×

มองวัคซีน Sinovac ในสายตาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ องค์การอนามัยโลก

10.05.2021
  • LOADING...
มองวัคซีน Sinovac ในสายตาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ องค์การอนามัยโลก

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) ขององค์การอนามัยโลก เปิดเผยเอกสาร ‘การประเมินหลักฐาน: วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค/โคโรนาแวค’ (Evidence Assessment: Sinovac/CoronaVac COVID-19 Vaccine) ซึ่งเอกสารนี้เป็นเพียงผลการทบทวนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ยัง ‘ไม่ใช่’ เอกสารที่ยืนยันว่าองค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน Sinovac แล้ว 
  • จะเห็นว่าประเด็นที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญคือประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในประชากร 3 กลุ่ม คือ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยในสายตาของคณะกรรมการฯ ค่อนข้างมั่นใจในกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนอีก 2 กลุ่มค่อนไปทางไม่มั่นใจ จึงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วองค์การอนามัยโลกจะตัดสินใจ ‘อนุมัติ’ หรือไม่ อย่างไร

เอกสารเกี่ยวกับวัคซีน Sinovac ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้คือ ‘การประเมินหลักฐาน: วัคซีนโควิด-19 ซิโนแวค/โคโรนาแวค’ (Evidence Assessment: Sinovac/CoronaVac COVID-19 Vaccine) โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (SAGE) ขององค์การอนามัยโลก แต่เอกสารนี้เป็นเพียงผลการทบทวนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

 

ยัง ‘ไม่ใช่’ เอกสารที่ยืนยันว่าองค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน Sinovac แล้ว 

 

เพราะเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 Arnaud Didierlaurent หัวหน้าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกล่าวในการแถลงข่าวรับรองวัคซีน Sinopharm เพิ่มเติมถึงวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนของจีนเหมือนกันว่า “เราเริ่มทบทวนรายงานจากบริษัท Sinovac แล้ว แต่ได้ร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ผลิต ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับในเร็วๆ นี้เพื่อตัดสินใจ”

 

อย่างไรก็ตามเอกสารชิ้นนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีผลการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ได้รับการทบทวนโดยคณะกรรมการฯ ระดับนานาชาติ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการเผยแพร่ต้นฉบับการศึกษาที่บราซิล (The PROFISCOV Study) เมื่อกลางเดือนเมษายน 2564 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

 

ประเด็น/คำถามในการพิจารณา

 

วัคซีน Sinovac เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ตารางการฉีด 2 โดสห่างกัน 14-28 วัน ได้รับการอนุมัติในประเทศจีนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 และใน 32 ประเทศสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป แต่มีความหลากหลายของช่วงอายุ และได้รับการแจกจ่ายไปแล้ว 260 ล้านโดสทั่วโลก คณะกรรมการฯ ได้ตั้งประเด็น/คำถามในการทบทวนไว้ 4 ข้อด้วยกัน คือ

 

  • อะไรคือหลักฐานสำหรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ (18-59 ปี)
  • อะไรคือหลักฐานสำหรับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว
  • อะไรคือหลักฐานสำหรับการใช้วัคซีนในผู้สูงอายุ
  • การประเมินระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

 

ประสิทธิภาพของวัคซีน

 

คณะกรรมการฯ รวบรวมผลการวิจัยจาก 5 การศึกษาใน 4 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี ชิลี อินโดนีเซีย และบราซิล ดังตารางที่ 1 

 

คอลัมน์รองสุดท้ายเป็นประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ และคอลัมน์สุดท้ายเป็นประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล (อาการรุนแรง) หลังจากฉีดเข็มที่ 2 เป็นเวลา 14 วันขึ้นไป พบว่า 

 

  • ตุรกี มีประสิทธิภาพสูงสุด 84% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 100% 
  • บราซิล มีประสิทธิภาพต่ำสุด 50% ส่วนการป้องกันการนอนโรงพยาบาลไม่มีรายงาน 
  • ชิลี มีประสิทธิภาพ 67% และป้องกันการนอนโรงพยาบาลได้ 85% 

 

เนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบทการระบาดต่างกัน เช่น สายพันธุ์ที่ระบาดในบราซิลคือ P.1 (สายพันธุ์บราซิล) ส่วนชิลีเป็นสายพันธ์ุ P.1 และ B.1.1.7 (สายพันธุ์อังกฤษ) และวิจัยในกลุ่มประชากรต่างกัน เช่น บราซิลทดลองในบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตุรกีทดลองในบุคลากรทางการแพทย์ 10% และอีก 90% เป็นประชาชนทั่วไป 

 

ตารางที่ 1 ประสิทธิภาพของวัคซีน

 

 

แต่ถ้าอ่านจริงจังจะต้องอ่านตัวเลขในวงเล็บข้างใต้ซึ่งเป็นช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% CI) ด้วย เช่น ตุรกี 84% (65, 92) แปลอย่างคร่าวๆ คือเมื่อทดสอบทางสถิติ มีความเชื่อมั่น 95% ว่าประสิทธิภาพจริงของวัคซีนจะอยู่ระหว่าง 65-92% ซึ่งถือว่าค่อนข้างกว้าง ในขณะที่ชิลีป้องกันการมีอาการ 67% (65, 69) ถือว่าแคบ และน่าเชื่อถือกว่า

 

และคอลัมน์ตรงกลางยังบอกด้วยว่าแต่ละประเทศวัดผล (Measure of Effect) อย่างไร โดยตุรกีเป็น ‘Efficacy’ (ประสิทธิศักย์) คือการทดลองที่มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ เช่น RCT ในขณะที่ในชิลีเป็น ‘Effectiveness’ (ประสิทธิผล) คือการทดลองในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ทั้งคู่จะถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า ‘ประสิทธิภาพ’ (รวมถึงในบทความนี้ด้วย)

 

ประสิทธิภาพในผู้สูงอายุ

 

คณะกรรมการฯ ทำตารางเปรียบเทียบลักษณะของประชากรที่วิจัยไว้อีกตารางหนึ่งว่าในแต่ละระยะของการวิจัย อาสาสมัครมีจำนวนของกลุ่มอายุ 18-59 ปี หรือมากกว่า 60 ปีเท่าไร พบว่าในการวิจัยความปลอดภัย (ระยะที่ 1) มีผู้สูงอายุ 949 คน คิดเป็นเป็นสัดส่วน 12.0% ส่วนการวิจัยประสิทธิภาพ (ระยะที่ 3) มีผู้สูงอายุ 212 คน คิดเป็น 1.8% ซึ่งถือว่าน้อย

 

ตารางที่ 2 จำนวนอาสาสมัครในแต่ละช่วงอายุ 

 

 

ประสิทธิภาพในกลุ่มผู้สูงอายุที่บราซิลเท่ากับ 51.1% (-166.9, 91.0) สังเกตว่าช่วงความเชื่อมั่นกว้างมาก และค่าต่ำสุดยังต่ำกว่า 0% (คร่อม 0%) จึงถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จำนวนกลุ่มตัวอย่างอาจน้อยเกินไป เปรียบเทียบกับกลุ่มอายุ 18-59 ปี มีประสิทธิภาพ 50.7% (35.8, 62.1) ซึ่งตัวเลข % ใกล้เคียงกันแต่ช่วงความเชื่อมั่นต่างกัน 

 

ในขณะที่ผลการวิจัยในชิลี ซึ่งมีสัดส่วนของผู้สูงอายุประมาณ 25% พบว่าในภาพรวมวัคซีนมีประสิทธิภาพ (ซึ่งความจริงคือประสิทธิผล) ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 67% ป้องกันอาการรุนแรงจนต้องรักษาในห้องไอซียู 89% และป้องกันการเสียชีวิต 80% แต่เอกสารชิ้นนี้ไม่ได้แยกวิเคราะห์รายกลุ่มอายุเหมือนของบราซิล

 

ประสิทธิภาพในผู้มีโรคประจำตัว

 

คณะกรรมการฯ อ้างอิงประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวจากการวิจัยในบราซิลเพียงการศึกษาเดียว ดังตารางที่ 3 โดยพบว่ามีประสิทธิภาพ 48.9% (26.6, 64.5) แต่ถ้าแยกพิจารณารายโรคจะพบว่าประสิทธิภาพในโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเบาหวานมีค่าความเชื่อมั่นคร่อม 0% วัคซีนจึงอาจไม่มีประสิทธิภาพ

 

ตารางที่ 3 ประสิทธิภาพของวัคซีนแยกตามอายุและโรคประจำตัว

 

 

ความปลอดภัยของวัคซีน

 

คณะกรรมการฯ สรุปว่าการวิจัยระยะสัตว์ทดลองไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย และในฐานข้อมูลด้านความปลอดภัยของวัคซีนพบว่าในจำนวนผู้ได้รับวัคซีน 8,840 คน ส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงระดับเล็กน้อย-ปานกลาง ส่วนใหญ่เป็นอาการปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ส่วนความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 

การวิจัยระยะที่ 3 ในบราซิลไม่พบความไม่สมดุล (Imbalance) ของจำนวนที่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรง หรือระดับที่ 3 ขึ้นไป (Grade 3+) ระหว่างในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก โดยเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์รุนแรงทั้งหมด ‘ไม่น่าจะ’ หรือ ‘ไม่เกี่ยวข้อง’ กับวัคซีน ในขณะที่อาการแพ้เป็นแบบระดับที่ 1 หรือ 2

 

ข้อสรุปของคณะกรรมการ

 

คณะกรรมการสรุปการประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ สูง-ปานกลาง-ต่ำ ดังตารางที่ 4 สรุปได้ดังนี้

 

  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ มีความเชื่อมั่นระดับสูง ปานกลาง และปานกลาง ในกลุ่มผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวตามลำดับ
  • ความปลอดภัย-เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง มีความเชื่อมั่นระดับปานกลาง ต่ำ และต่ำ ในกลุ่มผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวตามลำดับ

 

ตารางที่ 4 การประเมินระดับความน่าเชื่อถือในประเด็นต่างๆ

 

 

จะเห็นว่าประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญคือประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในประชากร 3 กลุ่ม คือ ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยในสายตาของคณะกรรมการฯ ค่อนข้างมั่นใจในกลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนอีก 2 กลุ่มค่อนไปทางไม่มั่นใจ จึงต้องติดตามว่าสุดท้ายแล้วองค์การอนามัยโลกจะตัดสินใจ ‘อนุมัติ’ หรือไม่ อย่างไร

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการป้องกันสายพันธ์ุใหม่ และการติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับการอนุมัติ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารแต่ไม่ได้นำมาพูดถึงในบทความนี้ สิ่งที่ทุกคนน่าจะได้เรียนรู้จากเอกสารชิ้นนี้คือ ‘แนวทาง’ การประเมินวัคซีนเพื่อนำมาใช้กับทั้งโลกต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ที่สำคัญคือความโปร่งใสในการพิจารณา

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X