ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องเผชิญ อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้นำทั่วโลกเห็นพ้องว่ารอช้าไม่ได้เหมือนกัน และต้องเร่งร่วมมือกันแก้ไขก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change
เมื่อวันที่ 21-22 เมษายนที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชิญผู้นำ 40 ประเทศทั่วโลก ร่วมประชุมสุดยอด Climate Change ย้ำความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะกลับมาร่วมผลักดันประเด็นสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลกอีกครั้ง หลังจากที่หนึ่งปีก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ช็อกโลกด้วยการประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส
ข่าวการกลับมาของสหรัฐฯ สร้างความยินดีให้กับสหภาพยุโรป (EU) ที่จะได้แท็กทีมกันผลักดันวาระเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change อีกครั้ง และเป็นประเด็นที่จะส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกและความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก
ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำเรื่อง Climate Change สหรัฐฯ ได้ประกาศลดก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 50-52 ภายในปี 2030 และสามารถผลักดันให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติม เช่น ญี่ปุ่นประกาศลดร้อยละ 46 ภายในปี 2030 และแคนาดาจะลดร้อยละ 40-45 ภายในปี 2030
สำหรับภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด สหราชอาณาจักรจะลดการปล่อยก๊าซฯ ร้อยละ 68 ภายในปี 2030 และร้อยละ 78 ภายในปี 2035 ในขณะที่ EU เพิ่งผ่านกฎหมายสภาพภูมิอากาศ (Climate Law) ที่บัญญัติเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2030 และลดให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050
ทั้งนี้ ในส่วนของจีนนั้นยังคงยืนยันเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะพยายามให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 และจากนั้นจะลดการปล่อยก๊าซฯ เหลือศูนย์ก่อนปี 2060 ซึ่งฝ่ายตะวันตกผิดหวังที่จีนไม่ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายใหม่ ในขณะเดียวกันประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ก็ได้ย้ำว่า จีนเริ่มต้นช้ากว่าประเทศตะวันตก จึงยังควรถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะทำได้ช้ากว่าประเทศพัฒนาแล้ว
ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของโลกตะวันตกว่าจะร่วมกันผลักดันหรือกดดันจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างไร เพื่อให้เพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สูงขึ้น ซึ่งมีทั้งแนวทางที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากทุกฝ่าย เช่น การระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) และข้อเสนอที่ถูกวิจารณ์อย่างหนัก เช่น ข้อเสนอของ EU เรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน
การระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)
ผลลัพธ์สำคัญประการหนึ่งจากการประชุมสุดยอดผู้นำ Climate Change คือการที่ประเทศพัฒนาแล้วประกาศคำมั่นร่วมที่จะระดมเงินทุนให้ได้อย่างน้อย 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน โดยจะมีทั้งเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศและเงินลงทุนของภาคเอกชน
ในขณะเดียวกันประเทศพัฒนาแล้วก็มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวของตนเอง เช่น EU กำหนดว่า ⅓ ของงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ก้อนมหึมา จะต้องเป็นการลงทุนในโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคิดเป็น 6 แสนล้านยูโรจากงบประมาณทั้งหมด 1.8 ล้านล้านยูโร
ทั้งนี้ คำถามต่อไปคือ จะทราบได้อย่างไรว่าโครงการใดถือเป็น ‘การลงทุนสีเขียว’ ที่เข้าข่ายให้ได้รับจัดสรรงบประมาณ จึงเป็นที่มาของกฎหมายสำคัญที่เรียกว่า EU Taxonomy Regulation (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีแต่อย่างใด) ว่าด้วยการจัดหมวดหมู่และการกำหนดหลักเกณฑ์ทางเทคนิคเพื่อคัดกรองกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการผลิตไฟฟ้า พลังงานที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และไฮโดรเจน เป็นต้น ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพ อาทิ เอทานอล ถูกตัดออกจากกลุ่มสีเขียว ทั้งนี้ EU ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้พลังงานนิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งมีความจำเป็นในระหว่างที่พลังงานสะอาดยังไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด) เข้าข่ายกลุ่มสีเขียวด้วยหรือไม่และอย่างไร เนื่องจากมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด เช่น ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากของเสียของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และข้อเท็จจริงที่ว่าก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน
กฎหมายการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว นอกจากจะเป็นเกณฑ์อ้างอิงในการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐแล้ว ยังจะกลายเป็นคัมภีร์สำหรับการวางแผนธุรกิจของภาคเอกชนยุโรป รวมถึงภาคการเงินที่เริ่มออกเครื่องมือระดมทุนประเภทต่างๆ โดยยึดโยงกับกฎหมาย EU Taxonomy Regulation เช่น พันธบัตร Green Bonds ของธนาคารเยอรมนี Deutsche Kreditbank ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่า 500 ล้านยูโร
สำหรับประเทศไทยได้เริ่มมีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนแล้วเช่นกัน โดยล่าสุดได้จดทะเบียนพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ในตลาดหลักทรัพย์สีเขียวลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Green Stock Exchange: LGX) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งพลังงานสะอาดในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีส้ม
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism)
แม้สหรัฐฯ กับ EU จะเห็นพ้องกันเรื่องการระดมทุนเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้คาร์บอน หรือ Climate Finance ให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่สหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแผนของ EU ที่จะนำมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) มาใช้
มาตรการ CBAM สรุปแบบสั้นๆ คือการเก็บ ‘ค่าปรับ’ สำหรับสินค้าที่นำเข้ามายัง EU ในกรณีที่โรงงานผู้ผลิตสินค้านั้นๆ ปล่อยคาร์บอนมากกว่าโรงงานใน EU ที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน ซึ่งแรงจูงใจในการใช้มาตรการนี้สืบเนื่องจาก EU มองว่า ตนเป็นกลุ่มประเทศที่ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก และสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ อย่าง สหรัฐฯ และจีน ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าบริษัทใน EU จะไม่เสียเปรียบที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก EU จึงจะคิดราคาคาร์บอนสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสภาพภูมิอากาศที่ผ่อนผันกว่า
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ มองว่ามาตรการ CBAM อาจส่งผลเสียต่อความพยายามทางการทูตของกลุ่มประเทศตะวันตกในการผลักดันให้กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจใหญ่อย่าง จีน บราซิล แอฟริกาใต้ และอินเดีย ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ากลไก CBAM เป็นมาตรการที่เลือกปฏิบัติ เสมือนเป็นการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มเติมและขัดต่อกฎระเบียบองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นในระดับสูงสุดโดยผู้นำจีนเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2021 ที่ได้กล่าวระหว่างการหารือทางไกลกับผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีว่า “การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหน้าที่ร่วมกันของมนุษยชาติ และไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในภูมิรัฐศาสตร์ เป้าในการโจมตีประเทศอื่น หรือข้ออ้างเพื่อสร้างอุปสรรคทางการค้า”
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านจากหลายประเทศ รวมทั้งจากพันธมิตรหลักอย่างสหรัฐฯ แต่ EU ก็ได้ประกาศในที่ประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศว่าจะเดินหน้าจัดตั้งกลไกการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนต่อไป โดยน่าจะได้เห็นร่างแรกของกฎหมายในช่วงเดือนมิถุนายนของปีนี้ และมาตราปรับคาร์บอนฯ น่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ต้นปี 2566 อย่างเร็วที่สุด
แม้ว่าสหรัฐฯ จะกลับมาผนึกกำลังกับ EU อีกครั้งในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเห็นพ้องต้องกันเรื่องการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการระดมทุนด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว แต่ก็ไม่ใช่ว่าสองมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกจะเห็นตรงกันไปทุกเรื่อง โดยการเก็บภาษีหรือค่าปรับอันเป็นเครื่องมือหลักที่ EU จะใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายนั้นยังไม่ใช่มาตรการที่สหรัฐฯ เห็นด้วยนัก
หมายเหตุ: สำหรับไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่เคยประกาศไว้ และยังไม่ได้มีการปรับเพิ่ม
*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ
ภาพ: Kay Nietfeld – Pool / Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2021/04/23/leaders-summit-on-climate-summary-of-proceedings/
- https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/speech_21_1882
- https://www.consilium.europa.eu/en/european-council/president/news/2021/04/22/20210421-climate-summit/
- https://www.politico.com/news/2021/04/23/biden-climate-summit-484501
- https://www.politico.eu/article/chinas-xi-seeks-macron-merkel-climate-change-co2-cop26-emisions/
- https://ihsmarkit.com/research-analysis/-eu-taxonomy-backs-hydrogen-delays-gas-decision-as-scope-evolv.html
- https://www.euractiv.com/section/energy-environment/news/eu-spells-out-criteria-for-green-investment-in-new-taxonomy-rules/