×

เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียระบาด สิงคโปร์รับมืออย่างไร

11.05.2021
  • LOADING...
เมื่อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียระบาด สิงคโปร์รับมืออย่างไร

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.617.2 กำลังสร้างความกังวลที่สิงคโปร์ โดยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา สิงคโปร์พบคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนที่เชื่อมโยงกับ Tan Tock Seng Hospital (TTSH) ผู้ป่วยที่ตรวจพบรายแรกเป็นพยาบาลที่ทำงานในหอผู้ป่วย 9D ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์อินเดีย และจนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 43 ราย 
  • ผลการสอบสวนโรคในช่วงแรก (30 เมษายน) พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย แบ่งเป็นบุคลากรฯ 5 ราย (แพทย์ 2 ราย, พยาบาล 1 ราย, ผู้ช่วยพยาบาลและแม่บ้านอย่างละ 1 ราย) และผู้ป่วย 8 ราย โดยบุคลากรฯ ฉีดวัคซีนครบแล้ว 4 ราย ส่วนผู้ป่วย 1 ราย ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อีก 1 ราย เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มเดียว ประสิทธิภาพของวัคซีนจึงเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
  • บทเรียนจากสิงคโปร์ในครั้งนี้คือ วัคซีนโควิด-19 น่าจะมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ใหม่ลดลง แต่อาจลดความรุนแรงหรือการแพร่เชื้อได้ เพราะสังเกตว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อน้อย ทว่า ยังสรุปไม่ได้ ต้องมีจำนวนบุคลากรฯ หรือผู้ป่วยทั้งหมดเป็นตัวหารด้วย และบุคลากรฯ อาจมีการป้องกันตัวที่ดีกว่า

ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ชื่อว่า B.1.617 มี 3 สายพันธุ์ย่อย แต่สายพันธุ์ที่ถูกหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษยกระดับเป็น ‘สายพันธุ์ที่น่ากังวล’ (Variant of Concern) เมื่อ 2 วันก่อน คือ B.1.617.2 เพราะมีความสามารถในการแพร่กระจายรวดเร็ว อย่างน้อยน่าจะเทียบเท่าสายพันธุ์อังกฤษเมื่อปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่

 

ขณะเดียวกันสายพันธุ์ B.1.617.2 นี้ก็กำลังสร้างความกังวลที่สิงคโปร์ โดยตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา สิงคโปร์พบคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนที่เชื่อมโยงกับ Tan Tock Seng Hospital (TTSH) ผู้ป่วยที่ตรวจพบรายแรกเป็นพยาบาลที่ทำงานในหอผู้ป่วย 9D ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์อินเดีย และจนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยแล้ว 43 ราย 

 

การระบาดใน TTSH

TTSH เป็นโรงพยาบาลขนาด 1,600 เตียง เคยมีประสบการณ์การระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2547 ซึ่งตอนนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยในติดเชื้อมากถึง 1 ใน 3 คน ทำให้มีการตั้งระบบเฝ้าระวังอาการทางเดินหายใจในบุคลากรฯ ขึ้น และให้สวมอุปกรณ์ป้องกันตามความเสี่ยง โดยต้องสวมหน้ากากอนามัยเป็นอย่างน้อย

 

ตลอดปี 2563 ก็ไม่พบการระบาดใน TTSH เลย จนกระทั่งวันที่ 28 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า พยาบาลอายุ 46 ปี ซึ่งต่อมาภายหลังคือผู้ป่วยหมายเลข 62541 ทำงานที่หอผู้ป่วย (วอร์ด) 9D มีอาการไอ เจ็บคอ และปวดเมื่อยตามร่างกายในวันที่ 27 เมษายน และได้รับการตรวจหาเชื้อในวันเดียวกัน ผลพบว่าเป็นโควิด-19

 

ทั้งที่พยาบาลรายนี้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 (สำนักข่าว CNA ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทวัคซีน แต่สิงคโปร์ใช้วัคซีน Pfizer-BioNTech เป็นหลัก)

 

ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน วอร์ด 9D ก็ถูกล็อกดาวน์ ปิดรับผู้ป่วยใหม่ และไม่ย้ายผู้ป่วยออก บุคลากรฯ 76 ราย ต้องกักตัว ทำให้ทรัพยากรบุคคลไม่เพียงพอ โรงพยาบาลแก้ไขปัญหาด้วยการลดการรับผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน (Non-Urgent) และส่งผู้ป่วยที่ไม่มีอาการถึงแก่ชีวิต (Non Life-Threatening) ไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียงแทน สำหรับผู้ป่วยนอกมีการเลื่อนวันนัดหมาย งดญาติเยี่ยม ยกเว้นเป็นรายกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต 

 

นอกจากนี้ผู้ป่วยในทั้งหมด 1,100 ราย และบุคลากรฯ  4,500 รายที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยในทั้งหมดยังได้รับการ Swab เพื่อตรวจหาเชื้อ มาตรการข้างต้นสามารถสรุปได้เป็น 3 คำ คือ การจำกัด, การควบคุม และการเหวี่ยงแห (Contain, Control and Cast a wide net) 

 

ผลการสอบสวนโรคในช่วงแรก (30 เมษายน) พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย แบ่งเป็นบุคลากรฯ 5 ราย (แพทย์ 2 ราย, พยาบาล 1 ราย, ผู้ช่วยพยาบาลและแม่บ้านอย่างละ 1 ราย) และผู้ป่วย 8 ราย โดยบุคลากรฯ ฉีดวัคซีนครบแล้ว 4 ราย ส่วนผู้ป่วย 1 ราย ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อีก 1 ราย เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มเดียว ประสิทธิภาพของวัคซีนจึงเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

รศ.เคนเนท แม็ก ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “คลัสเตอร์นี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ รวมถึงการแพร่กระจายเชื้อ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน (Breakthrough Case) แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม”

 

ส่วนประเด็นสายพันธุ์ของไวรัส กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า เชื้อที่พบในแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยอีก 3 ราย เป็นสายพันธุ์ B.1.617.2 (อินเดีย) เหมือนกัน ซึ่งผู้ป่วย 1 ใน 3 รายนี้เป็นชายอายุ 57 ปี เริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน และมารับการตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินในอีก 2 วันถัดมา ผลการตรวจหาเชื้อครั้งแรกเป็น ‘ลบ’ จึงนอนรักษารวมกับผู้ป่วยรายอื่น

 

ปัจจุบัน (9 พฤษภาคม) พบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์ TTSH ทั้งหมด 43 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอื่น 26 ราย (เสียชีวิต 1 ราย) บุคลากรฯ 10 ราย และผู้ที่มาเยี่ยม 7 ราย อายุต่ำสุด 18 ปี เป็นนักศึกษาผู้ช่วยพยาบาล และอายุมากสุดเป็นผู้ป่วยหญิงอายุ 98 ปี ในวอร์ด 9D

 

การระบาดในชุมชน

นอกจากคลัสเตอร์ TTSH แล้ว ในช่วงนี้ที่สิงคโปร์ยังมีอีกอย่างน้อย 10 คลัสเตอร์ใหญ่ เช่น คลัสเตอร์สนามบินชางงี (8 ราย: ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชาย 88 ปี อาชีพพนักงานทำความสะอาด) คลัสเตอร์ด่านตรวจคนเข้าเมือง (11 ราย: ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นเจ้าหน้าที่ 38 ปี ทำงานที่สนามบินชางงี) ซึ่งทั้งสองคลัสเตอร์นี้พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย

 

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น สิงคโปร์จึงตัดสินใจเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการ โดย ลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการประสานงานระหว่างกระทรวง กล่าวว่า “มาตรการใหม่จะทำให้สิงคโปร์ย้อนกลับไปที่ระยะที่ 2 ของการผ่อนคลาย (Phase 2 of Re-Opening) แต่ยังไม่ใช่มาตรการการตัดวงจร”

 

สำหรับชื่อเรียกของมาตรการต่างๆ ต้องย้อนกลับเมื่อปีที่แล้ว (จริงๆ) เพราะสิงคโปร์เรียกมาตรการล็อกดาวน์ ปิดสถานที่ทำงานที่ไม่จำเป็น ปิดสถาบันการศึกษา จำกัดการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนอยู่ที่บ้านว่า ‘การตัดวงจร’ (Circuit Breaker) ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน – 1 มิถุนายน 2563 จากนั้นแบ่งการผ่อนคลายออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

 

  • ระยะที่ 1 การเปิดเมืองอย่างปลอดภัย (Safe Re-Opening) วันที่ 2-18 มิถุนายน 2563
  • ระยะที่ 2 การเปลี่ยนผ่านอย่างปลอดภัย (Safe Transition) วันที่ 19 มิถุนายน – 28 ธันวาคม 2563
  • ระยะที่ 3 ประเทศปลอดภัย (Safe Nation) ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา โดยสิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563

 

แต่ในที่สุด เมื่อมีการระบาดในชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง สิงคโปร์ต้องถอยกลับไป 1 ระยะ คือกลับมาใช้มาตรการการผ่อนคลายระยะที่ 2 เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 8-30 พฤษภาคม 2554 โดย ลอว์เรนซ์ หว่อง แถลงข่าวล่วงหน้า 4 วัน แต่รายละเอียดของรอบนี้กับรอบก่อน (เมื่อปีที่แล้ว) อาจไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น  

 

  • กิจกรรมรวมกลุ่มกันทางสังคม (Social Gathering): จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 5 คน (จากเดิม 8 คน) จำกัดจำนวนแขกที่บ้านต่อวันไม่เกิน 5 คน และแต่ละคนไม่ควรรวมกลุ่มกันเกิน 2 กลุ่มต่อวัน
  • สถานที่ทำงาน: จำกัดจำนวนพนักงานไม่เกิน 50% ที่สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่มาทำงานที่สำนักงานในเวลาเดียวกัน (จากเดิม 75%) และจำกัดการรวมกลุ่มในสถานที่ทำงานไม่เกิน 5 คนต่อครั้ง
  • ยิมและฟิตเนส: ตอนแรกประกาศปิดทั้งหมด แต่ต่อมาอนุญาตให้เปิดเพื่อสำหรับการออกกำลังกายระดับต่ำ (Low-Intensity) ได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ส่วนกลางแจ้งรวมกลุ่มกันได้ไม่เกิน 30 คน
  • งานแต่งงาน: จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกิน 250 คน ถ้ามีการตรวจก่อนงาน (Pre-Event Testing: PET) ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งวิธี ART (Antigen Rapid Test) หรือ PCR แต่ถ้าไม่มี ให้จำกัดจำนวนไม่เกิน 50 คน
  • โรงภาพยนตร์: จำกัดจำนวนผู้เข้าชมไม่เกิน 100 คน หรือ 250 คน ถ้ามีการตรวจก่อนงาน (PET) 
  • พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดสาธารณะ: จำกัดจำนวนผู้ใช้เข้าชม/ใช้บริการ ไม่เกิน 50% (จากเดิม 65%)

 

ในขณะที่มาตรการในผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ สิงคโปร์ปรับจาก 14 เป็น 21 วันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนประวัติการเดินทางย้อนหลัง 21 วัน และผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงสูง (ขณะนี้คือทุกประเทศ ยกเว้นออสเตรเลีย บรูไน จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และนิวซีแลนด์) จะต้องกักตัว 21 วัน (Stay-Home Notice: SHN)

 

สำหรับความครอบคลุมของวัคซีน สิงคโปร์เริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานด่านหน้า และผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไปก่อน ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data ณ วันที่ 18 เมษายน 2564 (ไม่อัปเดตมา 23 วัน) สิงคโปร์มีผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม 1.4 ล้านคน (23.9%) และฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 8.5 แสนคน (14.9%) 

 

บทเรียนจากสิงคโปร์

บทเรียนจากสิงคโปร์ในครั้งนี้คือ วัคซีนโควิด-19 น่าจะมีประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ใหม่ลดลง แต่อาจลดความรุนแรงหรือการแพร่เชื้อได้ เพราะสังเกตว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อน้อย ทว่า ยังสรุปไม่ได้ ต้องมีจำนวนบุคลากรฯ หรือผู้ป่วยทั้งหมดเป็นตัวหารด้วย และบุคลากรฯ อาจมีการป้องกันตัวที่ดีกว่า (เชื่อว่าสิงคโปร์จะตีพิมพ์ผลการสอบสวนอย่างแน่นอน) 

 

การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าเกิดการระบาดจะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคอื่นๆ เป็นผู้ที่เปราะบางอยู่แล้ว เมื่อติดโควิด-19 อาจทำให้มีอาการรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์เดิมหรือสายพันธุ์ใหม่ และเมื่อพบการระบาด จะต้องค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อจำกัดวงการระบาด

 

สุดท้าย มาตรการใหม่มีความเชื่อมโยงกับมาตรการที่เคยใช้อยู่เดิมคือ จากการผ่อนคลายระยะที่ 3 ย้อนกลับไปที่ระยะที่ 2 ซึ่งประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว ส่งผลให้ลดความสับสน มีการกำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขชัดเจน เช่น ไม่เกิน 5 คน หรือไม่เกิน 50% ทำให้ปฏิบัติตาม (Anchoring) ได้ง่าย และไม่ได้ปิดสถานที่แบบเหมารวมสถานที่เสี่ยงต่ำไปด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X