×

ทำไมผู้มีภาวะอ้วนถึงป่วยเป็นโควิด-19 รุนแรง

27.04.2021
  • LOADING...
ทำไมผู้มีภาวะอ้วนถึงป่วยเป็นโควิด-19 รุนแรง

จากการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตระลอกใหม่ในวันที่ 25 เมษายน 2564 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าจากยอดผู้เสียชีวิตสะสม (นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) อยู่ที่ 46 ราย และในจำนวนนี้มีภาวะอ้วน 12 ราย คิดเป็น 26.1% หรือผู้เสียชีวิตทุกๆ 4 รายจะมีภาวะอ้วน 1 ราย 

 

ทำให้ผู้มีภาวะอ้วนตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยอาการรุนแรงเมื่อติดโควิด-19 สามารถอ้างอิงเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยในอังกฤษ พบว่าผู้มีภาวะอ้วนมาก (BMI>40) มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเป็น 1.9 เท่าเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะอ้วน ส่วนงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ภาวะอ้วน (BMI>30) เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุน้อยกว่า 65 ปี และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตาม BMI ที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่คุณควรรู้คือ คำจำกัดความของภาวะอ้วน และภาวะอ้วนส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไร 

 

คำว่าภาวะอ้วนในที่นี้ สามารถวัดได้จากการวัดดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเท่ากับ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง 

 

ตัวอย่าง น้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50 หาร (1.5 x 1.5) = 22.22 

 

  • ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่า มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
  • ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-22.9 แสดงว่า อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี
  • ค่า BMI ตั้งแต่ 23.0-24.9 แสดงว่า มีน้ำหนักเกิน
  • ค่า BMI ตั้งแต่ 25.0-29.9 แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
  • ค่า BMI ตั้งแต่ 30.0 ขึ้นไป แสดงว่า อยู่ในภาวะอ้วนอย่างมาก และเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง

 

ภาวะอ้วนส่งผลต่อผู้ป่วยโควิด-19 อย่างน้อย 3 ประการคือ 

 

  • ทำให้ภูมิคุ้มกันแย่ลง โดยร่างกายจะสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดภาวะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในหนูที่มีภาวะอ้วนจะมีการเพิ่มขึ้นของตัวรับไวรัสในทางเดินหายใจ ทำให้ได้รับเชื้อในปริมาณมาก

 

  • ทำให้การทำงานของปอดไม่มีประสิทธิภาพ ไขมันที่หน้าอกและหน้าท้องทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่ การนอนคว่ำหน้า (Prone) ซึ่งทำให้ปอดแลกเปลี่ยนแก๊สได้ดีขึ้นทำได้ลำบาก บางรายเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (OSA) และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด

 

  • มีโรคร่วมที่สำคัญ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ ไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษา 

 

จากเหตุผลทั้ง 3 ข้อ ทำให้ภาวะอ้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง แนวทางการรักษาของกรมการแพทย์กำหนดให้ผู้ที่มีภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัม) ต้องได้รับยาต้านไวรัส ส่วน นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำว่าผู้มี BMI>30 เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จำเป็นต้องรีบให้ยาต้านไวรัส

 

ผู้มีภาวะอ้วนควรป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ เลิกสูบบุหรี่ (ซึ่งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง) หากมีประวัติเสี่ยงต้องตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ผู้มีภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI>35) เป็นกลุ่มเป้าหมายในการได้รับวัคซีนในระยะที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด

 

 

อ้วนถึงป่วยเป็นโควิด-19 รุนแรง

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X