เมื่อวานนี้ (6 พฤษภาคม) Moderna ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 แถลงข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาการใช้วัคซีนโควิด-19 โดสกระตุ้น (Booster Dose) ในระยะที่ 2 กับบุคคล 40 คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อ 6-8 เดือนก่อนหน้า ซึ่งผลการตรวจเลือดของอาสาสมัครที่ร่วมในการศึกษาครั้งนี้พบว่า ครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ (B.1.351) และสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในบราซิล (P.1) ในระดับต่ำก่อนที่จะได้รับวัคซีนโดสกระตุ้น
ทั้งนี้ Moderna ได้ทดสอบการให้วัคซีนโดสกระตุ้นเพิ่มเติมจากการให้วัคซีนสองโดสแบบปกติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ซึ่ง Moderna ระบุในจดหมายข่าวอยู่สองวิธีด้วยกันที่มีการรายงานข้อมูลขั้นต้นออกมาแล้ว นั่นคือวิธีการให้วัคซีนที่มีอยู่เป็นโดสที่สาม แต่ให้เป็นจำนวน ‘ครึ่งโดส’ จากปริมาณโดสเต็มที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และอีกวิธีคือการให้วัคซีนโดสที่สามเพิ่มเติมจากวัคซีนสองโดสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่วัคซีนโดสที่สามจะเป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่ทางบริษัทผลิตขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ B.1.351
นอกจากสองวิธีนี้ Moderna ยังกำลังค้นคว้าเกี่ยวกับการใช้วัคซีนกระตุ้นแบบผสม ซึ่งมาจากวัคซีนที่มีอยู่และวัคซีนที่ผลิตขึ้นเพื่อรองรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่อย่างละครึ่ง แต่ยังไม่มีผลการศึกษาใดๆ เกี่ยวกับการใช้วัคซีนกระตุ้นแบบผสมดังกล่าวออกมาในขณะนี้
ทั้งสองวิธีที่ Moderna ระบุนั้นมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อไวรัสสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ (B.1.351) และบราซิล (P.1) ทั้งนี้ Moderna รายงานว่าทั้งสองวิธีดูเหมือนจะช่วยเพิ่มการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ โดยหลังจากการวัคซีนในวิธีใดวิธีหนึ่งเป็นเวลาสองสัปดาห์ ระดับของการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของกลุ่มตัวอย่างต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B.1.351, P.1 และสายพันธุ์ดั้งเดิมนั้นดีขึ้น
Moderna ยังระบุว่า การกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อเจาะจงในการรับมือกับเชื้อสายพันธุ์ B.1.351 ยังเสริมสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 ได้สูงกว่าการใช้วัคซีนชนิดเดิมจำนวนสามโดสด้วย ขณะที่อาการที่ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่มีความรุนแรงอยู่ในระดับอ่อนถึงปานกลาง
ภาพ: Oliver Berg / picture alliance via Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: