×

วัคซีนที่ไทยเตรียมใช้ vs. วัคซีนในฝัน เราควรฉีดก่อนหรือรอต่อไป?

โดย THE STANDARD TEAM
10.05.2021
  • LOADING...
วัคซีนที่ไทยเตรียมใช้ vs. วัคซีนในฝัน

วันนี้ (10 พฤษภาคม) THE STANDARD จับมือกับโรงพยาบาลศิริราช หาคำตอบกับทุกคำถามที่ต้องรู้ของการฉีดวัคซีน โดยหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญคือ พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย และเป็นผู้ติดตามศึกษาอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดของไทย ได้ตอบคำถามประชาชนที่ถามระหว่างการถ่ายทอดสดได้อย่างน่าสนใจด้วยข้อมูลจริง ทั้งจากการศึกษาในไทยและต่างประเทศ

 

  • ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 เปรียบเทียบกันอย่างไร?

 

พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย และเป็นผู้ติดตามศึกษาอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดของไทย ยกตัวอย่างวัคซีน Pfizer ซึ่งการวัดประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นการทำในช่วงการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 

 

ขณะที่ช่วงนั้นมีวัคซีน Johnson & Johnson ออกมาใหม่ๆ ระบุว่า มีประสิทธิภาพที่ 60-70% ตอนนั้นคนอเมริกันสงสัยว่าเอามาใช้ทำไม เพราะ Pfizer และ Moderna มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% 

 

แต่ความจริงคือวัคซีน Johnson & Johnson ทำการทดลองที่บราซิลและแอฟริกา ซึ่งเป็นช่วงที่ไวรัสกลายพันธุ์มีการระบาดในภูมิภาคนั้น การฉีดเพียงเข็มเดียวแล้วป้องกันได้ถึง 60-70% ก็ถือว่าดีมากแล้ว และยังป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 80-90%

 

ผู้เชี่ยวชาญจึงนำวัคซีน Pfizer และ Moderna ไปทดลองในบราซิลและแอฟริกาว่าจะเหลือประสิทธิภาพอยู่ที่ 90% กว่าอยู่หรือไม่

 

ดังนั้นการวัดประสิทธิภาพวัคซีนวัดกันยาก จึงต้องดูวัตถุประสงค์หลักว่าเราฉีดวัคซีนเพื่ออะไร คำตอบคือฉีดวัคซีนเพื่อให้เราไม่ป่วยหนักหากเราได้รับเชื้อ

 

  • ผลการทดลองในสกอตแลนด์ กับประสิทธิภาพของ AstraZeneca และ Pfizer 

 

การจะบอกว่าวัคซีนตัวไหนดีกว่ากัน ต้องทดสอบในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีการทดลองแบบนี้ให้เราทราบ จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้เกิดขึ้นที่สกอตแลนด์

 

ซึ่งสกอตแลนด์ใช้ Pfizer และ AstraZeneca ทดลองปูพรมฉีดเข็มแรกทั่วประเทศ ผลการทดลองออกมาว่าฉีดวัคซีนเข็มเดียว Pfizer ป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 90% ส่วน AstraZeneca ป้องกันได้ 88% 

 

ขณะที่ Sinovac ทำการศึกษาในบราซิลซึ่งมีแต่เชื้อดื้อยา ปรากฏว่าป้องกันอาการป่วยปานกลางถึงป่วยหนักได้ถึง 84% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% 

 

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกเตรียมที่จะรับรองให้ใช้ Sinovac ได้ไม่เกินปลายเดือนนี้ โดยหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกบอกกับตนเองว่า ข้อมูลของ Sinovac มีตีพิมพ์มากกว่าข้อมูลของ Sinopharm เสียอีก

 

  • กลัวโควิด-19 แต่กลัวการฉีดวัคซีนมากกว่า? รู้จักผลข้างเคียงและการแพ้วัคซีน

 

พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่า อาการข้างเคียง vs. อาการแพ้วัคซีน แตกต่างกัน

 

  • อาการข้างเคียงเป็นอาการที่เราคาดหวังว่าต้องเกิด
  • อาการแพ้คือเหมือนแพ้ยา แพ้อาหารบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดกับใครบ้าง แต่เกิดขึ้นได้น้อยมากอัตราส่วนคือ 1:100,000

 

สำหรับการเปรียบเทียบอาการข้างเคียงของวัคซีนจะทดลองโดยการฉีดวัคซีนจริง กับฉีดน้ำเปล่าหรือยาหลอกเข้าไปเพื่อเปรียบเทียบกัน จากการทดลองพบว่า กลุ่มที่ได้วัคซีนจริงมีอาการข้างเคียง 70% ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอกมีอาการข้างเคียง 40% 

 

แต่ถ้าเทียบวัคซีนระหว่าง AstraZeneca กับ Sinovac ปรากฏว่าวัคซีน AstraZeneca จะมีอาการข้างเคียงมากกว่า โดยจะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อย แต่ก็ต้องพูดว่าการที่อาการเยอะหมายความว่าจะเกิดภูมิต้านทานสูงขึ้น เพราะแสดงว่าร่างกายเรากำลังต่อสู้อยู่ ขอให้คิดว่าร่างกายเกิดปฏิกิริยาสร้างภูมิคุ้มกันอยู่

 

ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างปัญหากับประโยชน์ของวัคซีนที่ไทยมีใช้อยู่คือ AstraZeneca กับ Sinovac (ซึ่งวัคซีนอื่นๆ จะมีผลใกล้เคียงกันไป) จะพบว่า วัคซีน AstraZeneca กับ Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยปานกลางถึงหนักมากกว่า 80% ส่วนการป้องกันอาการป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ 100% เท่ากัน

 

แต่ที่อยากให้ดูคือผลข้างเคียงที่วิเคราะห์จากข้อมูลในประเทศไทยเมื่อได้รับวัคซีน โดย Sinovac มีผลข้างเคียงแบบอ่อน เช่น อาการไข้ เพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ 35% หรือ 1 ใน 3 แต่กลุ่มคนฉีดวัคซีนยาหลอกมีอาการเดียวกัน 20% กว่า อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวปลอดภัยและพบได้ไม่เกิน 3 วัน

 

จากการเก็บข้อมูลผลข้างเคียงพบว่า Sinovac ซึ่งฉีดไปแล้วกว่าล้านคนในประเทศไทยพบว่า ผู้ได้รับวัคซีนมีอาการขาอ่อนแรงชั่วคราว 0.008% (82:1,000,000 คน) ส่วนอาการที่แพ้รุนแรง (ไทย) คือ 0.0012% (12:1,000,000 คน)

 

ขณะที่ AstraZeneca มีอาการไข้ เพลีย ปวดหัว คลื่นไส้ 80% อาการแพ้รุนแรง (ไทย) 0.0016% (16:1,000,000 คน) ภาวะลิ่มเลือด (ในต่างประเทศ) (4:1,000,000 คน)

 

ส่วนของ Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson ก็พบอาการไข้ อ่อนเพลีย ที่ 50-80% เช่นกัน ขณะที่อาการแพ้รุนแรงใน Pfizer ที่พบในสหรัฐอเมริกาอัตราส่วน 1:100,000 คน

 

ข้อสังเกตในประเทศไทยคือ ผลข้างเคียงที่เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัวเมื่อได้รับวัคซีนส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่ากลุ่มคนสูงอายุ แต่ถ้าเทียบกัน หากไม่ฉีดวัคซีนแล้วติดโควิด-19 จะมีอาการข้างเคียงที่คาดเดาไม่ได้เกิดขึ้นตามมามหาศาล

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกยี่ห้อวัคซีนได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้คลายความกังวลและลดอาการข้างเคียงได้

 

“ต้องย้ำว่าประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิตมีสูงในระดับ 100% เท่ากันหมดทุกยี่ห้อ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องรอวัคซีนในฝันของเรา การฉีดก่อน ได้ภูมิคุ้มกันก่อน มันคุ้มค่ากว่ารอฉีดวัคซีนตัวอื่นซึ่งจริงๆ แล้วผลออกมาอาจไม่ได้ต่างกันมาก”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X