ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ (13 พฤษภาคม) ดัชนีปรับตัวลดลงหนัก ระหว่างวันร่วงลงไปกว่า 70 จุด ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาปิดตลาดในระดับ 1,548.13 จุด ลดลง 23.72 จุด หรือ 1.51% มูลค่าการซื้อขายรวมกว่า 143,714 ล้านบาท
สาเหตุการลดลงดังกล่าว หลักๆ มาจากความกังวลในเรื่องอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก
โดยหุ้นไทยปรับลดลงมาแล้ว 2.54% ในช่วง 3 วันทำการ (11-13 พฤษภาคม) และดัชนีรายกลุ่มอุตสาหกรรม (11-12 พฤษภาคม) ก็ปรับตัวลดลงเป็นส่วนมาก เช่น
- กลุ่ม FINCIAL ลดลง 3.94%
- กลุ่ม INDUS ลดลง 2.34%
- กลุ่ม SERVICE ลดลง 2.01%
- กลุ่ม PROPCON ลดลง 1.56%
- กลุ่ม RESOURC ลดลง 1.48%
- ขณะที่กลุ่ม AGRO เพิ่มขึ้น 1.39% และกลุ่ม TECH เพิ่มขึ้น 5.74%
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงจากเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นสร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก แต่สำหรับผลกระทบต่อหุ้นไทยแล้วเชื่อว่าไม่รุนแรง และไม่ทำให้หุ้นไทยเกิดภาวะฟองสบู่แตก เนื่องจากยังมีเงินใหม่ หรือ New Money ในระบบที่พร้อมเข้าสู่ตลาดหุ้นตลอดเวลา
“New Money มาจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่ต้องการนำเงินสดไปลงทุนทำธุรกิจ หรือสร้างความงอกเงยทางอื่น ก็เอาเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย สังเกตได้เลยว่าที่ผ่านมาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนตลาดส่วนมากเป็นหุ้นไซส์กลาง-เล็ก ซึ่งเงินที่เข้าลงทุนส่วนใหญ่ก็มาจากนักลงทุนหน้าใหม่ที่เข้ามาหาผลตอบแทนในตลาดหุ้น”
ทั้งนี้ หากจะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในหุ้นไทย ต้องมี 2 สัญญาณบ่งชี้สำคัญคือ เหตุตึงเครียดทางเศรษฐกิจจนผู้คนแห่ถือเงินสด และเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสภาวการณ์บางอย่าง ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเหล่านี้
ประกิตกล่าววว่า การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อสหรัฐฯ ครั้งนี้สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงเกิดความกังวลขึ้นและส่งผลต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ แต่ว่าท้ายที่สุดเงินเฟ้อก็จะค่อยๆ ปรับลดลงจนอยู่ระดับที่เหมาะสมได้ในช่วงไตรมาส 2 ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงสุด จากนั้นจะค่อยๆ ปรับตัวสู่จุดสมดุล
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ แนะนำให้ลงทุนในกลุ่มธนาคาร กลุ่มประกัน ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ตอบรับกับอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อได้ตรงที่สุด ขณะเดียวกันยังสามารถลงทุนในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีได้ ซึ่งสอดรับธีม Old Economy ที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่จุดที่ต้องเร่งลงทุนและมีการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นมาก
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า กลุ่มที่น่าสนใจเข้าลงทุนในจังหวะที่หุ้นไทยผันผวนจากปัจจัยเงินเฟ้อคือกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและโรงกลั่น รวมถึงกลุ่มที่ราคาปรับตัวลดลงไปมาก
ด้าน วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยครั้งนี้ สาเหตุหลักยังเป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ และกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้จะเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับหุ้นทั่วโลก
สำหรับกลุ่มที่น่าลงทุนในจังหวะนี้ ชื่นชอบหุ้นในธีม Global Play มากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศไทยเองยังมีความเสี่ยงอยู่มาก จึงน่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าทั่วโลก
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล