วันนี้ (22 เมษายน) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สรุปสถานการณ์ประจำวันพบมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 7 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 117 ราย ทำให้เฉพาะการระบาดรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 23 คน จากจำนวนผู้ป่วยสะสม 19,250 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 0.12%
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กางข้อมูลสถิติการเสียชีวิตของการระบาดในประเทศไทยสามระลอก พบว่า การระบาดระลอกแรก (ปี 2563) มีอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดคือ 0.82% โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 67 คน จากผู้ป่วย 6,772 คน
ส่วนการระบาดระลอกสอง (มกราคม-มีนาคม 2564) มีอัตราการเสียชีวิต 0.13% โดยมีผู้เสียชีวิตสะสม 27 คน จากผู้ป่วย 21,035 คน
ส่วนการระบาดรอบล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน 2564 ตัวเลขในตารางของ ศบค. ไม่อัปเดตตามสถานการณ์ เพราะนับถึงแค่วันที่ 21 เมษายน แต่นับจนถึงปัจจุบัน วันที่ 22 เมษายน ที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดวันเดียว 7 คน อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 0.12% ซึ่งหากดูตัวเลขนี้ ศบค. พยายามสื่อสารให้เห็นว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ B117 ที่ระบาดในรอบนี้ไม่ได้รุนแรงหรือดุขึ้น เพียงแต่มันแพร่เชื้อได้เร็วขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากประวัติผู้เสียชีวิตบางรายที่น่าตกใจ เช่น ผู้เสียชีวิตรายที่ 110 อายุเพียง 32 ปี มีโรคประจำตัวคือภูมิแพ้ มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้าเมื่อวันที่ 4 เมษายน ถัดไป 4 วัน 8 เมษายน เริ่มมีอาการไข้ ไอ ต่อมาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์อาการทรุดหนัก ปอดอักเสบรุนแรง และเสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน โดยครอบครัว แจ้งว่า แพทย์ลงความเห็นว่าเนื้อปอดเสียหายอย่างมาก
แม้กระทั่งผู้เสียชีวิตล่าสุดวันนี้ รายที่ 111 เป็นเพศหญิง อายุเพียง 24 ปี เป็นโรคอ้วน ไปสถานบันเทิงที่มีผู้ติดเชื้อ 7 เมษายน ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์เริ่มมีอาการ และไปตรวจหาเชื้อวันที่ 16 เมษายน ถัดไป 3 วันอาการทรุดหนัก และเสียชีวิตในวันที่ 20 เมษายน
นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 เมษายน ว่า “ระลอกนี้เชื้อดุกว่าเดิม จากเคส 200 กว่ารายของระลอกนี้ที่โรงพยาบาล
- ปกติโดยทั่วไปถ้าเป็นเชื้อระลอกแรก 7 วันไปแล้วเชื้อจะน้อยลง แม้ว่าตรวจ PCR บวก แต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น แต่เชื้อของระลอกนี้ 10 วันแล้วยังเพาะเชื้อขึ้นอยู่ แสดงว่าเชื้ออยู่ในร่างกายได้นานขึ้น
- รอบก่อนๆ ไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงเกิดปอดอักเสบ แต่รอบนี้พบมากขึ้นกว่าเดิม
- หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วประมาณหนึ่งสัปดาห์ คนที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจะเริ่มมีอาการให้เห็น แต่รอบนี้เร็วกว่าเดิม ไม่ถึงสัปดาห์ก็เริ่มมีอาการมากขึ้น การอักเสบเกิดขึ้นเร็ว การให้ยาต้านไวรัสกับยาสเตียรอยด์ต้องพร้อม การวินิจฉัยปอดอักเสบต้องทำได้เร็ว
- ปริมาณเชื้อในโพรงจมูกและเสมหะมีมากกว่าเดิม เชื้อกระจายได้ง่าย
- สัปดาห์นี้เป็นต้นไปเราจะเห็นเคสหนักใน ICU มากขึ้น
จากที่เห็นก็น่าจะสอดคล้องกับข้อมูลในประเทศอังกฤษ ที่มีสายพันธุ์ B117 ระบาด พบว่าควรมีวิธีเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ได้แก่ การป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชนด้วยมาตรการต่างๆ รวมถึงการกระจายวัคซีนที่เป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความรุนแรงของโรค”
จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากแพทย์ที่เหมือนจะสวนทางกันเช่นนี้ คงไม่อาจสรุปแบบฟันธงได้ว่าเชื้อโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยตอนนี้รุนแรงหรือดุขึ้นหรือไม่ แต่จากอาการของผู้เสียชีวิตที่พบคนอายุน้อยและอาการทรุดลงเร็วขึ้นกว่าครั้งก่อนหน้า ทำให้ประชาชนผู้ติดตามข่าวสารสับสนและตื่นตระหนกกันไม่มากก็น้อย เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งศึกษาอย่างจริงจังและเจาะลึกมากกว่าแค่จะเอาตัวเลขสถิติมาเปรียบเทียบ เพราะตัวเลขเพียง 1 รายหมายถึง 1 ชีวิตอันมีค่าและเป็นที่รักของคนอีกมาก
ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร