว่าระลอก 1 และ 2 ที่ผ่านมา
  • แบงก์มองมาตรการรวมหนี้ (เพื่อปรับโครงสร้างหนี้) ไม่สูง เพราะลูกหนี้ยังไม่รู้จัก และต้องการสภาพคล่องเพื่อหมุนเวียนในช่วงวิกฤต หวัง ธปท. เร่งสื่อสาร-เพิ่มความยืดหยุ่น
  • 6 ธนาคารพาณิชย์รับลูกแบงก์ชาติต่อเนื่อง ดูแลลูกค้าต่อเนื่องทั้งรายย่อย-SMEs เร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกค้าและธุรกิจเดินหน้าระยะยาว

การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรงกว่าระลอกอื่นๆ ทำให้ภาคธนาคารต้องดูแลพอร์ตลูกหนี้ในมือมากขึ้น ทั้งลูกหนี้เดิมที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ และการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งรายย่อยและ SMEs

 

โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่จะเริ่มสิ้นสุดลงช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ขึ้น โดยออกมาตรการฯ ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2564

 

ttb ชี้ โควิด-19 ระลอก 3 เพิ่งเริ่ม ประเมินความรุนแรงยาก

อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าบุคคล ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) หรือทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 พบว่า แม้จำนวนลูกค้าที่เข้าขอความช่วยเหลือจะไม่มากเท่าระลอกก่อนหน้า เพราะเป็นช่วงต้นการระบาด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ว่าลูกค้าได้รับผลกระทบจากระลอกนี้รุนแรงเพียงใด

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารฯ ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในทุกเซกเมนต์ เช่น การยืดการผ่อนชำระ หรือลดอัตราดอกเบี้ย ฯลฯ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และขยายเวลาให้ลูกค้าสามารถกลับมาชำระได้ตามปกติ

 

“ตอนนี้ยังต้องติดตามว่าโควิด-19 จะจบเมื่อไร หลายฝ่ายจึงต้องรอดู และค่อยๆ มอนิเตอร์ในการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะราย แต่จะขยายการช่วยเหลือไปถึงปลายปีนี้หรือไม่ ยังต้องรอดูสถานการณ์”

 

อย่างไรก็ตาม ttb ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการ 750,000 ราย และลูกหนี้กลับมาชำระได้ตามปกติหลังจากสถานการณ์ดีขึ้นเสมอ  

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

แบงก์ชี้ มาตรการรวมหนี้คนใช้น้อย 

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า โควิด-19 รอบใหม่ ยังไม่จบ มองว่า ธปท. จะต่ออายุมาตรการฯ สิ้นสุดในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะขยายไปถึงสิ้นปี

 

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ออกมา โดยเฉพาะส่วนสินเชื่อรายย่อยพบว่า มาตรการที่ลูกค้าสนใจคือการยืดหนี้ (ยืดระยะเวลาผ่อนชำระ) ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีลูกค้ากลับมาจ่ายชำระและมีสถานะหนี้เป็นปกติได้ค่อนข้างมาก

 

“มาตรการฯ ที่เวิร์ก เช่น ยืดหนี้ ลดดอกเบี้ย ฯลฯ เพราะทำให้ลูกค้ากลับมาจ่ายหนี้ตามปกติได้เยอะ แต่การจะทำแฮร์คัตไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งถ้าลูกค้ามีวินัยทางการเงิน หากจำเป็นต้องผ่อน มากน้อยก็สามารถคุยกับธนาคารได้ ธนาคารก็เต็มใจช่วย”

 

อย่างไรก็ตาม ในมาตรการรวมหนี้พบว่า ภาพรวมยังมีผู้ใช้น้อยมาก บางแบงก์อยู่ที่หลักร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจหรือไม่เห็นประโยชน์การรวมหนี้มาไว้ที่สินเชื่อมีหลักประกัน ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยถูกลง (เช่น การรวมสินเชื่อบัตรเครดิตมาไว้ที่สินเชื่อมีหลักประกันอย่างบ้านหรือรถ)

 

ในอีกทางหนึ่ง ลูกค้าส่วนใหญ่มีสินเชื่อหลายประเภทในหลายธนาคาร ทำให้การรวมหนี้ทำได้ไม่ง่ายและยังไม่สะดวก หวังว่า ธปท. จะสื่อสารให้มากขึ้น

 

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

 

กสิกรดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ‘พักต้น-พักดอก’ ต่อเนื่อง 

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ทางธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องให้ลูกค้าเลือก เช่น พักต้น พักดอก เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยต่ออายุมาตรการช่วยเหลือให้เข้ารับความช่วยเหลือได้ถึงสิ้นปี 2564

 

“ตอนนี้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งให้ลูกค้าเลือกรูปแบบได้เหมาะสมกับลูกค้าส่วนใหญ่ แต่ถ้าลูกค้าที่ตกงานเลยอาจยังไม่เหมาะ เพราะยังไม่มีแหล่งรายได้ ซึ่งก็มีมาตรการช่วยเหลือของแบงก์รัฐ (ออมสิน, ธ.ก.ส.) รายละ 10,000 บาท ก็เป็นอีกทางออกหนึ่ง”

 

ทั้งนี้ กรณีมาตรการการตัดหนี้ หรือแฮร์คัต จากข้อมูลปัจจุบันยังประเมินได้ยาก ขณะนี้ยังไม่มีมาตรการที่เปิดให้แฮร์คัตกับลูกค้าทั่วไป โดยจากข้อมูลที่อยู่ในขณะนี้พบว่า มีการแฮร์คัตหนี้ในบางกรณีที่ลูกหนี้มีการขายทรัพย์ทอดตลาดแล้ว แต่ยังมีหนี้สินเหลือไม่มาก จะมีการแฮร์คัตหนี้หลังการขายทรัพย์นั้น แต่กระบวนการถือว่ายาวมาก

 

“มาตรการรวมหนี้ยังไม่เห็นข้อมูลภาพรวมจาก ธปท. ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยยังมีลูกค้ารวมหนี้ไม่เยอะ เพราะเมื่อรวมหนี้แล้ว เช่น บ้านรวมกับบัตรเครดิต วงเงินบัตรฯ จะหายไป ซึ่งลูกค้าอยากรักษาสภาพคล่องและมีวงเงินไว้ใช้เผื่ออนาคตมีรายได้กลับมา คนเลยยังไม่ใช้รวมหนี้มากนัก”

 

ขณะที่ลูกค้าธุรกิจ มีมาตรการให้ลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่องหรือสินเชื่อเพิ่มเติม โดยเริ่มต้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ตามมาตรการของ ธปท.) ได้แก่ มีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ใน 2 ปีแรก และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing)

 

 

ทิสโก้เร่งลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้-ปรับผ่อนขั้นบันได หากไม่ไหวตีโอนทรัพย์

ด้านธนาคารทิสโก้เปิดเผยว่า เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทางธนาคารพิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละประเภท โดยสำหรับลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ SMEs เน้นการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ภาระผ่อนชำระลดลง เช่น การปรับภาระการผ่อนเป็นขั้นบันได ในกรณีที่ลูกค้าบางรายไม่สามารถไปต่อได้ ธนาคารจะเสนอโครงการตีทรัพย์ชำระหนี้ และปรับลดภาระหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม

 

ในส่วนลูกหนี้ภาคธุรกิจ ธนาคารยังให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของ ธปท. ได้แก่ สินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์ พักหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกหนี้คิดเป็นยอดหนี้ราว 24% ของสินเชื่อรวม ซึ่งเมื่อครึ่งปีหลัง 2563 เห็นการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จนช่วงสิ้นปี 2563 มียอดลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือเพียง 4% ของสินเชื่อรวม

 

 

SCB เปิดยอดช่วยลูกค้าจากโควิด-19 รายย่อย 1.9 แสนล้าน SMEs กว่า 8 หมื่นล้าน

พิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ธนาคารมีการออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ SMEs ตามนโยบายของภาครัฐ ทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและการขยายให้สินเชื่อลูกค้าใหม่ โดยมุ่งเน้นการประคองธุรกิจของลูกค้าในวิกฤต โดยช่วงที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ารับความช่วยเหลือในวงเงินสินเชื่อรวมกว่า 81,000 ล้านบาท  

 

อรรัตน์ ชุติมิต รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Retail and Business Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทางธนาคารเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยจะติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ระลอก 3 นี้ว่าจะส่งผลต่อรายได้ของผู้บริโภคในวงกว้างและรุนแรงมากน้อยเพียงใด

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันทางธนาคารมียอดลูกค้ารายย่อยที่เข้ารับมาตรการช่วยเหลือโควิด-19 ราว 196,000 ล้านบาท (ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564) ขณะที่มาตรการล่าสุดของ ธปท. ในกลุ่ม SMEs ที่เปิดให้ยื่นคำขอ 26 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนของสินเชื่อฟื้นฟูมียอดให้ความช่วยเหลือลูกค้ากลุ่ม sSME 3,500 ราย หรือราว 3,500 ล้านบาท (ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564) 

 

กรุงไทย-กรุงศรี เร่งประเมินผลกระทบ พร้อมออกมาตรการช่วยรายย่อย-SMEs เพิ่มเติม

เอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 กรุงไทยดูแลลูกค้าในวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่อง ทั้งการออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม และหลังจากนั้นออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางธนาคารจึงออกมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามแนวทาง พ.ร.ก. ช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และตามแนวทางของ ธปท. ผ่าน 2 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์-พักหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารติดตามสถานการณ์ของลูกค้าและประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทีต่อไป

 

ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ทางธนาคารมีการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ เช่น พักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ สินเชื่อฟื้นฟู พักทรัพย์-พักหนี้ ฯลฯ 

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารยังตั้งทีมผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ เพื่อติดต่อและติดตามสถานการณ์ในการช่วยเหลือลูกค้าเสมอ โดยจะติดตามการระบาดระลอก 3 อย่างใกล้ชิด หากประเมินว่าสถานการณ์ยังยืดเยื้อ ธนาคารเตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

 

 

แบงก์ชาติอัปเดตข้อมูลโครงการช่วยเหลือลูกหนี้

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งรุนแรงกว่าการระบาดในรอบ 1-2 ยิ่งซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจผ่านการปรับปรุงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอย่าง Soft Loan ให้ SMEs เข้าถึงมากขึ้น และมีมาตรการใหม่อย่าง ‘พักทรัพย์-พักหนี้’ รวมถึงมาตรการรายย่อย โดยมีความคืบหน้าดังนี้

 

  • สินเชื่อฟื้นฟู มีการอนุมัติแล้ว 6,212 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 3,012 ราย วงเงินอนุมัติสินเชื่อเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อราย (ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2564)
  • การปรับโครงสร้างหนี้ มียอดภาระหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านสถาบันการเงินและ Non-Bank 2.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1.77 ล้านบัญชี และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) หรือแบงก์รัฐ ราว 1.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 4.02 ล้านบัญชี (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564)
  • Soft Loan สินเชื่ออนุมัติแล้ว 138,200 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับสินเชื่อ 77,787 ราย สินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 1.8 ล้านบาทต่อราย (ณ วันที่ 12 เมษายน 2564)
  • มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ มีผู้เข้าร่วมมาตรการราว 280,504 คน คิดเป็น 567,682 รายการ (ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564)

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ ธปท. ออกมาอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งในช่วงแรกที่ปูพรมพักหนี้-ลดดอกเบี้ยฯ ในวงกว้าง จนการระบาดรอบ 2 ปรับมาตรการให้ช่วยเหลือเจาะกลุ่มเฉพาะบุคคล มีมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ฯลฯ ซึ่งเบื้องต้นมาตรการต่างๆ จะสิ้นสุดในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 


จากข้อมูลล่าสุดที่ ธปท. ประกาศไว้ช่วงปลายปี 2563 ว่ายอดหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือรวมลดลง เพราะภาคธุรกิจมีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกหนี้รายย่อยสามารถกลับมาชำระหนี้ตามปกติได้ถึง 70% (ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2563)

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising