ช่วงนี้หลายสำนักวิจัยทยอยประกาศตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้ออกมา ซึ่งเป็นการปรับลดโดยถ้วนหน้า แน่นอนว่าการระบาดระลอกล่าสุดของโควิด-19 ซึ่ง ณ วันนี้ ยังไม่ทราบว่าจะจบลงอย่างไร และเมื่อไร เป็นปัจจัยหลักของการปรับลดประมาณการลงกันในครั้งนี้
คงต้องจับตาดูตัวเลขคาดการณ์ GDP ของกระทรวงการคลังในปลายเดือนนี้ และตัวเลขของสภาพัฒน์ที่จะตามมาติดๆ ในอีก 3 สัปดาห์ ว่าจะเป็นเท่าไร โดยก่อนการระบาดระลอกใหม่ สองหน่วยงานนี้มองตัวเลขการขยายตัวของ GDP ทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.0 ต่อปี ตามลำดับ
เห็นตัวเลขต่ำๆ ของภาคเอกชนที่ออกมาก่อนแบบนี้ เชื่อได้ว่าโอกาสในการถดถอยซ้ำสองของเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง
การถดถอยที่ผมพูดถึงนี้หมายถึงการถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออัตราการขยายตัวของ GDP จากไตรมาสหนึ่งไปอีกไตรมาสหนึ่ง (Quarter-On-Quarter Growth) ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ที่เรียกว่าทางเทคนิคก็เพราะว่าไม่ทุกครั้งที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดลบติดต่อกันสองไตรมาสจะแปลว่าเศรษฐกิจแย่ เนื่องจากว่าบางครั้งการติดลบอาจจะมาจากความผันผวนของเพียงบางองค์ประกอบของ GDP ซึ่งไม่ได้สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวม
อย่างไรก็ดี การถดถอยทางเทคนิคเป็นนิยามที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดของนิยามเศรษฐกิจถดถอย เพราะคำนวณได้ง่ายและข้อมูลไม่ล่าช้ามาก ในขณะที่บางนิยามต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหลังจากไตรมาสสิ้นสุดลง
ณ จุดนี้ เรายังไม่ทราบอัตราการขยายตัวของ GDP จากไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มาไตรมาส 1 ของปีนี้ ต้องรอจนกว่าสภาพัฒน์จะแถลงตัวเลขในเดือนพฤษภาคม แต่จากข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน มีความเป็นไปได้สูงมากที่อัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของ GDP ในไตรมาส 1 จะติดลบจากผลพวงของการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ในช่วงต้นปี
ดังนั้น คำถามคือ อัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของ GDP ในไตรมาส 2 จะติดลบด้วยหรือไม่ ถ้าดูจากตัวเลขคาดการณ์ GDP ทั้งปีที่ออกมา ผมเชื่อว่าหลายสำนักที่ให้ตัวเลขค่อนข้างต่ำมองว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำสองในไตรมาส 2 นี้ หลังจากที่อัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดลบติดต่อกันถึงสี่ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2562 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งผมจะนับว่าเป็นการถดถอยครั้งแรก
แม้ความไม่แน่นอนจะมีสูงมาก และไตรมาส 2 เพิ่งเริ่มต้น แต่ส่วนตัวผมยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำสอง หลักๆ แล้วการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของ GDP ในไตรมาส 2 ขึ้นอยู่กับแรงชักเย่อระหว่างการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศที่ถูกกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไปตั้งแต่การระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายน กับการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าการระบาดไม่ทวีความรุนแรงกว่าในปัจจุบันอย่างมีนัย ด้วยมาตรการรัฐหลายมาตรการที่ออกมา และความคุ้นชินที่มากขึ้นของประชาชนกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ น่าจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศไม่ลดลงมากนักจากไตรมาส 1 ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศดูเหมือนจะดีวันดีคืนขึ้นทุกวัน โดยรวมแรงส่งจากเศรษฐกิจต่างประเทศจึงน่าจะชนะแรงฉุดจากเศรษฐกิจในประเทศได้
นอกจากนี้ต่อให้ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำสองจริงๆ ถ้าการระบาดไม่ได้รุนแรงขึ้น ไตรมาสที่เหลือของปีน่าจะมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก เพราะการใช้จ่ายในประเทศช่วงไตรมาส 3 คงไม่หดตัวลงไปอีกจากไตรมาส 2
ดังนั้นถ้าถามผม ผมไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับโอกาสในการถดถอย ‘ทางเทคนิค’ ของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2
สิ่งที่ผมห่วงมากกว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 2 คือ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ในบทความ ‘ลุ้นระทึกเศรษฐกิจไทย’ เมื่อตอนต้นปี ผมไม่ได้คาดหวังกับเศรษฐกิจปีนี้เท่าไรนัก ไม่ว่าเศรษฐกิจไทยจะถดถอยซ้ำสองในไตรมาส 2 นี้หรือไม่ ไม่ว่า GDP ปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 1 ร้อยละ 2 หรือร้อยละ 3 ก็ไม่ได้ต่างกันมาก กล่าวคือยังง่อยเปลี้ยเหมือนกัน ที่ผมลุ้นคือตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จากการกลับมาอย่างมีนัยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ถ้าสถานการณ์การระบาดในประเทศเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ การจะหวังให้มีนักท่องเที่ยวมาเมืองไทยเป็นจำนวนมากแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ล่าสุดผมจึงดีใจมากที่รัฐบาลบอกว่า จะมีการสั่งวัคซีนเพิ่มเป็นจำนวนมาก แต่ทางออกของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงโดยเร็วที่สุดด้วย ผมเห็นว่ารัฐบาลควรพิจารณาข้อเสนอของสภาหอการค้าไทยที่ภาคเอกชนเสนอตัวเข้ามามีบทบาทในการกระจายวัคซีน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายวัคซีนได้ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐฯ ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 3 ล้านคน (จากประชากร 330 ล้านคน) ปัจจัยหนึ่งมาจากความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการกระจายวัคซีน (เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐกับเชนร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาทั่วประเทศ https://www.cdc.gov/vaccines/covid-19/retail-pharmacy-program/index.html)
ว่าแล้วก็มาลุ้นเศรษฐกิจไทยกันต่อไป
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย