เสียงไวโอลิน แซกโซโฟน เชลโล และเครื่องดนตรีหลากชนิด ที่ช่วยกันบรรเลงตัวโน้ตประสานเสียงกันออกมาเป็นท่วงทำนองที่ลงตัว
“แต่ใจบอกตัวไม่ต้องกลัว เกิดเป็นคนชีวิตต้องสู้” เสียงร้องของนักสู้หลายสิบชีวิตประสานกันดังกระหึ่ม
หนุ่มใหญ่สวมหมวกเบเรต์สีเบจอ่อนๆ เดินผ่านกลุ่มนักร้องและนักดนตรี มองดูภาพรวมทั้งหมดด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนเดินหายไปเงียบๆ
เรารู้สึกขนลุกและอินตามไปด้วยอย่างบอกไม่ถูก กับบรรยากาศในวันที่ คุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์ (ชาร์ค) เดินทางมาดูแลการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอเพลง ‘สู้ต่อไป’ ในเวอร์ชันใหม่ปี 2564 พาตัวเองออกจากคิวที่ยุ่งเหยิงในช่วงสายๆ ของวันนั้นมาพูดคุยกับ THE STANDARD ถึงโปรเจกต์ใหม่ในการนำเอาเพลง ‘สู้ต่อไป’ ที่ตนเองเคยแต่งและร้องไว้คราววิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2535 และเคยจัดส่งทั้งแบบเทปคาสเซตต์และแผ่นซีดีให้คนเอาไปฟังฟรีๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อให้กำลังใจคนไทยในเวลานั้น มาทำ MV เวอร์ชันใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยโควิด-19
จากปี 2535 สู่ 2564 เพลง ‘สู้ต่อไป’ ของคุณรัตน์ เดินทางข้ามเวลากลับมาทำหน้าที่เป็นกำลังใจให้คนไทยอีกครั้ง เพื่อให้กำลังใจให้คนไทยสู้ต่อไป Keep Fighting
บอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ก่อนหน้าจะแต่งเพลงนี้เมื่อปี 2535 ผมไม่เคยแต่งเพลงเป็นเรื่องเป็นราว นี่คือชิ้นแรกเลย ที่แต่งออกมาแล้วพอจะเทียบกับมืออาชีพเขาได้ ถามว่าผมแต่งเนื้อหาออกมาได้อย่างไร ยากไหม ใช้เวลานานไหม ผมรู้แค่ว่าได้ฟังทำนองแล้วเขียนเนื้อออกมาเป็นแบบนี้ มันเป็นไปตามความรู้สึกในตอนนั้นมากกว่า
เพลง ‘สู้ต่อไป’ เคยให้กำลังใจคนไทยหลายคนๆ ในยุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาครั้งหนึ่งแล้ว เพียงแต่ว่าวิกฤตครั้งนั้นมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจล้วนๆ และเกี่ยวกับปากท้องของคนหลายๆ คน แต่ไม่ใช่ของทุกคน แต่วิกฤตโควิด-19 คราวนี้กระทบทุกคนถ้วนหน้า ถึงแม้หลายๆ คนจะไม่กระทบเรื่องปากท้อง เรื่องรายได้ แต่ก็ยังกระทบในการใช้ชีวิต การดำเนินชีวิต ทุกอย่างเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ผมจึงเชื่อว่าเพลงนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นกำลังใจต่อใครๆ หลายๆ คนเหมือนในอดีต ให้สู้ต่อไปในสถานการณ์ปัจจุบันได้เช่นเดียวกัน
สองเรื่องราว หนึ่งความหมาย เรื่องเล่าของเหล่านักสู้ในโลกแห่งความเป็นจริง
เวอร์ชันใหม่นี้ ผมตั้งใจทำออกมาเป็น 2 แบบ แบ่งเป็น 2 เนื้อหา สำหรับเรื่องแรก นำคนที่ประสบวิกฤตครั้งนี้ทั้งหมด 3 คน เข้ามาเป็นตัวแสดงหลักในเรื่องเลย แล้วเล่าเรื่องราวว่าเมื่อก่อนพวกเขาเคยทำอะไร แล้วพอเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เขาเกิดปัญหาอะไร เกิดวิกฤตอะไร แล้วต้องผันมาหาอาชีพอะไรทำ เพื่อที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองและครอบครัว
ส่วนเรื่องที่สอง ผมอยากให้คนที่ได้เห็นมิวสิกวิดีโอทั้งหมดรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่ใช่เป็นแค่เรื่องราวของคนไม่กี่คน แต่เป็นเพลงสำหรับทุกๆ คน ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ เอาเพลงนี้ไปฟัง ไปร้อง จะสามารถเป็นกำลังใจให้ได้ เลยเป็นเหมือนการรวมตัวของเหล่านักสู้หลายๆ คน มาร่วมร้องร่วมประสานเสียงกันกับวงดนตรีเฉพาะกิจของเหล่านักสู้
“แต่ใจบอกตัวไม่ต้องกลัว เกิดเป็นคนชีวิตต้องสู้” ผมชอบประโยคนี้ในเพลงที่สุด เพราะผมมีความรู้สึกว่าคนเรา เวลาเหนื่อย ท้อแท้ ก็อยากมีใครให้กำลังใจ ถ้าเกิดมีคนรู้ใจ คนใกล้ตัวคอยอยู่เคียงข้างอย่างนี้ เพื่อนหรือครอบครัวก็จะคอยให้กำลังใจเราได้ เพียงแต่ในชีวิตจริงหลายๆ คน เวลาตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤต ก็ไม่ได้มีคนมาอยู่ข้างๆ ตลอดเวลา หลายๆ ครั้งต้องอยู่คนเดียว ฉะนั้น ใจของตัวเองนี่ล่ะ ต้องบอกตัวเองว่าอย่าไปกลัว อย่ายอมแพ้ อย่าท้อถอย”
สู้ต่อไปในแบบฉบับของคุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์
ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ในแง่บวก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมจะไม่มองในแง่ลบเด็ดขาด แล้วผมคิดว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไร ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาก่อนก็ตาม แต่เราต้องมองปัญหาตรงหน้าให้ชัดเจน แล้วหาทางออก หาทางแก้ แล้วลงมือสู้กับมันให้เต็มที่
ผมคิดว่าวิกฤตครั้งนี้ช่วยให้เราตาสว่าง และจำเป็นต้องตัดสิ่งหลอกๆ ในชีวิตออกไปเยอะมาก เช่น แทนที่จะออกไปเที่ยวเสเพลนอกบ้าน กลางคืนไปเที่ยวผับ ไปกินเหล้า เฮฮากับเพื่อนฝูง เสาร์-อาทิตย์ไปห้างสรรพสินค้า ไปซื้อข้าวซื้อของ ถ้าเรามองและคิดดีๆ เรื่องพวกนี้ไร้สาระหมดเลย ไม่เคยใช้ชีวิตที่มีคุณภาพกับคนที่เรารัก ใช้เวลากับครอบครัว คราวนี้จึงเป็นโอกาสแล้วที่เราจะได้หยุดและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้มีโอกาสใช้ชีวิตกับคนที่เรารัก กลับมาอยู่ในชีวิตที่แท้จริง แล้วสู้กับสิ่งที่เราจำเป็นจริงๆ ในการที่จะต้องดำเนินชีวิต ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เลย
เรายังคงได้ยินเสียงแว่วจากวงดนตรีที่บรรเลงเพลงในระหว่างการถ่ายทำต่อไป พลันหวนกลับมานึกถึงคำพูดของคุณรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ที่ว่าเนื้อเพลงนี้มันถูกเขียนออกมาจากความรู้สึกอยากให้กำลังใจคนไทย ให้ลุกขึ้นสู้ต่อไป เรามานั่งคิดตามแล้วก็รู้สึกว่า เราได้คำตอบในใจแล้วว่าเราต้องสู้ต่อไป แล้วคุณล่ะ พร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้แล้วหรือยัง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล