วันนี้ (26 เมษายน) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงผลข้างเคียงของวัคซีน Sinovac และการจัดการ ณ วันที่ 26 เมษายน 2564
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ระบุว่า แนวทางของกองระบาด ยังใช้ ISRR (Imminozation Stress Related Response) ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อาจต้องเน้นความสำคัญของภาวะที่เกิดขึ้นจริงและมีผลต่อระบบประสาทอย่างชัดเจน และต้องการการดูแล รวมทั้งการติดต่อกลับไปยังบริษัทผู้ผลิต
ISSR เป็นกลไก หรือ Mechanisms ที่เป็น Psychosomatic หรือ Conversion ทางจิตอารมณ์วิตกกังวลที่ปรากฏออกมาทางร่างกาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางสมองสามารถระบุแยกได้แม้กระทั่งแพทย์ธรรมดาทั่วไปก็ตาม
อาการที่พบขณะนี้เป็นของจริง และบางอาการที่ไม่คิดว่าสำคัญมาก คืออาการชาของแขนข้างที่ฉีดทั้งแขนตั้งแต่ต้นแขนไปจนถึงมือโดยไม่มีอาการอ่อนแรง และ ไม่เสีย Dexterity มากหรือนิดหน่อย พบในทันตแพทย์ที่เป็นและไม่หายมาหนึ่งเดือนแล้ว และมีปัญหาในการทำงานมาก
หรือในกรณีที่มีความผิดปกติทางตา ไม่ว่าเป็นตาเดียว Monocular หรือจากจอรับภาพในสมอง ที่เกิดจากจอรับภาพของสมองที่ท้ายทอย ทำให้ภาพแหว่งครึ่งซีกของทั้งสองตา Homonymous Hemiamopsia
ซึ่งทั้งหมดอธิบายด้วยการที่เส้นเลือดมีการหดตัวเกร็ง สปาสซัม Vasospastic Mechanism (ที่เส้นเลือดในตา รวมทั้งที่เกิดในเส้นเลือดสมอง) ในอวัยวะสำคัญเช่นนี้
แม้ว่าส่วนใหญ่จะหายเอง โดยที่รายงานทั้งหลาย ‘ที่ไม่ได้เกี่ยวกับวัคซีน’ จะดีขึ้นเองภายในไม่กี่วัน และเป็นข้ออธิบายว่าทำไมการตรวจคอมพิวเตอร์สมองจึงไม่พบความผิดปกติ ถึง 30-70% แต่จำนวนที่เหลือที่ไม่หายจะเกิดขึ้นถาวร
ในกรณีของตา แม้กระทั่งชาดังกล่าว แม้โดยไม่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซึกก็ตาม สมควรที่จะได้รับยาขยายหลอดเลือดหรือไม่ เช่น Isosorbide ด้วยความระมัดระวัง และถ้าไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ควรต้องทำอย่างไรต่อ อย่างเช่น ผู้เชี่ยวชาญที่ลำปางถึงกับต้องทำการสอดสายแล้วฉีดสีเข้าเส้นเลือดสมอง Angiogram และให้ยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ หรือที่ระยอง และทางโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชาใช้ Thrombolysis 6 ราย ซึ่งแสดงชัดเจนว่าเข้าเกณฑ์ของสโตรก ภาวะเส้นเลือดสมองผิดปกติเฉียบพลัน และที่สุรินทร์อีก 17 ราย อาการคือปวดศีรษะและชาครึ่งซึก รวมถึงที่อุบลราชธานีและขอนแก่นเป็นแขนขาอ่อนแรงค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ที่โรงพยาบาลสุรินทร์นั้นพบว่า ในกรณีของผู้หญิงซึ่งส่วนมากอายุน้อยทั้งสิ้น อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับระยะที่มีประจำเดือนและภายในช่วงก่อนและหลังที่มีประจำเดือนประมาณ 7 วัน โดยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะหลีกเลี่ยงช่วงเวลาดังกล่าวในการฉีดวัคซีน Sinovac
ทั้งหมดของผู้ได้รับผลแทรกซ้อนเหล่านี้อยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญทางสมอง Neurologist ทั้งสิ้น ในการให้การวินิจฉัย การติดตาม และการรักษา
นพ.ธีระวัฒน์กล่าวถึง รื่องที่สมควรทำด่วนที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข คือ
1. กระทรวงสาธารณสุขต้องรีบติดต่อไปยังบริษัทวัคซีน แจ้งเหตุการณ์ให้ตรวจสอบกระบวนการวิธีบรรจุขวด ซึ่งการสอบถามโดยผู้ที่สนิทกับรัฐบาลจีนพบว่า บริษัทมีปัญหาในการหาขวดบรรจุอยู่แล้ว และน่าจะเป็นกระบวนการปนเปื้อนมากกว่าตัววัคซีนเอง หรือส่งล็อตใหม่มาทั้งหมด ทั้งนี้ แม้ว่าการปนเปื้อนไม่ได้เกิดขึ้นทุกขวดในล็อตเดียวกันก็ตาม
2. แจ้งในพื้นที่ถึงเลขหมายประจำล็อตที่เกิดปัญหา ทั้งนี้ จะมีบางล็อตที่มีปัญหามากและค่อนข้างรุนแรง และในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขณะนี้วัคซีนขาดแคลน ต้องเตรียมสถานการณ์ให้พร้อม แต่ไม่ได้หมายความว่าชักช้าจนขัดขวางกระบวนการฉีด ซึ่งต้องการให้วัคซีนในจำนวนมากที่สุดและเร็วที่สุดในขณะนี้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของวัคซีนเชื้อตาย Sinovac ซึ่งในกรณีของ AstraZeneca นั้น จะเป็นเรื่องของการเกิดเลือดข้นมีลิ่มเลือดอุดตันตามอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องและในสมอง ร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจากการที่มีภูมิคุ้มกันต่อเกล็ดเลือด
แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ยังคงต้องเร่งรีบฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ โดยที่ทราบข้อจำกัดบางประการ และเตรียมรับมือในการแก้ผลแทรกซ้อนดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล